22 ส.ค. 2019 เวลา 10:17 • การศึกษา
“ลูกจ้างเข้าไปช่วยงานของฝ่ายบัญชีเนื่องจากทำงานล่าช้า ทำให้รู้รหัสผ่าน โดยนายจ้างก็รับทราบ เป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือไม่ ?”
*หมายเหตุ หลังจากได้รู้ว่าทาง Blockdit สามารถพิมพ์บทความผ่านทาง web browser ได้แล้ว แอดมินเลยไม่รอช้า ต้องลองของทันที เพราะอยากรู้ว่าการเขียนข้อความใน web จะลื่นปรื๊ดขนาดไหน จะเหมือนกับเขียนผ่านแอปฯ มั้ย เดี๋ยวลงแล้วเรามาดูผลกันครับ
Cr. pixabay
สำหรับการทำงานในองค์กร แม้บางครั้งคนที่เป็นลูกจ้างจะไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ในส่วนงานนั้นโดยตรง แต่ด้วยความมีน้ำใจหรือถูกมอบหมายจากผู้มีอำนาจ อาจทำให้ต้องเข้าไปช่วยเหลืองานของส่วนงานอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง
ทีนี้ ด้วยความที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือหน่วยงานอื่น และเพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไป อาจทำให้ต้องไปรับรู้สิ่งที่หน่วยงานนั้น เก็บรักษาไว้เป็นความลับเฉพาะส่วนงานนั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น รหัสผ่านเข้าข้อมูลของแต่ละฝ่าย ซึ่งหากงานนั้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดีก็คงไม่มีปัญหาอะไร
แต่หากงานนั้นเกิดปัญหาขึ้นมา หรือมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้ลูกจ้างจะไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบงานในส่วนนั้นโดยตรง แต่เมื่อได้เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ก็อาจจะตกกระไดพลอยโจนมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ต้องเสียเวลาหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวเองกันยกใหญ่
ซึ่งหากลูกจ้างคนดังกล่าวสามารถพิสูจน์ตัวเองให้พ้นข้อกล่าวหาได้ก็รอดตัวไป แต่ถ้าไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ คราวนี้แหละที่อาจซวยของจริง ยิ่งถ้าเรื่องดังกล่าวดันไปข้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายจ้างด้วยล่ะก็ นอกจากจะถูกเลิกจ้างแบบงง ๆ แล้ว ดีไม่ดีอาจถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญาก็ได้
ลองมาดูตัวอย่างเรื่องนี้กันครับ
ปรีชาเป็นลูกจ้างในบริษัทแห่งหนึ่ง มีตำแหน่งธุรการและจัดซื้อ สังกัดฝ่ายบัญชี แต่ถึงแม้จะอยู่ในฝ่ายบัญชี แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ของปรีชาแล้วก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการทำบัญชีหรือการควบคุมเงินของบริษัทแต่อย่างใด
Cr. pixabay
ปรีชาเป็นคนขยัน ชอบช่วยเหลือผู้คนในฝ่ายอยู่เสมอ จึงเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน ๆ ในบริษัท และผู้บริหาร
เมื่อมาถึงช่วงใกล้ปิดงบของบริษัท ทุกคนในฝ่ายบัญชีมักจะมีงานยุ่งอยู่เสมอ ปรีชาจึงอาสาเข้าไปช่วยเหลืองานบัญชีซึ่งก็ได้รับความไว้วางใจของคนในฝ่าย
เนื่องจากลักษณะงานของฝ่ายบัญชีซึ่งจะต้องควบคุมงบประมาณและเงินของบริษัท ทำให้การเข้าสู่ข้อมูลของฝ่ายบัญชีจะต้องใส่รหัสผ่านในคอมพิวเตอร์ทุกครั้ง ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการทำงานทำให้ปรีชาได้รับทราบรหัสดังกล่าว ซึ่งผู้บริหารก็ทราบเรื่องและยังเพิ่มเงินในการทำงานให้กับปรีชาอีกด้วย
แต่จนแล้วจนรอดก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ มีเงินหายไปจากบัญชีของบริษัท จำนวน 1,695,143.34 บาท ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีพนักงานฝ่ายบัญชี 2 คน และนายปรีชาถูกไล่ออกจากบริษัท และถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์
Cr. pixabay
ในคดีอาญา พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายปรีชาและพนักงานอีก 2 คน เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ นายปรีชาจึงได้มาฟ้องต่อศาลแรงงาน เพราะเห็นว่าตนถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและขอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เบี้ยเลี้ย ค่าน้ำมันรถ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฯลฯ พร้อมดอกเบี้ย
ซึ่งศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรนั้น เราไปดูกันครับ
“ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ทำงานอยู่ฝ่ายบัญชี เนื่องจากงานฝ่ายบัญชีล่าช้าและทำไม่ทัน เมื่อโจทก์เข้าไปช่วยจึงทำให้โจทก์ทราบรหัสของฝ่ายบัญชีเพื่อทำงานได้สะดวกขึ้น โดยฝ่ายบริหารของจำเลยก็ทราบเรื่องและยังเพิ่มเงินทำงานให้โจทก์ด้วย ถือว่าจำเลยยอมรับให้โจทก์ทำงานโดยใช้รหัสผ่านของฝ่ายบัญชีเพื่อความสำเร็จลุล่วงในการทำงาน
การที่โจทก์นำเอารหัสผ่านของฝ่ายบัญชีมาใช้ในการทำงานของโจทก์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ไม่เป็นทุจริตต่อหน้าที่ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 71,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย”
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1774/2560)
📌 สรุป เรื่องนี้ศาลแรงงานมองว่าการที่ลูกจ้างเข้าช่วยเหลืองานของแผนกอื่น โดยผู้บริหารของนายจ้างก็รับรู้และยินยอมด้วยการเพิ่มเงินทำงานให้ ย่อมถือว่านายจ้างรับรู้และยินยอมแล้ว การที่ลูกจ้างรู้รหัสสำหรับเข้าทำงานก็เพื่อความสำเร็จลุล่วงในการทำงาน ไม่เป็นการขัดต่อระเบียบของนายจ้าง
ส่วนเรื่องที่ลูกจ้างได้ยักยอกเงินไปจริงหรือไม่นั้น เมื่อพยานหลักฐานไม่ชัดเจนพอและศาลอาญาก็ได้ยกฟ้องแล้ว จึงต้องถือว่าลูกจ้างไม่มีความผิด และไม่เป็นการขัดต่อระเบียบหรือทุจริตต่อนายจ้างที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา