4 ต.ค. 2019 เวลา 13:31 • การศึกษา
“หากถูกจับ จะขอประกันตัวอย่างไร ?”
คงไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในห้องขัง ที่ทั้งร้อนชื้น คับแคบ และเต็มไปด้วยผู้คนที่เราไม่รู้จักใช่มั้ยครับ
Cr. pixabay
แต่ใครจะไปรู้อนาคต ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในนั้นโดยไม่ตั้งใจก็ได้
จะดีกว่าหรือไม่หากเรารู้แนวทางและวิธี
การที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์นั้น
ซึ่งบทความนี้อาจช่วยคุณได้ครับ
ก่อนอื่นผมขออธิบายให้เห็นภาพก่อน โดยขอใช้ตัวละครสมมติชื่อว่า “คุณ ป.”
วันหนึ่งคุณ ป. ไปขโมยนาฬิกายี่ห้อโรเล็กซ์
รุ่นซับมารีน จากเพื่อนสนิทในขณะที่เมาหลับ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตามจับกุมคุณ ป. ได้
Cr. pixabay
ตั้งแต่นั้นมาสถานะของคุณ ป. ก็เปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็น “ผู้ต้องหา” และอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าตำรวจที่แล้ว
การควบคุมตัวนั้น แน่นอนว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่มาพาคุณ ป. ไปอยู่ในห้องพักส่วนตัว ที่มีสมาร์ททีวี อินเตอร์เน็ต กาแฟเอสเพรสโซ่ร้อน ๆ ไว้ต้อนรับหรอกครับ แต่สถานที่ที่คุณ ป. จะได้ไปนอนเล่นระหว่างถูกควบคุมตัว เค้าเรียกกันว่า "ห้องขัง" ครับ
2
ซึ่งสภาพของห้องขังเป็นยังไงผมก็ได้บรรยายให้ฟังตอนต้นแล้ว
Cr. pixabay
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตัวคุณ ป. เองหรือญาติสนิท คงไม่ต้องการให้คุณ ป. ต้องไปนอนเล่นในห้องขังจริงมั้ยครับ แต่จะทำยังไงดี ถามใครในโรงพักก็ชี้ให้ไปหาคนนั้นที คนนี้ที
ผมจะบอกให้ครับ สิ่งที่คุณ ป. จะต้องทำต่อจากนี้ก็คือการ “ขอประกันตัว” หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ขอปล่อยตัวชั่วคราว”
เพื่อจะได้ไม่ต้องไปอยู่ในห้องขังนั่นเองครับ
แล้วจะขอประกันตัวยังไงล่ะ เคยดูแต่ในละคร เค้าก็มีทนายความมาจัดการให้ทั้งนั้น...ใจเย็น ๆ ครับ คนที่สามารถขอประกันตัวได้ ก็คือ ตัวคุณ ป. เอง หรือญาติสนิท
ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือภรรยา
ก็ได้ครับ
ส่วนขั้นตอนเป็นอย่างไร ผมจะอธิบายเป็นขั้นตอนอย่างนี้นะครับ
(1) ถ้าตกลงกันได้แล้วว่าใครจะเป็น
ผู้ประกันตัว ก็ให้ไปติดต่อกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้เลย แต่ถ้าไม่เจอตัวก็ให้ไปติดต่อกับตำรวจท่านไหนก็ได้ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการให้ โดยผู้ประกันตัวจะต้องเขียนคำร้อง (มีแบบฟอร์ม) และยื่นต่อเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
1
สำหรับการยื่นคำร้องประกันตัว จะต้องดูด้วยว่าในขณะที่ยื่นนั้น คดีได้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เพราะบุคคลที่เราต้องไปติดต่อเพื่อขอประกันตัวจะไม่เหมือนกัน
Cr. pixabay
*** สำหรับบทความนี้จะเน้นไปที่การขอประกันตัวในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนะครับ ***
กรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวและยังไม่ได้
ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการ เช่น หากคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดี
3
แต่ถ้าสำนวนคดีถูกส่งไปยังพนักงานอัยการแล้ว อำนาจพิจารณาเรื่องประกันตัวจะอยู่ที่พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าว
4
กรณีผู้ต้องหาถูกฝากขังต่อศาลหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น
(2) เมื่อรู้ว่าจะต้องยื่นคำร้องกับใครแล้ว คำถามต่อไปคือ คุณ ป. และญาติ ๆ จะต้องเตรียมเงินหรือทรัพย์สินสำหรับการประกันตัวหรือไม่ ?
Cr. pixabay
แน่นอนว่าคุณ ป. เป็นคนมีค่า การจะปล่อยตัวไปเฉย ๆ คงเป็นการไม่ให้เกียรติ ดังนั้น กฎหมายจึงได้กำหนดให้การขอประกันตัวอาจจะต้องมี “ประกัน” หรือ “หลักประกัน” สำหรับการพิจารณาปล่อยตัวด้วย
แต่สำหรับคดีที่มีโทษเล็กน้อย เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาให้ประกันตัวโดยไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้
กรณีของตำรวจหรือพนักงานอัยการ จะมีระเบียบภายในกำหนดประเภท ลักษณะของคดี หลักประกันและวงเงินที่ต้องใช้สำหรับความผิดในแต่ละประเภทไว้
ส่วนกรณีของศาลจะใช้ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันฯ มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณปล่อยตัว
(3) กลับมาที่คำว่า “ประกัน” กับ “หลักประกัน” กันซะหน่อย
Cr. pixabay
คำว่าประกันที่พูดถึงกันก็คือ "การทำสัญญาประกัน" ซึ่งในสัญญาจะระบุรายละเอียดของผู้ประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลย ระยะเวลาที่ให้ประกัน กำหนดนัดให้ผู้ประกันต้องพาผู้ต้องหา หรือจำเลยมาพบเจ้าหน้าที่ และจำนวนเงินค่าปรับหากมีการผิดสัญญาประกัน
ส่วนหลักประกันนั้น จะนำมาใช้ในกรณีที่มีอัตราโทษสูง เช่น คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและหนักแน่นว่า ผู้ประกันจะติดตาม ผู้ต้องหา หรือจำเลยให้มาพบเจ้าหน้าที่ตามกำหนด
ซึ่งสิ่งที่จะใช้เป็นหลักประกันได้นั้น กฎหมายก็แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ได้แก่
- เงินสด
- หลักทรัพย์ (เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินของกรมที่ดิน สลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล)
- ตัวบุคคลเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งอาจจะต้องเป็นบุคคลซึ่งมีตำแหน่งและรายได้แน่นอน พร้อมกับหลักฐานแสดงรายได้
Cr. pixabay
(4) การจะอนุมัติให้ประกันตัวหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัวก็ได้ โดยจะพิจารณาถึงความหนักเบาแห่งข้อหา
1
- พยานหลักฐานที่สอบสวนไปแล้วมีเพียงใด
- พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างใด
- เชื่อถือผู้ร้องขอประกันได้เพียงใด
- ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราว มีเพียงใด หรือไม่
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
หากเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวไปได้ก็จะนำสัญญาประกันและผู้ยื่นประกันลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
แต่ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก็จะแจ้งให้ผู้ประกันทราบและคืนหลักทรัพย์กลับไป
ซึ่งในขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีเวลาควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จจะต้องนำ
ผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลต่อไป
Cr. pixabay
(5) การประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ให้ใช้ได้ระหว่างการสอบสวน หรือจนกว่าจะถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวน หรือจนกว่าศาลประทับฟ้อง แต่ไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยตัว
ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจสอบสวนเสร็จภายใน 3 เดือน จะยืดเวลาการปล่อยตัวชั่วคราวให้เกิน 3 เดือนก็ได้ แต่ไม่ให้เกิน 6 เดือน
(6) เมื่อคุณ ป. ได้รับประกันตัวออกมาแล้ว แต่ไม่ยอมไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ หรือศาล ตามกำหนดนัดล่ะ จะมีอะไรเกิดขึ้น ?
Cr. pixabay
ตามกฎหมายเรียกกรณีอย่างนี้ว่า “ผิดสัญญาประกัน” ซึ่งถือว่าเป็นความผิดของผู้ประกันที่ไม่สามารถพาคุณ ป. มาพบเจ้าหน้าที่ตามกำหนด
หากในชั้นตำรวจหรืออัยการ จะมีสิทธิริบเงินประกันได้ทันทีตามระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดไว้
หากผิดสัญญาประกันในชั้นศาล ศาลจะสั่งบังคับตามสัญญาประกันโดยไม่ต้องฟ้อง ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันฯ
(7) ผู้ประกันสามารถขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันได้เมื่อใด ?
การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน สามารถทำได้เมื่อผู้ทำสัญญาประกันมอบตัวคุณ ป. คืนต่อเจ้าหน้าที่หรือศาล ส่วนขั้นตอนการคืนจะเป็นไปตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนดไว้ครับ
Cr. pixabay
สำหรับบทความนี้ ก็เป็นบทความสุดท้ายของซีรีส์ “ค้น จับกุม ประกันตัว” ซึ่งผมตั้งใจรวบรวมข้อมูลและพยายามเขียนสรุปให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนสามารถทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้ จริง ๆ แล้วมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะมาก หากผมนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านไม่ครบถ้วน หรือขาดตกบกพร่องประการใด ต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ
ขอบคุณที่ติดตามครับ
จบแล้วครับ ขอบคุณที่ติดตาม 🙏
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา