26 ก.ย. 2019 เวลา 15:10 • กีฬา
"การฝึกพัฒนาสมรรถนะของกีฬาประเภททีม"
ธรรมชาติของการเคลื่อนที่ในกีฬาประเภททีม มีการเคลื่อนที่โดยมีลักษณะการเคลื่อนที่โดยใช้ความเร็วต่ำ ปานกลาง ไปจนถึงในระดับสูงตลอดช่วงการแข่งขัน (เช่น การเดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง สปริ้นด้วยความเร็วสูง) เช่นเดียวกับกีฬาที่ใช้แร็กเกตในการแข่งขัน ที่มีการปฏิบัติที่มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้ตลอดช่วงของการแข่งขัน ร่างกายจะมีการทำงานที่มีความหนักที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกีฬาแต่ละประเภท ทำให้ร่างกายมีลักษณะการทำงานที่ไม่มีความสม่ำเสมอตลอดช่วงการแข่งขัน จึงไม่สามารถเลือกใช้รูปแบบวิธีการฝึกการพัฒนาความอดทนแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic Endurance) หรือ วิธีการพัฒนาความอดทนแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Endurance) อย่างใดอย่างหนึ่งได้ จำเป็นต้องมีการฝึกที่มีการพัฒนาความอดทนทั้ง 2 ประเภทพร้อมกัน ซึ่งรูปแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า Repeated Sprint Ability (RSA)
จากงานวิจัยที่มีการศึกษามาตลอดช่วงปี 2000 เป็นต้นมา เกี่ยวกับ RSA พบว่า การฝึกในรูปแบบ RSA จะเป็นการฝึกโดยการวิ่งทางตรงด้วยความเร็วสูงที่มีระยะเวลาประมาณ 6 วินาที/เที่ยว (ประมาณ 30-40 เมตร) และมีระยะเวลาพัก 30 วินาที/เที่ยว โดยกระทำแบบซ้ำ ๆ หลายเที่ยว สามารถพัฒนาความสมรรถนะด้านความอดทนที่มีความเหมาะสมกับนักกีฬาประเภททีมได้อย่างดี ซึ่งระยะเวลาที่วิ่งแต่ละเที่ยวนั้นเป็นระยะที่มีความเหมาะสมในการวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด และมีระยะฟื้นคืนสภาพ (Recovery) อย่างเหมาะสม โดยรูปแบบการฝึกนั้นสามารถช่วยพัฒนาการพัฒนาความอดทนแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Endurance) ซึ่งใช้ ATP เป็นแหล่งพลังงานหลักในการปฏิบัติ รวมไปถึงการพัฒนาความสามารถในการใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2Max) ซึ่งถือได้ว่า VO2Max นั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับสมรรถนะด้านความอดทนของร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม
ตัวอย่างโปรแกรมในการฝึก RSA (Repeated Sprint Ability)
3-4 เซต x 6 เที่ยว พักระหว่างเที่ยว 30 วินาที x 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
ซึ่งไม่เพียงแต่รูปแบบการวิ่งที่มีการเคลื่อนที่โดยการวิ่งทางตรงเท่านั้น ในปัจจุบันยังมีการวิ่งที่มีการเปลี่ยนทิศทางที่มีความหลากหลายรูปแบบ ซึ่งยังสามารถช่วยพัฒนาสมรรถนะด้านความคล่องแคล่องว่องไวได้อีกด้วย
ขอขอบคุณรูปภาพจาก RB Leipzig
Bishop, D., Girard, O., & Mendez-Villanueva, A. (2011). Repeated-Sprint Ability - Part II Recommendations for Training. Sports Medicine, 41(9), 741-756. doi:10.2165/11590560-000000000-00000
โฆษณา