31 ก.ค. 2019 เวลา 12:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
* หมึกที่ทำมาจากฝุ่น PM2.5
TED talk : Ink made of air pollution-Anirudh Sharma >>
"ทุกๆปี ประชากรทั่วโลกราว 4–5 ล้านคนมีสาเหตุการตายมาจากมลภาวะทางอากาศ และสิ่งที่คุณกำลังเห็นในจานแก้วนี้คือฝุ่นควันที่เก็บได้จากเตาเผาพลาสติกโดยใช้เวลาแค่ 20 นาที"
"นี่คือ PM 2.5"
"แน่นอนว่าฝุ่นพวกนี้เวลามันลอยตัวอยู่ในอากาศเราจะไม่มีทางมองเห็น ด้วยขนาดที่เล็กมากจนร่างกายไม่สามารถดักจับได้ สุดท้ายจึงเข้ามาสะสมในร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ และอาจจะตามมาด้วยมะเร็งปอดถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา"
ย้อนไปปี 2012 ตอนที่ Anirudh Sharma ยังเรียนอยู่ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เขากลับไปเยี่ยมบ้านที่อินเดีย แล้วบังเอิญถ่ายรูปนี้ไว้
รูปนี้ติดอยู่ในหัวของเขาตลอดเวลา จากรูป ทางด้านซ้ายคือท่อของเครื่องยนต์ดีเซล ทางด้านขวาคือรอยบนกำแพงสีดำบนที่เกิดจากการพ่นเขม่าควันของเครื่องยนต์
หลังจากคิดกลับไปกลับมา เขาพบว่ารอยสีดำบนกำแพงนั้นเหมือนภาพที่เกิดจากการเพนท์ไม่มีผิด จึงได้ไอเดียว่าระหว่างฝุ่นควันกับน้ำหมึกสีดำน่าจะมีอะไรที่สามารถไปด้วยกันได้ เพราะความจริงแล้วหมึกสีดำส่วนใหญ่ในสมัยก่อนผลิตมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วถ้าเราลองนึกดูให้ดี ทุกวันนี้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นพวกน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติล้วนถูกเผาไหม้อยู่แทบตลอดเวลาโดยรถยนต์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ของพวกเรา
1
"ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหม ถ้าผมจะเก็บมลพิษทางอากาศเหล่านั้นมาทำน้ำหมึก?"
เมื่อกลับมาที่บอสตัน Anirudh ได้เริ่มการทดลองเล็กๆขึ้นจากเครื่องมือเท่าที่หาได้ เนื่องจากที่บอสตันไม่มีมลพิษมากนัก เขาจึงใช้ควันจากการจุดเทียนไขแทน กลุ่มควันจากเปลวเทียนที่ลอยขึ้นมาจะถูกดูดเข้าไปโดยเครื่องดูดควัน ผสมเข้ากับน้ำมันพืชและว๊อดก้า
"คุณก็รู้ว่าพวก DIY แบบขี้เกียจคือทำอะไรก็ได้ที่ง่ายๆไว้ก่อนน่ะ"
เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้ว จะได้ของเหลวข้นสีดำลักษณะคล้ายน้ำหมึกพอนำไปใส่ตลับหมึกก็พบว่าสามารถใช้แทนหมึก พิมพ์งานได้จริงๆ
"นี่เป็นการทดลองครั้งแรกที่เปิดโลกให้กับหมึกจากฝุ่นพิษของผม หลังจากเรียนจบ ผมกลับมาทำงานที่อินเดียและได้ทำวิจัยเรื่องนี้ต่อ ผมอยากให้ทุกคนดูรูปถ่าย นี่คือห้องแล็บของผมในสภาพปกติ"
"แต่คุณก็รู้ว่าบางทีการทดลองอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น"
"พวกห้องแล็บใกล้ๆรวมถึงคนที่เดินผ่านไปมาต่างพากันสงสัยว่าผมกำลังพยายามผลิตระเบิดอยู่หรือเปล่า​ เพราะการทดลองของผมมีทั้งไฟ ทั้งสายระโยงระยางและควันมากมายในคราวเดียวกัน"
Anirudh ตัดสินใจย้ายการทดลองจากในห้องแล็บมาที่โรงรถและได้ประดิษฐ์ที่เก็บควันต้นแบบขึ้น ซึ่งเป็นการเก็บเขม่าควันที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์เวลานำรถไปขับในเมือง
หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง เขาพัฒนาให้ที่เก็บฝุ่นควันสามารถเก็บจากเครื่องยนต์ดีเซลที่ตั้งอยู่เฉยๆได้
"ผมติดตั้งเครื่องดักฝุ่นไว้ด้านล่างเครื่องยนต์ ทันทีที่เปิดเครื่องจะเห็นว่าควันถูกดูดหายไปทันที ซึ่งเขม่าควันเหล่านั้นจะถูกดักจับรวมกันไว้ที่ด้านล่างของตัวเครื่องโดยไม่กระทบการทำงานของเครื่องยนต์แม้แต่น้อย จากการประเมินพบว่าเครื่องดักฝุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการดักจับมากถึง 95% ของฝุ่นเขม่าควันที่ถูกปล่อยออกมา"
หลังจากงานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ออกไปมีบริษัทยักษ์ใหญ่ แบรนด์เนมชั้นนำ ให้ความสนใจและติดต่อมามากมาย นอกจากสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ ยังต้องการทำแคมเปญใหญ่เกี่ยวกับงานศิลปะ โดยส่งน้ำหมึกที่ทำจากมลภาวะทางอากาศเหล่านี้ให้กับศิลปินชื่อดังทั่วโลกเพื่อให้สร้างสรรค์ผลงานออกมา
Anirudh จึงผลิตปากกาที่ใช้น้ำหมึกจากฝุ่น PM2.5 ขึ้น ให้ชื่อแบรนด์ว่า ‘AIR INK’
wccftech.com
Graviky Labs
"หลังจากนั้นไม่นาน เริ่มมีผลงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์จากการใช้หมึกนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เชื่อผมเถอะ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือนักประดิษฐ์ ไม่มีอะไรที่ทำให้ภูมิใจมากไปกว่างานของเขาได้รับการยอมรับจากศิลปินทั่วโลกอีกแล้ว"
Graviky Labs
thedrum.com
adventure.com
Anirudh ยังกล่าวต่ออีกว่าเขาจะไม่หยุดและพัฒนาให้ AIR INK มีคุณภาพที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายสูงสุดคือสามารถใช้ AIR INK แทนหมึกสีดำทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้
"จากงานวิจัยชิ้นนี้ ผมไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าผมกำลังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ เพราะมันอาจเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น แต่ผมจะสื่อว่า ผมอยากให้คุณมองปัญหาจากมุมมองที่ต่างออกไป ใครจะคิดว่าหมึกดำในปากกา AIR INK นี้ถูกทำมาจาก PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นชนิดเดียวกันกับที่เราหายใจเข้าไปและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายตามมานั่นเอง"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา