25 ก.ย. 2019 เวลา 15:34 • ความคิดเห็น
เมื่อนักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบาย..จิตสุดท้ายก่อนเสียชีวิต Last power & Near Death Experience
หมายเหตุ..บทความนี้ไม่มีเจตนา ลบหลู่ความเชื่อเรื่องจิตวิญฐาน หรือความเชื่อทางศาสนาค่ะ เพียงเป็นการนำเอา 'วิธีอธิบายแบบหนึ่ง' มาเล่าสู่กันฟัง
ท่านที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต บางท่านอาจเคยพบเห็นปรากฎการณ์หนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่นอนหลับไหล ไม่ทานอาหาร ระบบในร่างกายเสมือนเครื่องยนต์ที่ค่อยๆ ปิดการทำงานทีละส่วน จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมานั่งทานอาหาร พูดคุย เอ่ยสิ่งค้างคาใจ ก่อนที่วันต่อมาจะจากไป...ในที่นี้ขอเรียกปรากฎการณ์ 'Last power'
ปรากฎการณ์หนึ่งคือ ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว ฟื้นจากการกู้ชีพ มาเล่าให้เราฟังคือการเห็น ภาพอุโมงค์มีแสง บ้างก็เห็นตนเองออกจากร่าง..ในที่นี้ขอเรียกว่า 'Near Death Experience'
สองปรากฎการณ์นี้ นักประสาทวิทยาพยายามหาคำอธิบายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด แต่ก็ทำได้ยาก เพราะในช่วงใกล้เสียชีวิต การขนเครื่องวัดคลื่นสมอง (Electroencephalogram- EEG), เครื่องดูการไกลเวียนเลือด (Transcranial doppler-TCD) ไปติดตอนนั้น ดูไม่เหมาะสมนัก..แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถตรวจข้างเตียงได้ง่าย จึงทำให้มีข้อมูลมากขึ้น
การศึกษา ผู้ป่วยในหอบำบัดวิกฤต (ICU) ที่แคนาดา จำนวน 4 ราย ดู EEG (แถวบน) แสดงถึงการทำงานจากคลื่นสมอง ซึ่งแปลงเป็นกราฟสีแสดงสัดส่วนความถี่คลื่นสมอง (แถวล่าง) สีแดง/เหลืองความถี่สูง Beta/Alpha ..สีเขียว ความถี่ต่ำ Theta/ Delta และสีน้ำเงินเข้มคือไม่มีการทำงาน
พบว่า ณ จุดที่ 0 คือ หัวใจและปอดหยุดทำงาน ซึ่งก็คือเสียชีวิต ผู้ป่วย 3 ใน 4 การทำงานของสมองทั้งคลื่นและเลือดที่ไปสมองหยุดลงก่อนหัวใจหยุดเต้น แต่มีคนหนึ่งที่ก่อนเสียชีวิต 10 นาที มีคลื่นสมองรวมกันเป็นคลื่นยักษ์ (Delta Burst) และยังทำงานต่อไปหลังหัวใจหยุดอีก 10 นาที
เนื่องจากคลื่นสมอง Delta พบในช่วงเรานอนหลับฝัน จึงเกิด สมมติฐานว่า แท้จริง ประสบการณ์ Near Death Experience ก็คือการเห็นแบบภาพฝัน สิ่งที่ฝันเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึก หรือสิ่งค้างคาใจ
รวมถึงการลุกขึ้นมา ที่เรียกว่า Last power ก็คล้ายกับการละเมอ..คำเมืองเหนือเรียก 'กั้ง'ค่ะ (ปกติช่วง ฝัน กล้ามเนื้อร่างกายจะอ่อนแรง ยกเว้นแต่ลูกตาที่จะกลอกไปมารวดเร็ว เราจึงเรียกช่วงฝันขยับได้แต่ลูกตานี้ว่า REM-Rapid Eye Movement..ดังนั้น การละเมอ เดินได้ ร้องได้ ถือเป็นความผิดปกติของการนอนช่วง REM)
1
ณ ตอนนี้ สมมติฐาน ก็ยังเป็นสมมติฐาน แต่ข้อคิดสำหรับข้าพเจ้าคือ หากเราต้องการมีภาพสุดท้ายที่ดี คงต้องสะสมภาพดีๆ ในจิตใต้สำนึกค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา