20 ก.ย. 2019 เวลา 12:56 • การศึกษา
“Email เป็นเหตุ !?”
Cr. pixabay
ในการทำงานนั้น “ปัญหา” เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งไหน หรือประกอบอาชีพอะไร ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจออย่างแน่นอน เรื่องนี้ผมคอนเฟิร์ม
ส่วนการแก้ปัญหานั้น แต่ละคนต่างก็มีวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และความรู้ที่มี ดังนั้น "ขนาดของปัญหา" จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนในขณะที่ต้องเจอกับปัญหานั้น
แน่นอนครับว่า การระบายปัญหาความคับข้องใจให้คนอื่นได้รับฟังนั้น อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราเลือกจะทำ เพราะการได้พูดคุยกับใครซักคนนั้น จะทำให้แรงกดดันที่ได้รับจากการทำงานลดน้อยลง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะใช้วิธีนี้กัน (ผมเองก็เป็น)
Cr. pixabay
แต่การเลือกที่จะระบายกับใครซักคนนั้น เราอาจจะต้องเลือกคุยกับคนที่เราไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง และวิธีการระบายก็ควรจะเป็นส่วนตัวซักหน่อย เพื่อป้องกันบุคคลที่ไม่พึงประสงค์มารับรู้เรื่องของเรา
เหมือนกับตัวอย่างที่ผมได้นำมาเล่าในวันนี้ ซึ่งเริ่มต้นเพราะอยากระบายเป็นการส่วนตัว แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดที่ทำให้ถูกเลิกจ้างได้ ?
คดีนี้ ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเลขานุการผู้บริหาร เงินเดือนประมาณ 40,000 บาท ทำงานมาได้ประมาณ 4 ปี 3 เดือนก็ถูกเลิกจ้าง จึงได้มาฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวม ๆ แล้วเป็นเงินประมาณ 18 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
Cr. pixabay
จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้เลิกจ้าง โจทก์สมัครใจลาออกเองเนื่องจากมีความคับข้องใจในการทำงาน
ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงินประมาณ 5 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า... ขณะเกิดเหตุโจทก์มีนาย M เป็นผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 โจทก์ได้ส่ง Email ถึงนาย อ. ซึ่งต่อมานาย M มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ทำงานวันสุดท้ายวันที่ 6 กันยายน 2559 พร้อมให้ส่งคืนทรัพย์สินทั้งหมดก่อนออกจากสำนักงานโดยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2559
Cr. pixabay
Email ที่โจทก์มีถึงนาย อ. ตามที่จำเลยอ้างว่าเป็นการแสดงเจตนาจะลาออก มีข้อความก่อนหน้าและหลังจากนั้นเป็นการเล่าเรื่องราวที่โจทก์มีปัญหาในการทำงานถึงขั้นที่โจทก์จะลาออก และมีลักษณะเป็นปรับทุกข์หรือข้อข้องใจของโจทก์ต่อนาย อ. เป็นการส่วนตัว
อีกทั้งบริษัทจำเลยมีระเบียบข้อบังคับในการทำงานเรื่องของการลาออกกำหนดให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่กำหนดไว้ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
พฤติการณ์เช่นนี้เป็นเพียงโจทก์ส่ง Email ถึงนาย อ. ซึ่งส่วนหนึ่งของจดหมายเป็นเพียงการกล่าวถึงการลาออกจากการเป็นลูกจ้างเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์
Cr. pixabay
แต่การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ทำงานวันสุดท้าย วันที่ 6 กันยายน 2559 พร้อมให้คืนทรัพย์สินและจ่ายค่าจ้างถึงสิ้นเดือนกันยายน 2559 พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษที่ 1628/2560)
ว่าแต่งานนี้โจทก์จะสงสัยมั้ยนะ ว่านาย M รู้เรื่องนี้ได้ยังไง ???
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา