2 พ.ย. 2019 เวลา 16:21 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คืนชีพเชื้อปริศนาฆ่าล้างโลก
ตอนที่ 1: หีบแพนโดร่าแช่แข็ง
พบกับการกลับมาของเชื้อมรณะที่สังหารผู้คนมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และมันอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คุณคาดคิด!
ปี 1920
อลาสก้า (Alaska) ดินแดนอันเหน็บหนาว
1
ในห้องใหญ่ห้องหนึ่ง เหล่าผู้ชายยืนเรียงหน้ากระดานอยู่ฝั่งหนึ่งของห้อง ในขณะที่เหล่าผู้หญิงยืนเรียงกันอยู่ฟากตรงข้ามของห้อง
แทบไม่มีใครรู้จักกัน แต่ผู้ชายจะทำการเลือกผู้หญิงมาหนึ่งนาง แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการจดทะเบียนสมรสให้ทันที
หากใครลังเล เจ้าหน้าที่จะเลือกคู่จดทะเบียนให้เอง
ตามมาด้วยพิธีสมรสหมู่ แล้วทุกคู่ที่พึ่งเจอหน้ากันก็ถูกประกาศให้เป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
พิสดารยิ่งกว่า "รจนาเสี่ยงทาย"
การันตีว่าหาคู่ได้แน่ ฟังดูเหมือนเป็นสวรรค์ของชาวคานทองนิเวศน์
2
แต่ช้าก่อน หากคุณอยากจะได้คู่ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ "มีชีวิต" ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ณ ช่วงเวลานั้นใน อลาสก้า
เหล่าผู้ชาย ผู้หญิง ที่ถูกจับคู่นั้น ส่วนมากล้วนเป็น พ่อม่าย แม่ม่าย หรือเด็กกำพร้าที่อายุย่างเข้าวัยเจริญพันธุ์
นี่เป็นมาตรการ "จนตรอก" ในการเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อป้องกันการล่มสลายของหลายหมู่บ้านที่แทบไม่มีผู้คนหลงเหลืออยู่
หลายวัฒนธรรมสูญสลายไปพร้อมกับประชากรในหมู่บ้าน
หมู่บ้านที่ไร้ผู้อาศัยถูกธรรมชาติกลืนกินจนไม่หลงเหลือร่องรอยว่าเคยดำรงอยู่มาก่อน
เกิดอะไรขึ้น? ทั้งที่ไฟสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ไม่ได้ลามมาถึงที่แห่งนี้
1
หากแต่เป็นหนึ่งปีครึ่งก่อนหน้านั้น ที่มัจจุราชได้เดินทางข้ามทะเลมาเยือนอลาสก้า ก่อนจะจากไปและทิ้งไว้เพียงดินแดนอันว่างเปล่าไร้ชีวิต
ตุลาคม 1918
เรือ เอส เอส วิคตอเรีย (S.S.Victoria) ได้เทียบท่าที่ โนม (Nome) เมืองในอลาสก้า เพื่อส่งจดหมาย
นักสำรวจ บุรุษไปรษณีย์ หมอสอนศาสนา ฯลฯ ลงจากเรือ และแยกย้ายกันไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยอาศัยสุนัขลากเลื่อน
หลังจากเรือ เอส เอส วิคตอเรีย ถอนสมอ ออกจากโนมลงไปทางใต้ ลูกเรืออยู่ ๆ ก็เสียชีวิตอย่างไม่คาดฝันถึง 31 คน แต่ผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านปลีกวิเวกในอลาสก้า ไม่มีโอกาสได้ทราบถึงข่าวร้ายนี้
พฤศจิกายน 1918
เมือง เบรวิก มิสชั่น (Brevig Mission) ในอลาสก้า มีชาว อินูอิต (Inuit) อาศัยอยู่เพียง 80 คน (บางเอกสารบอกมี 115 คน)
1
เราอาจจะคุ้นเคยกับชื่อ "เอสกิโม" ซึ่งเป็นคำเรียกชาวอินูอิตที่แฝงการเหยียดหยาม เพราะแปลว่าผู้กินเนื้อดิบ
สมาชิกหมู่บ้านได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเสบียงข้าวของกับหมู่บ้านใกล้เคียง หารู้ไม่ว่าเงามัจจุราชได้ติดตามเขากลับมาด้วย
ชาวหมู่บ้านเริ่มเป็นไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ ตาแดง ตามมาด้วย เลือดกำเดาไหล อาเจียน ไม่ต่างจากผู้ที่เสียชีวิตบนเรือ เอส เอส วิคตอเรียก่อนหน้านี้
เมื่อป่วยหนักจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ไม่สามารถก่อไฟหรือหาทางรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายให้ตัวเอง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวได้
ในอุณหภูมิเยือกแข็งเช่นนี้ ชาวบ้านที่ป่วยก็พากันแข็งตายกันแบบ "ยกครัว" และบางรายก็กลายเป็นอาหารของสุนัขลากเลื่อนที่ตัวเองเลี้ยง
1
ต่อให้รอดจากความโหดร้ายของสภาพแวดล้อมได้ การเจ็บป่วยก็อาจดำเนินต่อไปจนของเหลวจากการอักเสบเอ่อล้นท่วมปอด ตามด้วยการหายใจล้มเหลว นำมาซึ่งความตายในที่สุด
2
ภายในระยะเวลาเพียง 5 วัน (15-20 พ.ย. 1918) 90% ของชาวบ้าน หรือ 72 คนต้องจากโลกนี้ คนเหลือทิ้งไว้เพียงเด็กกำพร้า และวัยรุ่น รวม 8 คน ซึ่งนี่เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของหายนะที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ทางการได้ว่าจ้างนักขุดทองให้มาขุดหลุมลงไปในดินที่เป็นชั้นน้ำแข็งขนาดกว้าง 12 ฟุต ยาว 25 ฟุต ลึก 6 ฟุต เพื่อฝังร่างไร้วิญญาณทั้ง 72 ร่าง (หนังสือบางเล่มบอกเป็นทหารจากกองทัพใช้เครื่องพ่นไอน้ำในการละลายน้ำแข็ง)
สุสานในดินแดน "เยือกแข็งนิรันดร์"(permafrost) ของอลาสก้านี้เองได้กลายเป็นหีบแพนโดร่าที่ยืนยงข้ามศตวรรษ เก็บงำความลับดำมืดอันเลวร้ายไปพร้อม ๆ กับแสงแห่งความหวัง รอเวลาให้ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มาปลดปล่อย...
สุสานที่ เบรวิก มิชชั่น เครดิตภาพ: Ned Rozell ที่มา: http://www.gi.alaska.edu/alaska-science-forum
เราจะมาย้อนเวลากลับไปดูต้นกำเนิดของมหันตภัยนี้ด้วยกัน
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 2: ตำนานแซนด์วิชปลิดวิญญาณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา