27 ก.ย. 2019 เวลา 17:29 • ประวัติศาสตร์
พูดผิดชีวิตเปลี่ยน
การพูดถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กๆไม่สำคัญ แต่บางคนเลือกพูดไปแบบหาใจความจับไม่ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี พูดผิดชีวิตเปลี่ยน เรามาลองอ่านบทความนี้ดูเพื่อ จะได้ รู้จัก พูด ใน สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนรอบข้างเรา และเราจะได้ หลีกออกจากผู้พูดเพ้อเจ้อ ที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย
https://unsplash.com/photos/4AmyOdXZAQc
เรารู้ดีว่าการคิดถี่ถ้วนระมัดระวังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้เราแสดงความคิดเห็นได้รวดเร็ว ความคิดที่ไม่ได้กรั่นกรองก่อนแสดงออกมา หลายครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า เพียงเพราะเราพูดคำนั้นได้ ไม่ได้หมายความว่าเราควรพูดมันออกไป
ปีใหม่นี้ หากใครคิดอยากจะสร้างนิสัยที่ดี แต่ยังขาดไอเดีย การคิดก่อนพูดเป็นนิสัยที่ดีที่ควรสร้างให้ติดอยู่กับตัว คิดก่อนพูดทุกครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไร ไม่ว่าจะรู้สึกยังไงก็ตาม คิดก่อนพูดจะทำให้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง ก่อนจะพูดอะไรออกไป ก็ควรจะคิด ควรจะ T.H.I.N.K. Before You Speak
ก่อนพูดออกไปควรคิดพิจารณาให้ดีก่อนว่า สิ่งที่เราจะพูดนั้น
True – มันเป็นความจริงหรือเปล่า
Helpful – มันเกิดประโยชน์หรือเปล่า
Inspiring – มันให้แรงบันดาลใจหรือเปล่า
Necessary – มันจำเป็นหรือเปล่า
Kind – มันรักษาน้ำใจหรือเปล่า
ไม่ว่าตอนนั้นจะรู้สึงยังไง ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหนก็ตาม ก็ขอให้คิดก่อน ว่าสิ่งที่เราจะพูดออกไปนั้น มันแสดงออกถึงความมีน้ำใจหรือเปล่า
มีเหตุผลหลายอย่างที่เราควรหยุดแล้วคิดก่อนที่จะเผลอพูดออกไป คนมักจะพูดนินทาคนอื่นโดยไม่ระมัดระวัง คำพูดบ่งบอกถึงตัวตนของคนพูด คำพูดทำให้เกิดเรื่องดีๆ และคำพูดก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน
หลังจากพูดออกไป เราไม่สามารถหลบซ่อนจากผลที่ตามมาหรือธาตุแท้ที่เผยออกมาได้ คนที่พูดในที่สาธารณะบางคนไม่หยุดแล้วคิดก่อนพูด เผลอไม่ระมัดระวังคำพูด พูดขัดแย้งกันบ่อยๆ นึกไม่ถึง ไม่รู้ว่าคำพูดที่หลุดออกจากปากนั้น ไม่ว่าจะขอโทษกี่ครั้งก็ไม่อาจกลับคำพูดนั้นได้
คำพูดมีพลัง พลังที่จะช่วย พลังที่จะรักษา พลังที่จะทำร้าย พลังที่จะล้อเลียน เราเลือกที่จะใช้มันสร้างแรงกระตุ้นหรือทำลายความหวังของคนได้
ก่อนจะพูดออกไป จะต้องใช้เวลาคิดก่อนว่าจะพูดยังไง นึกถึงคนฟัง นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา ใช้คำพูดที่รักษาน้ำใจ คำพูดที่ให้แรงบันดาลใจ คำพูดไพเราะน่าฟังเป็นสิ่งที่ต้องการของคนทั่วไป
เวลาที่พูด ก็ควรพูดอย่างมีสติ พูดในแบบที่จะสร้างสันติและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คำพูดและน้ำเสียงต่างก็สร้างผลกระทบได้ พูดความจริง ไม่พูดเกินจริง พูดให้สอดคล้องกัน ไม่ใช้สองมาตรฐาน ไม่ใช้คำพูดเพียงเพราะต้องการชี้นำผู้อื่น และที่สำคัญไม่ใช้คำพูดที่สื่อถึงการคุกคามหรือพูดทำร้ายผู้อื่น
พูดด้วยความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ในการเจรจา ไม่ว่ากับใครก็ตาม การพูดความจริงเป็นสิ่งจำเป็น และถึงแม้จะต่างความคิด ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ยังต้องพูดกันด้วยความมีน้ำใจ เคารพผู้อื่น แสดงออกถึงความเป็นสุภาพชนเสมอ
หากเราใช้คำพูดในทางที่ดี มันจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ ทำให้คนฟังรู้สึกดี ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดี ทำให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่ม แต่หากเราใช้คำพูดในทางไม่ดี พูดข่มเหง พูดดูถูก พูดให้ร้ายผู้อื่น มันก็จะเป็นกระสุนทำร้ายจิตใจคน ทำลายความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
สิ่งสำคัญในการพูดคือการตั้งใจฟังและอดทน พูดอย่างมีสติ มีวิธีการพูดที่ดี และพูดความจริงที่เราเข้าใจ ระมัดระวังการใช้คำพูด น้ำเสียงและภาษากาย
ที่นี้เรามาดูการพูดในหลักของ พระพุทธศาสนา กันบ้าง
พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี
สัมมาวาจา
คนส่วนมากมองข้ามความสำคัญในการพูด ไม่ค่อยจะใช้คำพูด และข้อเขียน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งๆ ที่สามารถจะทำได้ โดยไม่ต้องลงทุกลงแรงอะไร
เกี่ยวกับเรื่องบุญกุศล มีคนจำนวนมาก รังเกียงที่จะทำบุญ โดยอ้างว่าต้องใช้เงินทองทรัพย์สมบัติ เขาเป็นคนยากจน ก็ไม่สามารถทำบุญได้
แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพูดเป็นคุณประโยชน์ เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นธรรมวินัย เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นโทษภัยแก่ใครๆ นั้น นับว่าเป็นบุญกุศลมหาศาล โดยไม่ต้องเสียเงินทองทรัพย์สินอะไรเลย
พูดเป็นกุศล ก็คือ พูดด้วยวจีสุจริต ๔
ตามนัยแห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่
๑. ไม่พูดเท็จ ทำลายประโยชน์ของผู้อื่น
๒. ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน
๓. ไม่พูดด่ากัน ด้วยคำหยาบ
๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ให้คนหลงใหล ประมาทสูญเสียโอกาสในการทำความดี
การพูดวจีสุจริตดังกล่าว ชื่อว่าเป็นสัมมวาจาเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์แปด พิจารณาเพียงผิวเผิน อาจเห็นว่าไม่มีความสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่สำคัญไม่น้อยเลย
เพราะพระพุทธองค์ ทรงสอนให้เว้นจากทางผิด แล้วดำเนินไปในทางถูกต้อง เป็นการให้ปิดประตูทางแห่งความเสื่อมเสียให้ได้ก่อน เพื่อมิให้เป็นคนชั่ว คนบาป ซึ่งถ้าทำบาปเข้าไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลมรรคผลนิพพาน หมดโอกาสพ้นทุกข์ดังประสงค์
ขออย่าลืมว่า ทางกาย และทางใจ มีประตูบาปอยู่เพียงทางละ ๓ ประตูเท่านั้น ส่วนทางวาจานี้มีประตูบาป เปิดรับไว้ถึง ๔ ประตู ซึ่งคนทั่วไปมักถลันเข้าไปได้อย่างง่ายดาย
เพราะฉะนั้น จะต้องเห็นความสำคัญจะต้องสำรวมระวังสม่ำเสมอ มิฉะนั้นจะไปสู่ทุคติแทนสุคติ หรือจะไปสู่ความเป็นพาล แทน นิพพาน อย่างง่ายดาย
หลักการพูดของพระบรมศาสดา
๑. วาจาใด ไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และ ไม่เป็นที่รักขอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่พูดวาจานั้น
๒. วาจาใดจริง แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ทั้งไม่เป็นที่รักชอบใจของคนอื่นด้วย ตถาคตไม่พูดวาจานั้น
๓. ส่วน วาจาใด จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักชอบใจของคนอื่น ตถาคต ย่อมเป็นผู้รู้จักกาลอันควร หรือไม่ควรที่จะพูดวาจานั้น
๔. วาจาใด ไม่จริง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงเป็นที่รักชอบใจ ของคนอื่น คถาคต ไม่พูดวาจานั้นเด็ดขาด
๕. วาจาใด แม้จริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงเป็นที่รักชอบใจของคนอื่น ตถาคต ก็ไม่พูดวาจานั้น
๖. วาจาใด จริงแท้ด้วย ประกอบด้วยประโยชน์ด้วย ทั้งเป็นที่รักชอบใจของคนอื่นด้วย ตถาคต ย่อมรู้กาลที่จะพูดวาจานั้น
(ทรงเลือกเวลาพูด ไม่ใช่พูดทุกเวลา)
ขอให้ชาวพุทธยึดหลักการพูดของพระบรมศาสดานี้ไว้ ในการจะพูดจา เพราะเป็นวิธีการพูดชั้นครู ชั้นยอด
อ่านทั้งหมดได้ที่ สัมมาวาจา พูดเป็นธรรมชี้นำทางดี
กถาวัตถุ คือ ถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่าง
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย.
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้.
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ.
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่.
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร.
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล.
๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ.
๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา.
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส.
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส.
ถ้าเราเข้าใจและฝึกการพูดได้ตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เราจะเป็นผู้พูดที่ดี เป็นผู้พูดที่แม้ไม่ค่อยมีคนฟังแต่สุดท้าย คนไม่ฟังจะได้ข้อคิดเอง จากคำพูดที่ดีของเรา
โฆษณา