7 ส.ค. 2019 เวลา 12:13 • การศึกษา
“ถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างนำเทคโนโลยีมาแทนที่และไม่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ได้ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ?”
Cr. pixabay
ปัจจุบัน กระแสธุรกิจหรืออาชีพที่เคยมีอยู่เดิมถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเป็นที่หวาดกลัวของบรรดาเจ้าของธุรกิจ และพนักงานที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจนั้น
ใครที่รู้ตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็ว ก็จะสามารถเอาตัวรอด ผ่านวิกฤติการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีนี้ไปได้
ส่วนใครที่รู้ตัวช้าหรือยังคงดึงดันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง รวมไปถึงงานที่ทำ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมา
ซึ่งเราเองก็เห็นตัวอย่างมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เลิกไป รวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานหลายพันคนในบริษัทยักษ์ใหญ่
Cr. pixabay
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้าง การที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้เตรียมใจเป็นอะไรที่เจ็บปวด
แม้นายจ้างจะให้ค่าชดเชยตามกฎหมายแต่ก็คงไม่สามารถเยียวยาความรู้สึกที่เสียไป รวมถึงภาระที่ลูกจ้างแต่ละคนมีอยู่ได้
แวะมาข้อกฎหมายก่อนครับ...
ในฐานะลูกจ้าง เราจะต้องรู้สิทธิของเราเมื่อถูกเลิกจ้างก่อนว่าสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง
โดยปกติเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุการทำงาน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
และหากลูกจ้างเห็นว่า การถูกเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมกับตน ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาล แรงงานฯ ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากนายจ้างได้
ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าชดเชย และเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน
สรุปก็คือ การถูกเลิกจ้าง แม้นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างครบถ้วนแล้วก็ตาม กฎหมายก็ยังให้สิทธิลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายต่อนายจ้างได้ หากลูกจ้างเห็นว่าการถูกเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม
Cr. pixabay
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้แก่อะไรบ้าง?
เรื่องนี้ ศาลฎีกาก็ได้วางบรรทัดฐานไว้หลายเรื่อง ซึ่งที่เจอบ่อย ๆ ก็เช่น
นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ, เลิกจ้างโดยไม่มีความผิด, เลิกจ้างจากสาเหตุอื่นนอกสัญญาจ้าง, เลิกจ้างอันเป็นการลงโทษข้ามขั้นตอน, เลิกจ้างโดยอ้างว่าลูกจ้างทำความผิดแต่ไม่มีหลักฐาน
ซึ่งหากศาลเห็นว่า การกระทำของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลก็อาจจะมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรืออาจจะให้นายจ้างใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้...
โดยคำนวณจากอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา
กลับมาเรื่องคดีในวันนี้...
คดีนี้น่าสนใจตรงที่ นายจ้างย้ายสถานประกอบการใหม่ เป็นอาคารซึ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้
Cr. pixabay
ทำให้แผนกที่ลูกจ้าง (โจทก์ที่ 1 – 3) เคยทำต้องยุบลงและถูกเลิกจ้างในที่สุด ลูกจ้างจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงาน
"โจทก์ที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานด้านทรัพย์สิน ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำงานตำแหน่งช่างประจำอาคารและตำแหน่งช่างทั่วไป
ต่อมาจำเลยผู้เป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมายังอาคารสมัยใหม่ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยมีบริษัท CCC ผู้ให้จำเลยเช่าเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินส่วนกลางที่เป็นโครงสร้างและส่วนสื่อบริการ
Cr. pixabay
จำเลยคงรับผิดชอบดูแลอาคารส่วนที่จำเลยเช่าอันไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโทรศัพท์ เข้ามาให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายในอาคารที่จำเลยเช่า
ต่อมา บริษัท AAA ได้ขายอาคารสำนักงานเดิมของจำเลยให้แก่บุคคลภายนอก จำเลยจึงไม่มีแผนกงานของจำเลยในอาคารสำนักงานเดิม และไม่มีงานด้านช่างและการดูแลอาคารสถานที่ให้โจทก์ทั้งสามทำอีกต่อไป
อีกทั้งโจทก์ทั้งสามก็ไม่มีคุณสมบัติและความสามารถที่จะทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงในอาคารที่ทำการใหม่ของจำเลย
Cr. pixabay
และไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามมีคุณสมบัติที่ดีกว่าพนักงานซึ่งทำงานประจำในแผนกอื่นของจำเลยที่จะย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานแทนพนักงานเหล่านั้นได้
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากไม่มีงานที่เหมาะสมให้โจทก์ทั้งสามทำดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่
678 – 680/2548)
📌 ขอให้สังเกตว่าการให้เหตุผลของศาลที่ตัดสินว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรม อาจเป็นเพราะศาลท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า...
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสามารถของลูกจ้างด้วยเช่นกันที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและงานด้านอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้ หากลูกจ้างมีความสามารถเพียงพอ ผลการพิจารณาก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา