Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ใจที่ตื่นรู้
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2019 เวลา 12:59 • ไลฟ์สไตล์
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สาเหตุของความทุกข์นั้นก็คือ สมุทัย ได้แก่ " ตั ณ ห า " ซึ่งมี 3 ประการ คือ
1. อยากได้
2. อยากเป็น
3. อยากเร้นหนี
#อยากได้ คือ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้คอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ อยากได้ iPhone ใหม่ ๆ อยากได้ iPad ใหม่ ๆ อยากได้สามีใหม่ อยากได้กิ๊กใหม่ อยากได้งานใหม่ อยากได้เงินเดือนใหม่ อยากได้บ้านใหม่ พอความอยากเกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่ได้สมอยากก็ทุกข์หนักหนาสาหัส
อย่างบางคนมานั่งฟังพระเทศน์ก็อยากนั่งแถวหน้า แต่มีคนมาจองก่อน มองท้ายทอยคนข้างหน้า แหม. . . ทุกข์เหลือเกิน อันนี้สมมติ แค่อยากได้เก้าอี้แถวหน้ามานั่ง แต่ไม่ได้สมอยากก็ทุกข์แล้ว นี่คือความอยากได้ เป็นความอยากในระดับประสาทสัมผัส ตาอยากเห็นรูป หูอยากฟังเสียง จมูกอยากดมกลิ่น ลิ้นอยากลิ้มรส กายอยากตระกองกอดหรือสัมผัสใครสักคนหนึ่ง จิตอยากจินตนาการ พอมันอยากได้ และสมอยาก ความสุขก็เกิดขึ้น แต่พอไม่สมอยาก ความทุกข์ก็เกิดขึ้น
ความอยากอยู่ตรงไหน ขอให้รู้ไว้ว่าความทุกข์ก็ซ่อนอยู่ตรงนั้น และเมื่อเราอยาก และสมอยาก ขอให้รู้ไว้ว่าความทุกข์ก็พร้อมแทรกตัวเป็นของแถมทันที ลองมองดูให้ดีสิ อะไรที่ทำให้เราสมอยากนั่นแหละ มีความทุกข์ปนอยู่ เช่น อยากได้โทรศัพท์ใหม่สักเครื่องหนึ่ง พอได้แล้วมีความสุขมาก แต่พอมาถึงวัด นั่งฟังเทศน์ไปสักพัก โทรศัพท์หาย ทีนี้ล่ะ ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องแล้ว ทุกข์มาแล้ว ทุกเกิดจากวัตถุที่เคยทำให้เรามีความสุขนั่นเอง เห็นไหม ? สุขกับทุกข์เขาตีคู่กันมาด้วยกัน มองให้ดี ๆ แล้วจะมีปัญญารู้ทันทุกข์ พอรู้ทัน ทุกข์ก็น้อยลงไปตามลำดับ
อยากแต่งงานกับใครสักคน รักเขามาก มองทางไหนก็ร้อนแรงทุกองศา คนที่ปรารถนาพอได้ตระกองกอดสมหวังแล้ว เชื่อไหม!! คนที่ทำให้เราสมหวังอาจทำให้เราผิดหวังได้ คนที่ทำให้เราสุขอาจทำให้เราทุกข์ก็ได้ ฉะนั้น คุณกอดใครอยู่ ระวังให้ดีมันกัดแน่ ที่ใดมีกอดที่นั่นมีกัด สุขตรงไหนก็ทุกข์ตรงนั้น สมหวังตรงไหนก็ผิดหวังตรงนั้น นี่ธรรมดาที่เราต้องรู้เท่าทัน
นี่คือทุกข์ที่เราอยากได้ อยากเสพ อยากบริโภค เป็นความทุกข์ระดับพื้นผิวของจิต ยังไม่ทุกข์หนักหนาสาหัสไปถึงจิตวิญญาณส่วนลึกเหมือนความทุกข์ขั้นต่อมา
#อยากเป็น เป็นความอยากที่ลึกซึ้งที่ลึกขึ้นมาอีก ความอยากประการแรกเป็นความอยากระดับสนองประสาทสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ประการที่ 2 นี้ เป็นความอยากมี อยากเป็น อยากได้สถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อมาทำให้ตนเอง "ฟู" เช่น ฉันเป็นพ่อ ฉันเป็นแม่ ฉันเป็นสามี ฉันเป็นภรรยา ฉันเป็นลูก พอออกจากบ้าน ฉันเป็นหัวหน้า ฉันเป็นผู้บริหาร ฉันเป็น CEO ฉันเป็นรัฐมนตรี ฉันเป็นผู้นำประเทศ คำว่า " ฉั น เ ป็ น " สะท้อนว่าเราได้เป็น ได้มี ได้ครอบครองสถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวโขนที่มีคนมาสวมใส่ให้เราหรือที่เราสร้างขึ้นมาสวมตัวเอง
หัวโขนก็เหมือนหมวก หมวกนั้นถ้ารู้จักสวม และรู้จักวางจะไม่มีปัญหา แต่สวมแล้วไม่ยอมถอดมีปัญหาแน่นอน ฉะนั้น สถานภาพทำให้เราทุกข์ มีแล้วคนไม่เห็นความสำคัญก็ทุกข์ ฉะนั้น ความอยากเป็นนั้นทุกข์มากกว่าอยากได้อีก อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ ถ้าได้เป็นแล้วคนไม่เห็นค่าก็ทุกข์
อย่าได้คิดว่าเฉพาะตำแหน่งใหญ่ ๆ แล้วจะยึดติดถือมั่น ตำแหน่งเล็ก ๆ ก็อย่ายึดติดถือมั่นเช่นกัน
มีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับรางวัลนักกวาดดีเด่น เพราะเธอเป็นมือกวาดถนนที่กรุงเทพฯ เธอกวาดพร้อมกับเพื่อน ๆ ประมาณ 10 คน และวันต่อมาเธอได้รับรางวัลนักกวาดดีเด่น จากผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สามวันต่อมาเธอก็มากวาดตามปกติ เพื่อน 2-3 คนเดินมาหาถามว่า "ไปรับรางวัลกับผู้ว่าฯ เป็นไงบ้าง" ผู้หญิงคนนี้เชิด ไม่พูด เพราะเพื่อนเธอเป็นแค่นักกวาดธรรมดา ฉันมันนักกวาดมือทอง นี่แค่รางวัลนักกวาดถนนยังเอามาเบ่งทับกันได้
การยึดติดในสถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะไม่ให้ทุกข์นั้นเป็นเรื่องสุดวิสัย เหมือนกินพริกขี้หนูแล้วบอกไม่เผ็ดนั้นเป็นไปไม่ได้
#อยากเร้นหนี ทุกข์ที่ 1 มาจากความอยากได้ ทุกข์ที่ 2 อยากเป็น ทุกข์ที่ 3 อยากเร้นหนี คือ ไม่อยากเป็นแล้วคราวนี้ เพราะว่าไม่ชอบ มันไม่มีความสุข บางท่านอยากจะมีสามีฝรั่ง ตอนจีบกันเขาเป็นเศรษฐีจริง ๆ แต่พอแต่งงานแล้วมาอยู่ด้วยกัน หมดโปรโมชั่นแล้ว กลายเป็นยาจก อยากกลับเมืองไทยแต่กลับไม่ได้ ทุกข์ก็มาเยือนชีวิตทันที
อยากได้ก็ทุกข์ อยากเป็นก็ทุกข์ พอมันได้ พอมันเป็น แต่ไม่ชอบ มันหมดรสเสน่หาแล้ว ไม่ว่าในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือในหัวโขนบรรดาที่มีครอบครองอยู่ อยากสลัดทิ้งแต่สลัดไม่ได้เสียทีก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้น ความอยากมันเกิดขึ้น 3 สถานะ อยากได้แล้วไม่ได้ก็ทุกข์ อยากเสพแล้วไม่ได้เสพก็ทุกข์ อยากเป็นพอได้เป็นแล้วแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ อยากเป็นก็เป็นแล้ว อยากได้ก็ได้แล้ว แต่เมื่อได้แล้วเป็นแล้ว ครั้นอยากสลัดทิ้งแต่สลัดไม่ได้ก็ทุกข์อีก
นี่แหละ คือ ความอยาก มีความทุกข์แฝงอยู่ในนั้นเสมอไป ภาษาพระท่านจึงบอกว่า พอหมดอยากจึงหมดทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบมองสวนทางว่าพอสมอยากจึงมีความสุข การจะมองให้เห็นว่าความสมอยากเป็นความทุกข์ จึงต้องใช้ปัญญาทางธรรม ลำพังปัญญาทางโลก ไม่พอที่จะเจาะทะลวงมายาของโลกได้
ฉะนั้น ลองถามตัวเองดูว่า ชีวิตทุกวันนี้ เท่าที่เรามี เท่าที่เราเป็น พอหรือยัง ถ้าเราอยาก เราหาให้มันสมอยากก็น่าจะหายทุกข์ เมื่อเราสมอยาก เราไปเห็นอะไรที่ล่อหูล่อตา เราไม่รู้จักพอเราก็ทุกข์อีก ทีนี้เมื่อเราหาได้จนพอ และครั้นไปเทียบคนอื่นไม่เท่า เราก็ทุกข์อีก นั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความทุกข์ ทุกข์เพราะว่าไม่มี ทุกข์เพราะว่าไม่พอ ทุกข์เพราะว่าไม่เท่า
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงสาเหตุของความทุกข์ จึงไปจบอยู่ที่ "ตัณหา" นั่นเอง ถ้าหากว่าเราสลายตัณหาด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ตัณหาจะหายไป ปัญญาจะมาแทนที่ ชีวิตที่ถูกผลักไสด้วยตัณหาก็จบลง ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาก็จะเริ่มขึ้น
#ทุกข์ทุกที่ที่มีความอยาก
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" Suffering | ว.วชิรเมธี
5 บันทึก
12
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข (Suffering) | ว.วชิรเมธี 🌻
5
12
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย