Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
15 ก.ย. 2019 เวลา 23:27 • ประวัติศาสตร์
孔子及弟子
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์
5.หยั่นยง (冉雍)
หยั่นยง ฉายาจ้งกง บิดานามว่าป๋อหนิว ศิษย์ขงจื่อ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๒๙ ปี ชาวแคว้นหลู่ เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง จึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม
คุณธรรมของท่านสามารถเห็นได้จากคำชมของขงจื่อที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
ขงจื่อพูดถึงหยั่นยงว่า “ลูกโคไถนา มีขนแดงแลเขางาม แม้นมิดำริใช้เป็นเครื่องเซ่น แต่เทพแห่งหุบเขาลำธารจะรังเกียจฤๅ ? (บทยงเหยี่ยตอนที่ ๔)”
ผู้คนในสมัยราชวงศ์โจวมักนิยมใช้โคที่มีขนสีแดงและเขาอันได้รูปเป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งหุบเขาลำธาร เหตุเพราะสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคล ดังนั้นจึงไม่มีใครสนใจใช้โคไถนาที่มีสีขนวุ่นวายเป็นเครื่องเซ่นไหว้แต่อย่างใด ในที่นี้ ลูกโคไถนาที่มีสีขนแดงเลื่อมและเขาอันงดงามจะหมายถึงหยั่นยง เพราะหยั่นยงมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อย และแม้นหยั่นยงจะมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อยจนผู้คนรังเกียจ แต่ด้วยคุณธรรมความสามารถของหยั่นยงแล้ว มีหรือที่ราชสำนักจะปฏิเสธได้ ดังนั้นขงจื่อจึงได้กล่าวเช่นนี้ขึ้น
จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าหยั่นยงจะดำรงในสภาวะแวดล้อมอันเลวร้าย หรือแม้นจะมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อยเช่นใด ท่านก็ยังคงบำเพ็ญปฏิบัติอย่างเข้มแข็งอดทน
อนึ่ง หยั่นยงยังเพียบพร้อมด้วยพรสวรรค์ทางการเมือง ดังนั้นขงจื่อจึงชมหยั่งยงว่า “อันหยั่นยงผู้นี้ มีคุณสมบัติให้ทักษิณาภิมุขแล” ทักษิณาภิมุขหมายถึงการหันหน้าไปทางทิศใต้ ตามหลักอัฏฐขันธ์ (八卦) นั้น ธาตุไฟจะอยู่ทิศใต้ ฉะนั้นคนโบราณจึงถือทิศใต้เป็นทิศแห่งความสว่าง ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัลลังก์ จวนว่าการของเหล่าเจ้าเมือง หรือข้าราชการทั้งหลายล้วนยึดตำแหน่งทิศทางแบบหลังเหนือหน้าใต้ทั้งสิ้น
และการที่ขงจื่อกล่าวชมหยั่นยงว่ามีคุณสมบัติให้หันไปทางทิศใต้ได้นั้น เป็นเพราะหยั่นยงมีคุณธรรมความสามารถที่คู่ควรแก่ตำแหน่งบริหารบ้านเมืองนั่นเอง
ในด้านเมตตาธรรม หยั่นยงจะมีความวิริยะในด้านนี้อย่างน่ายกย่อง ดังเช่นครั้งหนึ่ง หยั่นยงได้ถามเรื่องเมตตาธรรมต่อขงจื่อ ขงจื่อตอบว่า “ยามออกทำธุระพึงให้ประหนึ่งพบอาคันตุกะ การเกณฑ์แรงงานพึงให้ประหนึ่งรับผิดชอบมหาพิธีบวงสรวง สิ่งที่ตนไม่ประสงค์อย่ากระทำกับผู้อื่น ฉะนี้แล้ว อยู่ในประเทศจะไร้คำครหา อยู่ในเคหะก็ไร้คำนินทา” หยั่นยงกล่าวว่า “แม้นศิษย์มิฉลาดเฉลียว แต่จะขอน้อมปฏิบัติตามโอวาทท่านอาจารย์ (บทเหยียนเยวียนตอนที่ ๒)”
เนื่องจากหยั่นยงเป็นบุคคลที่เน้นการปฏิบัติ โดยมิใช่ผู้ที่ชอบอวดคารมเพื่อแสดงความเด่นของตนให้คนยกย่องแต่อย่างใด ซึ่งสิ่งนี้ได้ขัดกับค่านิยมที่ผู้คนให้การยกย่องผู้ที่มีคารมคมคายในสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผู้คนจึงรู้สึกเสียดายในความรู้ความสามารถของหยั่นยง แต่ขงจื่อจะมิเห็นเป็นเช่นนั้น หากท่านกลับยกย่องคนซื่อที่ไม่ช่างเจรจา เหตุเพราะหากคนเราสักแต่ชนะผู้อื่นด้วยคารม พูดจาเสียดแทงจนผู้อื่นต้องจนด้วยคำพูด เช่นนี้ก็ทำได้แต่เพียงให้เขายอมรับแค่ภายนอก โดยหาอาจชนะใจของผู้คนได้อย่างแท้จริงไม่
เนื่องจากหยั่นยงมีความอุตสาหะในด้านการปกครอง ดังนั้นจึงเคยได้รับตำแหน่งราชการในตระกูลของจี้ซื่ออยู่ระยะหนึ่ง และเพื่อความรอบคอบ หยั่นยงจึงมาขอความรู้ด้านการปกครองจากขงจื่อ
ขงจื่อกล่าวว่า “เรื่องใด ๆ ก็ตาม ผู้บังคับบัญชาพึงปฏิบัติได้ก่อนผู้ใต้บังคับบัญชา หากมีลหุโทษ พึงให้อภัย และพึงรู้จักสนับสนุนปราชญ์ให้เข้ารับราชการ” หยั่นยงถามต่อจากนั้นว่า “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปราชญ์เหล่านั้นอยู่ที่ไหน แล้วควรจะทำการสนับสนุนอย่างไร ?” ขงจื่อตอบว่า “จงสนับสนุนผู้ที่เจ้ารู้จักก่อน ส่วนคนที่เจ้ายังไม่รู้จักนั้น ก็จะมีคนแนะนำให้เอง”
หากดูชีวิตโดยสรุปของหยั่นยงแล้ว จะเห็นว่าเป็นผู้ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ แม้นจะมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อย แต่ก็หาได้ยอมสยบต่อกระแสที่ไหลบ่าเข้ามาไม่ ท่านเป็นคนที่ยึดมั่นในการปฏิบัติ ไม่ชอบทำตัวอวดคารมเพื่อหวังผลในชื่อเสียง จึงถือว่าเป็นแบบอย่างแก่พวกเราด้านความอุตสาหะในคุณธรรมได้เป็นอย่างดี
1 บันทึก
2
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์ (孔子及弟子)
1
2
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย