4 ส.ค. 2019 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
* เมื่อต้องเติบโตมาภายใต้นโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ ที่ประเทศจีน
Ted talk : What it was like to grow up under China's one-child policy-Nanfu Wang >>
”สวัสดีค่ะ ฉันชื่อ Nanfu”
“Nan ที่แปลว่า ผู้ชาย และ fu ที่แปลว่าเสาหลัก พ่อกับแม่มีความหวังว่าฉันจะเป็นเด็กผู้ชายที่โตขึ้นมาเป็นเสาหลักของบ้าน แต่เมื่อปรากฏว่าฉันเป็นเด็กผู้หญิง พวกเขาก็ยังตั้งชื่อฉันว่า Nanfu อยู่ดี”
Nanfu เกิดปี 1985 หกปีก่อนที่ประเทศจีนจะประกาศนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ หลังจากเธอเกิด ก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาที่บ้านและสั่งให้แม่ของเธอทำหมัน แต่คุณตาไม่ยอมเพราะอยากได้หลานชายไว้สืบสกุล ทำทุกวิถีทางจนในที่สุดครอบครัวของเธอก็ได้รับอนุญาตให้มีลูกอีกคนแต่ต้องรอไปอีก 5 ปี และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกปี
การเติบโตมาโดยแวดล้อมไปด้วยเพื่อนๆที่ต่างก็เป็นลูกคนเดียว ทำให้เธอรู้สึกอับอายที่มีน้องชาย เหมือนว่าครอบครัวของเธอทำความผิดร้ายแรง แต่ตอนนั้นเธอยังเด็กเกินกว่าจะตั้งคำถามว่าความรู้สึกอายและความรู้สึกผิดเหล่านี้มาจากไหน
”ราวๆสองปีที่แล้ว ฉันให้กำเนิดลูกน้อยคนหนึ่ง นับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน แต่การเป็นแม่คนกระตุ้นให้ความทรงจำวัยเด็กย้อนกลับมา”
ถึงแม้ว่านโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015 แต่ว่าเรื่องราวภายในประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาเหล่านั้นยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก Nanfu ที่ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนด้านภาพยนตร์อยู่ที่ New York University จึงคิดจะทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่เรื่องราวให้คนทั่วไปได้รู้ความจริง
หนึ่งในคนที่เธอสัมภาษณ์ก็คือหมอทำคลอดประจำหมู่บ้านอายุ 84 ปี เป็นคนทำคลอดให้เด็กทุกคนในหมู่บ้านรวมถึงเธอด้วย
Nanfu ถามคุณยายว่า “ยายพอจะจำได้ไหมว่าทำคลอดเด็กมาแล้วประมาณกี่คนตั้งแต่ประกอบอาชีพนี้มา” คุณยายไม่ได้ตอบคำถามนี้ของเธอ แต่พูดออกมาว่า--
‘ตั้งแต่มีนโยบายลูกคนเดียว ฉันทำแท้งเด็กมาแล้วราวๆ 60,000 คน บางครั้งเด็กรอดออกมา แต่ฉันก็ต้องฆ่าเขาทันทีหลังจากที่ทำคลอดเสร็จ ฉันจำได้ไม่เคยลืมเลยว่ามือฉันสั่นขนาดไหนตอนที่ทำแบบนั้น’
เรื่องเล่าของคุณยายทำให้ Nanfu ตกใจมาก ตอนที่เธอคิดว่าจะทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอไม่ได้คาดหวังเรื่องราวแบบนี้เลย เธอคิดว่ามันจะเป็นแค่ภาพยนตร์สารคดีธรรมดาที่กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น
ระหว่างสัมภาษณ์เธอสังเกตเห็นธงทำด้วยมือแขวนอยู่เต็มผนังด้านหนึ่ง บนธงมีรูปของเด็กแปะไว้ คุณยายบอกว่าธงเหล่านี้ถูกส่งมาจากบรรดาครอบครัวที่คุณยายช่วยให้พวกเขามีลูก
หลังจากที่ต้องทำคลอดสลับกับทำแท้งมาหลายปี ในที่สุดคุณยายก็เลิกอาชีพนี้เพราะทนรู้สึกผิดต่อไปไม่ไหว จึงหันมาให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตร เพียงหวังว่ามันจะช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดในหัวใจที่คุณยายมีตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้
”จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ทำให้ฉันเห็นชัดเลยว่า คุณยายก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายนี้เช่นกัน คุณยายได้รับการบอกกล่าวมาตลอดว่าสิ่งที่เธอทำนั้นถูกต้องแล้ว สมควรแล้ว ทั้งหมดเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ”
“ฉันรู้ว่าข้อความเหล่านี้มีผลต่อจิตใจมากเพียงไร การประชาสัมพันธ์มีอยู่ทุกที่ ถูกพิมพ์ลงข้างกล่องไม้ขีด การ์ดเกม หนังสือเรียน โปสเตอร์หนัง ทุกสื่อโฆษณาเต็มไปด้วยข้อความรณรงค์ให้มีลูกคนเดียว”
”ถ้าใครไม่ยอมทำหมันหลังจากมีลูกคนแรกจะถูกจับเข้าคุก และนั่นคือสาเหตุทำให้ที่ฉันรู้สึกผิดและอับอายที่มีน้องชาย”
ในภาพยนตร์สารคดีของ Nanfu ยังได้สัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้อีกหลายคน ทั้งหมดล้วนได้รับอิทธิพลจากการรณรงค์ การประสัมพันธ์ของรัฐบาล ทุกคนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่สมควร ยอมสละความสุขของตัวเองด้วยความเต็มใจ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงมันคือเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความดำมืดและความโหดร้ายดีๆนี่เอง
ประเทศจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ข้อความชวนเชื่อเข้ามามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการตัดสินใจของผู้คน ยิ่งในประเทศที่สื่อมีอิสระเสรีในการสื่อสารก็ยิ่งแยกยากว่าสิ่งไหนคือเรื่องจริงสิ่งไหนคือเรื่องหลอกลวง
“ข้อความพวกนี้แฝงตัวมากับโฆษณาทีวี รายงานข่าว แคมเปญรณรงค์ทางการเมือง กำลังกล่อมเกลาจิตใจของเราอย่างไม่รู้ตัว สำหรับสังคมที่มีคุณภาพ สื่อควรรายงานทุกอย่างด้วยความจริง และไม่ควรมีสังคมไหนที่ปล่อยให้ข้อความชวนเชื่อมาแทนที่ความจริงได้ ฉันแค่อยากให้เราทุกคนได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เราพึงมีก็เท่านั้นเอง”
ล่าสุดภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘One Child Nation’ ของ Nanfu ได้รับรางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์หนังนอกกระแสที่ดังที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Sundance Film Festival 2019 อีกด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา