7 ก.ย. 2019 เวลา 01:00 • การศึกษา
เล่าเรื่อง Frugal innovation นวัตกรรมมัธยัสถ์หรือนวัตกรรมประหยัด ที่พัฒนาโดยคนไทย
Credit: https://yourstory.com/2015/04/frugal-innovation
ในการทำการตลาดไม่สามารถแยกออกจากนวัตรกรรมได้เลย ต้องจูงมือเดินเคียงคู่กันไปตลอดจึงจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เพราะนวัตรกรรมก็ต้องใช้การตลาดเขาช่วยเช่นเดียวกัน เพราะหากพัฒนาแล้วไม่ตอบโจทย์ตลาดหรือไม่รู้ช่องทางการสร้างประโยชน์ก็ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้อยู่ดี
ยุคใหม่การตลาดของไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนา “งานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงานและกิจกรรมเครือข่ายนวัตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นโดยแผนกการมาตรฐาน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ในวันพฤหัสบดี ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นทั้งโชคทั้งโอกาสที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันใน Blockdit สังคมแห่งการเรียนรู้
ช่วงแรกที่เปิดงานก็ไม่ได้ฟังเท่าไรนักเพราะเป็นเนื้อหาแบบทางการและช่วงนั้นกำลังพูดคุยเรื่องที่อาจารย์ท่านหนึ่งเชิญ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ไปบรรยายให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งด้วย สมาธิเลยไม่มีกับกิจกรรมหน้าเวทีนัก แต่จู่ๆก็มีการนำเสนอเรื่อง Frugal Innovation ขึ้นมา แล้วเนื้อหาก็ดึงสมาธิของ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” เข้าไปยังเวทีทันทีเพราะเนื้อหาเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากต่อคนทั้งโลก
ยิ่งได้ฟังเนื้อหาแล้วรู้ได้เลยว่าโลกเราต้องการสิ่งนี้ และสิ่งนี้เองทำให้ใครก็ได้ที่มีวิธีคิดที่แก้ปัญหาให้โลกนี้ได้สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมากมาย ทำให้กำแพงหรืออุปสรรคที่เคยมีทะลายลงไป ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กในมุมมองของใครมาก่อนก็ตามที แต่เป็นเรื่องที่มีคนบางกลุ่มหรือคนส่วนใหญ่ต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยมีปากมีเสียงมาก่อน ใครพัฒนาอะไรมาให้ใช้ก็ต้องใช้
ก่อนที่จะเล่าเรื่องที่ Frugal Innovation จะสร้างประโยชน์ให้โลกอย่างไร “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ได้ไปค้นหาความหมายของคำนี้มาจาก Wikipedia.org ที่ให้ความหมายของคำว่า Frugal innovation or frugal engineering หรือ นวัตกรรมมัธยัสถ์ หรือวิศวกรรมมัธยัสถ์ ว่า เป็นกระบวนการของการลดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายของสินค้าและการผลิต โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการเอาคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นออกไปคงไว้เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ และนำเสนอในสิ่งที่ผู้บริโภคมองข้ามหรือความต้องการแฝง (Unmet Need)
Frugal Innovation หรือ นวัตกรรมมัธยัสถ์ จัดออกได้เป็น 4 ประเภท คือ*
1. Lean tools and techniques คือ การใช้การลดขั้นตอนความยุ่งยากลงไป
2. Opportunist solution เป็นการมองหาโอกาสในการแก้ปัญหา
3. Contextualized adaptations คือการปรับปรุงไปตามสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
4. Bottom - up innovation คือ นวัตรกรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
*ที่มา: อะไร อะไร ... คือ Frugal Innovation By Dr.Aui EasyInnovation
ในวันนี้มี 2 นวัตรกรรมที่เป็นข้อมูลที่ทั้งน่าสนใจทั้งทึ่งในแนวความคิดของคนที่พัฒนา มาแบ่งปันดังนี้
เรื่องแรก คือ การออกแบบชุดว่ายน้ำสำหรับเด็ก ทั้งของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่สิ่งที่ผู้ออกแบบมองเห็นและเข้าใจผู้ปกครองของเด็กเป็นอย่างดี ว่าสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือความปลอดภัยของเด็ก เขาจึงได้พัฒนาอุปกรณ์แจ้งเตือนเด็กจมน้ำให้ติดมากับชุดว่ายน้ำ โดยเชื่อมโยงกับ Application ที่จะระบุจุดเสี่ยงหากเด็กๆลงไปเล่นน้ำบริเวณนั้น โดยจะทำการเตือนในทันที เพราะบางครั้งคนดูแลสระอาจจะไม่ได้สังเกตหรือเป็นช่วงที่เขาต้องทำกิจกรรมอื่นทำให้ละสายตาไปจากสระในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นนาทีเป็นนาทีตายของเด็กก็เป็นได้ สิ่งนี้จึงเข้ามาแก้ปัญหาความกังวลของผู้ปกครองได้ และที่สำคัญการออกแบบก็ไม่ได้ใช้ต้นทุนที่สูงมากในการทำโครงการ (Project) นี้ เป็นการลงทุนเพียงไม่กี่หมื่นบาท
เรื่องต่อมา คือ การแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้นให้เป็นเด็กปกติและทำให้ลดปัญหาที่เกิดจากสมาธิสั้น อาทิ ซน ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ เรียนรู้ช้า ความจำไม่ดี ก้าวร้าว วู่วาม ใจร้อน ชอบพูดแทรก เป็นต้น (เริ่มสงสัยแล้วสิว่าคงไม่ใช่เฉพาะเด็กอย่างเดียวแล้ว) ผู้พัฒนาออกแบบ Application ที่ให้ผู้ปกครองได้ฝึกเด็กให้มองที่หน้าจอมือถือ เพื่อให้สบตากับผู้ปกครอง ยิ่งสบตานานขึ้นอาการของโรคนี้ก็จะค่อยๆหายไป นี่เป็นการแก้ปัญหาที่คนที่มีปัญหาก็ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำไป หรืออาจจะผลักภาระการแก้ปัญหาไปให้หมอแทน
ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่น่าภูมิในมากเพราะพัฒนาโดยคนไทย ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่มีได้อย่างแท้จริง และ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” ก็เชื่อมั่นว่ามีคนไทยอีกมากมายที่มีแนวความคิดดีๆที่เป็นประโยชน์แต่ไม่รู้ว่าจะทำมันออกมาอย่างไร นี่ก็เป็นอีกทางที่สามารถนำไปต่อยอดได้
ในอดีตเคยมีคนถามว่าเครื่องคิดเลขแบบที่มีปุ่มสูตรคณิตศาสตร์ที่ซื้อมาใช้ได้กี่บาท หรือกล้องถ่ายรูปที่สามารถปรับแต่งภาพได้ (Single Len Camera) ใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ (%) แล้ว และในปัจจุบันถ้าใครมาถามเราว่าโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ใช้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว เชื่อน้อยคนมากๆที่จะใช้ได้เกินครึ่งของประสิทธิภาพที่ผลิตออกมา ซึ่งส่วนที่เกินมาแล้วไม่ได้ใช้หรือเราใช้ไม่เป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ นั่นคือต้นทุนที่เราต้องจ่ายโดยไม่จำเป็น Frugal innovation หรือ นวัตกรรมมัธยัสถ์ จึงเป็นนวัตรกรรมที่มาตอบโจทย์นี้ได้
Credit: https://images.app.goo.gl/tAugfN2jG4gdAnPw5
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็พบว่า Frugal innovation สามารถแก้ปัญหา 4 อย่างได้ คือ
1. ปัญหาหรือมีโอกาสที่ใหญ่พอ
2. แก้ปัญหาให้ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของปัญหาได้โดยตรง
3. ผู้ซื้อรู้สึกไม่พอใจกับปัญหาที่มีแล้วอยากแก้ไขแต่ยังมองหาทางออกไม่เจอ
4. ผู้ซื้อเชื่อมั่นในตัวผู้พัฒนา เนื่องจากมีหน่วยงานราชการรับรองและยังได้ทุนสนับสนุนอีกต่างหาก
คราวนี้ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะนำ Frugal Innovation ไปใช้อย่างไร จะนำไปแก้ปัญหาอะไร
FB Page: Thailand Modern Marketing
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง
อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
โหลดที่ http://www.blockdit.com
โฆษณา