7 พ.ย. 2019 เวลา 12:59 • ไลฟ์สไตล์
"สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ"
3
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงในโลก
อันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น
ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่ท่านพุทธทาสภิกขุให้ความสำคัญมาก ใครที่เคยไปสวนโมกข์ก็จะเห็นหรือได้ยินคำนี้หรือแม้กระทั่งใครที่อ่านหนังสือท่านก็จะต้องพบคำนี้
ท่านเคยพูดไว้ว่า. . .
" ถ้ า อ ย า ก จ ะ อ ยู่ ใ น โ ล ก นี้ อ ย่ า ง มี ค ว า ม สุ ข
อ ย่ า ป ร ะ ยุ ก ต์ สิ่ ง ทั้ ง ผ อ ง เ ป็ น ข อ ง ฉั น "
จะเห็นได้ว่า ท่านไม่ให้เรายึดติดกับสรรพสิ่งในโลกบรรดามี ความจริงนี้ไม่ใช่คำพูดของหลวงพ่อพุทธทาสเท่านั้น เพราะความจริงของสรรพสิ่งมันเป็นอย่างนั้นเอง คือ เราไม่สามารถยึดติดอะไรได้อย่างถาวรได้เลย เนื่องเพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง คือ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
คำแปลพระพุทธวจนะที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่นนั้น ถ้าหากจะแปลให้จำกันได้ง่าย ๆ ก็ขอแปลอีกสำนวนหนึ่งว่า
" ส ร ร พ สิ่ ง เ ป็ น ข อ ง ใ ช้
โ ป ร ด อ ย่ า เ ข้ า ใ จ ว่ า เ ป็ น ข อ ง ฉั น "
ถ้าเรายึดติดถือมั่นว่าอะไรเป็นของฉัน ความทุกข์จะถือกำเนิดขึ้นมาทันทีหรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความยึดติดถือมั่นเป็นมารดาของความทุกข์ ถ้ามีมารดาของความยึดติดถือมั่นเมื่อไร เขาจะคลอดลูกออกมาชื่อว่า " ค ว า ม ทุ ก ข์ " เมื่อนั้น
หากอยากรู้ว่าเรามีความทุกข์ไหม ก็ต้องถามตัวเองว่าเรายึดติดถือมั่นไหม ยึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ยังยึดอยู่ทุกข์ก็ยังมีอยู่ หลักง่าย ๆ แค่นั้นเอง
ปี พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสป่วยหนัก ครั้งสุดท้ายในนาทีวิกฤตก่อนที่ท่านจะวางวายทำลายขันธ์ ช่วงตี 4 ท่านตื่นขึ้นมานั่งเขียนบันทึกแล้วบอกท่านสิงห์ทอง (พระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย) พระอุปัฏฐาก ซึ่งนอนอยู่ข้าง ๆ ว่า
"สิงห์ทอง เราจะตายแล้ว"
ท่านสิงห์ทองก็งัวเงียตื่นขึ้นมามองนาฬิกาบอกเวลาตี 4 สักพักนึงท่านก็บอกว่า
"สิงห์ทอง เราจะตายแล้ว เอากุญแจออกจากกระเป๋าเราที เราไม่อยากตายคาคุณแจ"
ท่านสิงห์ทองก็ล้วงกุญแจในกระเป๋าท่าน เอากุญแจออกมาวาง หลังจากนั้นท่านก็บอกว่า
"สิงห์ทอง ลิ้นเราแข็งแล้ว" จากนั้นท่านก็ดับไป
แก่นของเรื่องนี้อยู่ตรงคำพูดของท่านพุทธทาสที่ว่า
"เอากุญแจออกจากกระเป๋า เราจะไม่ตายคากุญแจ"
" กุ ญ แ จ " คือ สัญลักษณ์ของการยึดติดถือมั่นของการเป็นเจ้าของ มนุษย์ทุกคนมีเหตุให้ยึดติดถือมั่น กุญแจนี่แหละเป็นสัญลักษณ์ของธรรมที่สำคัญ สิ่งที่ยึดติดถือมั่น ไขเข้าไปในบ้านเจอแต่สิ่งของที่ยึดติดถือมั่นไว้ ใครหยิบใครย้ายเป็นต้องมีเรื่อง นี่เพราะเรายึดติดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่จะปล่อยจะปลงกันได้ง่าย ๆ
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธองค์ทรงสรุปสาเหตุของความทุกข์ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา กล่าวโดยสรุป ความยึดติดถือมั่นในขันธ์ 5 เป็นตัวความทุกข์
ในสมัยพุทธกาล พระรูปหนึ่งได้รับผ้าจีวรทอมือจากพี่สาวของตน ท่านดีใจมาก คืนนั้นก่อนจำวัดนอนก็จะนำจีวรมาลูบ ๆ คลำ ๆ กะว่าพรุ่งนี้จะนุ่งห่มจีวรชุดนี้ไปบิณฑบาต ผูกใจเอาไว้กับจีวรผืนนั้นเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าคืนนั้นท่านมรณภาพด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน รุ่งขึ้นมีผู้รู้ข่าวได้ไปกราบทูลพระพุทธองค์ พระองค์รับสั่งว่า
"ภิกษุทั้งหลาย จงช่วยกันทำฌาปนกิจสรีระของเธอเสีย แต่จงเก็บจีวรของเธอเอาไว้ก่อน"
จีวรชุดนั้นถูกนำไปพับไว้ ห้ามใครแตะต้อง กระทั่งผ่านไป 7 วัน คณะสงฆ์แบ่งจีวร พระพุทธองค์ทรงตอบว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เธอรู้ไหม ที่เราตถาคตไม่ให้ใครแตะต้องจีวรชุดนั้นก็เพราะว่า เมื่อภิกษุรูปนั้นมรณภาพแล้ว เธอไปเกิดเป็นเล็นอยู่ที่จีวรแล้วเที่ยววิ่งไปวิ่งมา ตะโกนว่า จีวรของฉัน ๆ ตลอด 7 วัน ดังนั้น ถ้าพวกเธอไปแบ่งจีวรก็ไปสร้างเวรสร้างกรรมกับเล็นตัวนั้น แต่ชีวิตของเล็นนั้นสั้นมาก พอครบ 7 วันก็แตกดับไปตามธรรมชาติ จากนี้ต่อไปเอาจีวรนั้นมาแบ่งกันห่มได้แล้ว"
ดูเอาเถิด ความยึดติดถือมั่น ทำงานเร็วไหม นี่เพียงคืนเดียว ยังทำให้พระภิกษุเกิดเป็นตัวเล็นในจีวรได้ แล้วเราทั้งหลายที่ยึดติดของบางอย่างมาทั้งชีวิต มีรถคันหนึ่งใช้มา 30 ปี ตายไปแล้วจะไปเกิดที่ไหนหรือบางคนมีแจกันอายุ 300 ปี เอามือลูบคลำทุกวัน มีบ้านอยู่หลังหนึ่งสร้างมาเองกับมือ นอนอยู่ทุกคืนหรือมีโทรศัพท์อยู่เครื่องหนึ่ง ใช้จนเป็นนิ้วที่ 6 ติดตัวอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งแตกดับไป จะไปเกิดที่ไหนคิดดูเอาเองละกัน
นี่เองที่ทำให้ท่านพุทธทาสย้ำนักย้ำหนาว่า. . .
สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง
อันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น
[ ม า ร ด า ข อ ง ค ว า ม ทุ ก ข์ ]
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" Suffering | ว.วชิรเมธี
โฆษณา