30 ก.ย. 2019 เวลา 12:26 • ความคิดเห็น
ย้อนรอย 70 ปี จักรวรรดิจีนใหม่ ตอนที่ 2: รัฐบุรุษ เติ้ง เสี่ยวผิง
มีเรื่องเล่าว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต
จักรพรรดิแห่งผรั่งเศส ผู้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ช่วงปี ค.ศ. ‪1804-1814‬ เคยกล่าวทำนองว่า "ปล่อยให้จีนหลับใหลเถิด เพราะเมื่อไหร่ที่จีนตื่น จีนจะเขย่าโลก" หากจะกล่าวว่า 70 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลคนหนึ่งที่ทำให้ ประเทศจีน “ตื่น” อย่างแท้จริง เป็นบุคคลที่กล้าเปลี่ยนแปลงจีน จาก “ระบบปิด” มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ “กลไกตลาด” เปิดรับให้เอกชน และต่างชาติ เข้าไปลงทุนในจีน บุคคลผู้นั้นมีนามว่า “เติ้ง เสี่ยวผิง”
เติ้ง เสี่ยวผิง หรือชื่อเดิม คือ “เติ้ง เซียนเซิ่ง” เกิดเมื่อปี 2447 (ค.ศ.1904) ที่เมืองกว่างอัน มณฑลเสฉวน ครอบครัวเติ้ง เสี่ยวผิงถือว่าเป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา เขาได้เริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 5 ขวบ โดยใช้ชื่อว่า “เติ้ง ซีเสียน” โดยเด็กหนุ่มเติ้งวัย 16 ปี ได้สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศผรั่งเศส และต่อด้วยรัสเซีย ด้วยความที่ได้เห็นโลกกว้าง ช่วยหล่อหลอมให้เติ้ง เป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของคน และมีความเป็นนักทดลองอยู่ในตัว
1
หลังจบการศึกษา เติ้ง ซีเสียน ได้กลับบ้านเกิด และเข้าร่วมทำงานการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ด้วยความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ (นำโดย เหมา เจ๋อตุง) กับก๊กมินตั๋ง (นำโดย เจียง ไคเช็ค) ทำให้เติ้ง ซีเสียน ต้องทำการปกปิดตัวตน และชื่อจริง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “เติ้ง เสี่ยวผิง” และใช้ชื่อนี้ ผงาดโลดแล่น ในการบริหารประเทศ ตราบจนวาระสุดท้าย ของชีวิต
1
เติ้ง เสี่ยวผิง ในวัยหนุ่ม Cr. Xinhua News
“ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”
不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫
(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา)
2
ประโยคยอดนิยม ที่นักการเมืองไทยหลายๆ ท่านชอบเอามาใช้อยู่เสมอๆ  ถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง โดยได้กล่าวประโยคนี้อย่างเป็นทางการในปี 2503 (ค.ศ.1962) สมัยที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ยังช่วยงาน เหมา เจ๋อตุง ซึ่งขณะนั้น จีนกำลังประสบกับปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และบรรดาผู้บริหารของประเทศต่างระดมความคิดเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น
ทัศนะของเติ้ง ขณะนั้นคือ “ในการจะฟื้นคืนอุตสาหกรรมเกษตร มวลชนจำนวนมากเรียกร้องขอได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินของตนเอง และผลการสำรวจยังได้สนับสนุนแนวคิดนี้ ซึ่งในช่วงระยะก้าวผ่านของแต่ละยุคสมัย หากวิธีการใดเป็นผลดีแก่อุตสาหกรรมการเกษตร ก็ให้ใช้วิธีการนั้น กล่าวคือ ควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัว”
แนวคิดดังกล่าว ได้เห็นเป็นรูปธรรม หลังจากที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ขึ้นเป็นผู้นำจีน  โดยในปี 2521 (ค.ศ.1978) ณ เวลา ห้าโมงเย็น วันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ที่หมู่บ้านเสี่ยวกัง มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน มีชาวนากลุ่มหนึ่งรวมพรรคพวกได้ 18 คน กำลังประชุมกันเพื่อปฏิวัติเศรษฐกิจล้มระบอบคอมมูน
แต่เดิมจีน จะใช้ระบบ “นารวม” คือ ชาวนาหากมีผลผลิตออกมาก็ต้องส่งให้กองกลางทั้งหมด โดยรัฐจะแบ่งผลประโยชน์ให้อย่าง “เสมอภาค” เท่าเทียมกัน ซึ่งก็คือ ไม่ว่าแต่ละบ้าน จะขยันมาก ขยันน้อยต่างกันอย่างไร สุดท้ายก็ได้เท่ากันอยู่ดี
1
ชาวนาหมู่บ้านเสี่ยวกังที่แสนจนตรอก อดอยากปากแห้งมาหลายปี จึงร่วมกันทำสัญญาเข้าตราประทับ และพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบใหม่ ที่ตกลงกันว่า จะส่งเข้ากองกลางจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อน แต่ส่วนที่ปลูกได้เกินให้แต่ละบ้านเก็บไว้กินเอง คือ ทำมาก ก็ได้มาก
3
สัญญาชาวนาเสี่ยวกัง Cr. Matichon
ปีถัดมา ชาวนาได้ผลผลิตมหาศาล จากแรงจูงใจที่มากขึ้น (คือ ทำมากได้มาก) ซึ่งเรื่องก็ปิดไม่มิด ไปถึงหู เติ้ง เสี่ยวผิง (ซึ่งต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่ชาวนากำลังทำกันอยู่ผิดกฎหมายชัดๆ!)
Cr. MGRonline
แต่ เติ้ง เสี่ยวผิง เจ้าแห่งวลี “แมวดำแมวขาวไม่ว่า ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน” กลับไม่ว่าอะไร อีกทั้งยังสนับสนุน โดยให้นักข่าวช่วยเขียนข่าวยกย่องการกระทำของชาวนากลุ่มนั้น กลุ่มชาวนาเสี่ยวกัง ถือเป็นกลุ่ม “นายทุน” กลุ่มแรก ในจีนยุคคอมมิวนิสต์ โดยระบบที่พวกเขาคิดค้นได้ถูกนำไปเป็นแบบอย่างและขยายไปใช้ในเกษตรกรรมชนบททั่วประเทศภายใต้ชื่อ “ระบบสัญญาความรับผิดชอบของครัวเรือน” (household contract responsibility system)
เซินเจิ้น จากหมู่บ้านประมง สู่เมืองของก๊อป จนกลายเป็นซิลิคอนวัลเล่ย์แห่งจีน 🚀
ไม่ใช่ว่าการบริหารประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง จะราบรื่น โดยในพรรคคอมมิวนิสต์ ยังมีความคิดที่ไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายหัวก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งทาง เติ้ง เสี่ยวผิง ก็ใช้แนวคิดแบบที่เหล่าสตาร์ทอัพ ใช้กันในปัจจุบัน ก็คือ ทดลองเริ่มจากเล็กๆ ดูก่อน โดยทาง เติ้ง เสี่ยวผิง อยากทดลองพัฒนาประเทศโดยใช้ระบบเศรษฐกิจ แบบตะวันตก
ปี 2523 เติ้ง เสี่ยวผิง เลือกเมือง “เซินเจิ้น” เมืองเล็กๆ มีประชากรเพียง 30,000 คน ตั้งอยู่ทางตะวันออกชายผั่งทะเลของจีน ฝั่งตรงข้าม คือ ฮ่องกง และมาเก๊า ให้กลายเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แห่งแรกของจีน แล้วก็ชักชวนเศรษฐีฮ่องกง ให้ข้ามน้ำมาเปิดโรงงานที่เซินเจิ้น ซึ่งด้วยค่าแรงที่ถูกและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ เติ้ง เสี่ยวพิ้ง มอบให้ก็ทำให้ เซินเจิ้น เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และสร้างบริษัทชั้นนำมากมาย โดยเฉพาะบริษัท “หัวเว่ย” ที่ก่อตั้งใน ปี 2530 โดย เหริน เจิ้งเฟย
ปัจจุบัน เซินเจิ้น ก้าวข้ามจากคำตราหน้าว่าเป็นแหล่งของก๊อป โดยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุคของตัวเองได้แล้ว (โอเค บางอย่างก็ยังก๊อป อยู่) โดยในปี 2561 (ค.ศ. 2018) เซินเจิ้น มี GDP มีมูลค่า 3.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 7.6% แซงหน้า ฮ่องกง ที่มี GDP 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเพียง 3.3% ไปเรียบร้อย
เซินเจิ้น Cr.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน
เซินเจิ้น 2018 Cr.MGROnline
การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน❗
การเปลี่ยนแปลงประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงแม้จะมีข้อดี แต่กลับนำมาสู่การ “คอร์รัปชัน” ของกลุ่มชนชั้นผู้นำในสังคม โดยมีการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น มีผู้คนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการปกครองในระบอบพรรคเดียว มีการชุมนุมประท้วงตามสถานที่ต่างๆ เรื่องราวดำเนินไปจนถึง วันที่ 4 มิถุนายน ปี 2532 (ค.ศ. 1989) ที่มีการสลายการชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน โดยรถถังได้เคลื่อนเข้าไปยังจุดที่ชุมนุม และกราดยิงจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดทั่วจตุรัสเทียนอันเหมิน…
Cr. VoiceTV
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว เติ้ง เสี่ยวผิง ได้วางมือ ทางการเมือง และเลือก “เจียง เจ๋อหมิน” ขึ้นเป็นทายาท ทางการเมืองของเขา พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงครองอำนาจปกครองจีน
จากเหตุการณ์นองเลือด หลายๆ ประเทศคิดว่าจีนอาจกลับไปปิดประเทศ แต่ เติ้ง เสี่ยวผิง ก็กลับมาช่วยจีนอีกครั้ง โดยในปี 2535 (ค.ศ.1992) ถึงแม้จะมีอายุมากถึง 88 ปี เติ้ง เสี่ยวผิง ก็ได้ไปเยือน เซินเจิ้น จู่ไห่ เซี่ยงไฮ้ และเขตอื่นๆ เพื่อตรวจการพัฒนาพื้นที่ และได้กล่าวปราศรัยเพื่อให้ผู้คนเข้าใจการปฏิรูปประเทศ
Cr.MGRonline
ระหว่างทริปเยือนใต้ ทางเติ้ง เสี่ยวผิง ยังได้ไปชมทิวทัศน์ที่ภูเขาจงชาน เมื่อเดินขึ้นไปถึงยอดเขา คนได้ถามว่า ท่านจะเลือกเดินลง “ทางเดิม” หรือเดินต่อไป เติ้ง เสี่ยวผิง ตอบสั้นๆ ว่า “ผมไม่เดินกลับทางเก่า” วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศจีนพาดหัวหน้าหนึ่งว่า “ไม่เดินกลับทางเก่า” เป็นคำตอบสุดท้าย โดยกว่า 27 ปี ต่อมาจีนก็ไม่เคยเดินกลับทางเก่าจริงๆ
👉 1 ประเทศ 2 ระบบ และความฝันอันสูงสุดของ เติ้ง เสี่ยวผิง
เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เสนอแนวคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” สำหรับการแก้ไขปัญหาฮ่องกง และไต้หวัน โดยหนึ่งประเทศ คือ มีเพียงจีนเดียว แต่เขตจีนอิสระ เช่น ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน สามารถมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมได้ ขณะส่วนที่เหลือใช้ระบบสังคมนิยม
1
เติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวหลายครั้งว่า ความฝันสูงสุดคือการได้มีชีวิตอยู่ถึงปี 2540 (ค.ศ.1997) ซึ่งเป็นปีที่ฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ  แต่ก็น่าเสียดาย ที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ในวัย 93 ปี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 2540 ก่อนที่ฮ่องกงจะได้กลับสู่อ้อมกอดของจีน เพียงไม่กี่เดือน…
พรุ่งนี้ต่อ ตอนที่ 3: “ประเทศจีน หลังการจากไปของ ผู้นำร่างเล็ก แต่หัวใจใหญ่”
สำหรับท่าน ที่พลาดตอนที่ 1 ตามอ่านได้ที่:
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เชิญพูดคุยแลกเปลี่ยน ความรู้ได้ที่ https://line.me/ti/g2/hxcbVyO45-1yxNkh-vKf1g

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา