Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
20 ก.ย. 2019 เวลา 23:23 • ประวัติศาสตร์
孔子及弟子
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์
6.จื่อก้ง (子貢)
จื่อก้ง แซ่ตวนมู่ นามว่าชื่อ จื่อก้งเป็นฉายานามที่ผู้คนรู้จักอย่างแพร่หลาย ท่านเป็นชาวแคว้นเว่ย อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๓๑ ปี ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวาทศิลป์
เป็นศิษย์ที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด เนื่องจากมีความชำนาญในการพานิชย์ อีกทั้งยังมีวาทศิลป์อันเป็นเลิศ ดังนั้นในคัมภีร์หลุนอวี่ทั้งหมด ๒๐ บท ๔๘๙ ตอน จึงมีการบันทึกถึงเรื่องราวของจื่อก้งถึง ๓๘ ตอนด้วยกัน
จื่อก้งเป็นคนที่ชอบสรรเสริญคุณความดีของผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบดีเลิศ ดังนั้นจึงได้เกิดความทะนงในความสามารถของตนเป็นธรรมดา ลือกันว่า ตอนที่จื่อก้งเพิ่งมาเรียนวิชากับขงจื่อ ในปีแรกก็สำคัญตนว่ามีวิชาความรู้เหนือกว่าขงจื่อเสียแล้ว ครั้นเข้าสู่ปีที่สองก็อ่อนท่าทีลงว่าตนเสมอเท่ากับขงจื่อ จวบจนปีที่สามจึงได้สำเหนียกรู้ว่าตนยังห่างชั้นจากขงจื่ออีกมากมาย ส่วนในเรื่องวิถีจิตอันแยบยลนั้น ก็ยิ่งมิพักกล่าวถึงอีกเลย
ในด้านการค้าวาณิชย์ จื่อก้งต้องนับเป็นนักธุรกิจที่มีความเก่งกาจอย่างหาใครเทียม เพราะจื่อก้งสามารถจับกระแสการขึ้นลงของสินค้าได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้มีสมบัติพัสถานมากมายมหาศาล
เนื่องด้วยจื่อก้งได้ติดตามขงจื่อมาเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงให้ความเคารพรักขงจื่อประดุจบิดา ในเวลาที่ขงจื่อได้ถึงแก่อนิจกรรมนั้น ศิษย์ทั้งหลายได้ไว้ทุกข์ให้กับขงจื่อเป็นเวลา ๓ ปี หากมีเพียงจื่อก้งเท่านั้นที่ยังคงปลูกกระท่อมไว้ทุกข์อยู่ข้างสุสานให้กับขงจื่อเป็นเวลานานถึง ๖ ปี ในภายหลังศิษย์พี่น้องและผู้คนในแคว้นหลู่ต่างเอาอย่างจื่อก้งปลูกกระท่อมอยู่รอบสุสานเพื่อรำลึกถึงท่านขงจื่อ ที่แห่งนั้นจึงได้กลายเป็นชุมชนขงหลี่ในกาลต่อมา อีกทั้งในตลอดชีวิตของจื่อก้งนั้น ท่านจะคอยปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศให้กับขงจื่ออย่างแข็งขัน ดังที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
๑. กงซุนเฉาแห่งแคว้นเว่ยมีความระแวงสงสัยในธรรมของท่านขงจื่อ จึงถามจื่อก้งว่า “อาจารย์ของท่านเรียนรู้จากที่ใดฤๅ ?” จื่อก้งตอบว่า “หลักธรรมของพระเจ้าโจวเหวินหวัง และพระเจ้าโจวอู่หวัง ยังมิได้โรยร่วงสู่ผืนดิน หากยังอยู่ที่ประชาชนทั่วหล้า โดยเมธีจักได้เห็นซึ่งหลักใหญ่ อเมธีจักได้เห็นซึ่งหลักเล็ก ซึ่งไม่มีที่แห่งหนใดที่จะไร้ซึ่งหลักธรรมของทั้งสองพระองค์นี้เลย แล้วไยท่านอาจารย์จึงมิเรียนรู้ แล้วไยท่านอาจารย์จึงต้องมีครูประจำ ? (บทจื่อจังตอนที่ ๒๒)”
๒. สูซุนอู่สูได้เปรยกับขุนนางในท้องพระโรงว่า “จื่อก้งมีความปราดเปรื่องยิ่งกว่าขงจื่อเสียอีก” จื่อฝูจิ่งป๋อนำเรื่องนี้ไปเล่าให้จื่อก้งฟัง จื่อก้งกล่าวว่า “อุปมาดั่งกำแพงวัง ที่สำหรับข้าแล้วก็สูงแค่บ่า ผู้คนต่างสามารถเห็นถึงความวิจิตรของนิวาสสถานภายใน แต่สำหรับกำแพงวังของท่านอาจารย์มีความสูงตระหง่าน หากมิพบประตูเข้าสู่ภายใน ก็จะมิอาจเห็นศาลบรรพชนอันตระการ และความมั่งมีแห่งข้าราชธารกำนัลได้ แต่ก็อาจเป็นเพราะผู้ที่พบประตูและเข้าดูภายในนั้นมีน้อยกระมัง ดังนั้นที่ท่านได้กล่าวไป จึงถือว่ามิเหมาะสมแล้วมิใช่หรือ ?(บทจื่อจังตอนที่ ๒๓)”
๓. สูซุนอู่สูว่าร้ายขงจื่อ จื่อก้งกล่าวว่า “อย่าทำเช่นนี้เลย ท่านอาจารย์มิอาจให้ว่าร้ายได้ดอก เพราะอันธีรภาพแห่งผู้อื่นนั้น ก็ประหนึ่งเนินดินที่ยังพอข้ามได้ แต่อันธีรภาพแห่งอาจารย์นั้น จะประหนึ่งสุริยันจันทราที่ไร้หนทางข้ามได้เลยแล มาตรว่าผู้คนจะตัดขาดจากสุริยันจันทราเช่นไร แต่จะเกิดความเสียหายแก่สุริยันจันทราอย่างไรก็หาไม่ ก็มีแต่จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สำเหนียกตัวของเขาเองเท่านั้น (บทจื่อจังตอนที่ ๒๔)”
๔. เฉินจื่อฉินกล่าวกับจื่อก้งว่า “เพราะท่านเคารพต่ออาจารย์กระมัง ขงจื่อจะเก่งกว่าท่านไปได้ไย ?” จื่อก้งกล่าวว่า “เพียงคำเดียวของวิญญูชนก็รู้ว่ามีสติปัญญา เพียงคำเดียวของอวิญญูชนก็รู้ว่าไร้สติปัญญา ดังนั้นการจำนรรจาจะมิรอบคอบได้ไย ? อันการมิอาจทัดเทียมได้ของท่านอาจารย์นั้น ก็เสมือนหนึ่งฟ้าที่มิอาจถึงได้ด้วยบันได หากท่านอาจารย์ได้อำนาจบริหารบ้านเมืองแล้ว ก็จะเป็นดั่งที่ว่า ‘สอนให้ยืนก็จักต้องได้หยัดยืน สอนด้วยธรรมก็จักต้องได้จำรูญ กล่าวปลอบขวัญก็จักมาสวามิภักดิ์ กล่าวปลุกขวัญก็จักได้สุขสมาน’ ยามท่านอยู่ ก็จักต้องได้รับเกียรติเชิดชู ยามอาสัญ ก็จักต้องพรั่งพรูอาลัย แล้วฉะนี้ จะทัดเทียมท่านได้ไย ? (บทจื่อจังตอนที่ ๒๕)”
1
นอกจากนี้ เรายังสามารถเห็นถึงความรักและความเคารพของจื่อก้งที่มีต่อขงจื่อดังเรื่องราวในต่อไปนี้
ฉีจิ่งกงตรัสถามจื่อก้งว่า “อาจารย์ของเจ้าคือใครฤๅ ?” กราบทูลว่า “คือท่านขงจื่อแห่งแคว้นหลู่” ทรงถามอีกว่า “ขงจื่อท่านนี้มีความปราดเปรื่องหรือไม่ ?” กราบทูลว่า “เขาคือพระอริยเจ้าโดยแท้” ทรงถามอีกว่า “รู้ได้อย่างไรว่าคือพระอริยเจ้า ?” กราบทูลว่า “กระหม่อมก็ไม่ทราบเหมือนกัน” ฉีจิ่งกงรับสั่งอย่างไม่พอพระทัยว่า “เจ้าบอกว่าเขาคืออริยเจ้า แต่ตอนนี้กลับบอกว่าไม่ทราบ นี่คือเหตุผลอะไรกันแน่ ?” กราบทูลว่า “กระหม่อมอยู่ภายใต้แผ่นฟ้าทุกวัน ก็ยังหาทราบถึงความสูงของแผ่นฟ้าไม่ กระหม่อมยืนอยู่บนผืนพสุธาทุกวัน กระหม่อมก็ยังหาอาจทราบถึงความหนาของแผ่นดินได้เช่นกัน ความยิ่งใหญ่ของท่านอาจารย์นั้น ก็ประหนึ่งเพลาที่กระหม่อมกระหาย กระหม่อมก็เพียงถือกระบวยตักน้ำในสาครขึ้นดื่ม ครั้นสิ้นกระหายแล้วก็เดินจากไป ซึ่งกระหม่อมจะทราบถึงความลึกแห่งมหาสาครนั้นก็หามิได้” รับสั่งว่า “คำอุปไมยของเจ้าดูจะเกินความจริงไปหน่อยกระมัง” กราบทูลว่า “กระหม่อมเกรงว่ายังมิเพียงพอเสียด้วยซ้ำ คำชมของกระหม่อมที่มีต่อท่านอาจารย์นั้น ก็ประหนึ่งนำกอบดินไปกองบนภูเขาไท่ซัน ซึ่งจะมีผลต่อภูเขาไท่ซันก็หาไม่ หรือหากกระหม่อมจะมิได้สรรเสริญต่อท่านอาจารย์ ก็ประหนึ่งกระหม่อมใช้สองแขนผลักภูเขาไท่ซัน ภูเขาไท่ซันจะสั่นสะเทือนก็มิได้อีกเช่นกัน” ฉีจิ่งกงทรงเห็นชอบในที่สุด
1
จื่อก้งเป็นปราชญ์ที่ช่างเจรจาอย่างที่สุด สมัยหนึ่ง แคว้นฉีจัดทัพรุกรานแคว้นหลู่ ขงจื่อรู้สึกวิตกกังวลใจยิ่ง จึงสั่งให้จื่อก้งเป็นทูตเจรจาแก้ไขวิกฤติให้แคว้นหลู่ แต่จื่อก้งไม่เพียงแต่สามารถแก้ไขวิกฤติให้แคว้นหลู่ได้เท่านั้น หากยังทำให้แคว้นฉีต้องพ่ายทัพ แคว้นอู๋ต้องพินาศ แคว้นจิ้นได้แข็งแกร่ง แคว้นเยวี่ยจากแคว้นเล็กกลายเป็นแคว้นมหาอำนาจขึ้นมาได้ จึงเห็นได้ว่าจื่อก้งเป็นนักเจรจาที่เก่งกาจยิ่ง
1
โดยสรุปแล้ว จื่อก้งถือเป็นสดมภ์หลักในสำนักขงจื่อที่สำคัญยิ่ง เพราะจื่อก้งไม่เพียงแต่อุดหนุนเรื่องปัจจัยในการเผยแพร่ธรรมให้แก่ขงจื่อเท่านั้น หากยังใช้วาทศิลป์อันชาญฉลาดคอยปกป้องคุ้มครองขงจื่ออยู่ตลอดเวลา จึงทำให้คำสอนของขงจื่อสามารถขจรไกลจนเป็นที่เลื่องลือตราบปัจจุบัน ดังนั้นจึงนับว่าจื่อก้งได้สร้างคุโณปการต่อสำนักปราชญ์อย่างใหญ่หลวงยิ่ง
1 บันทึก
5
16
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติขงจื่อและสานุศิษย์ (孔子及弟子)
1
5
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย