3 ต.ค. 2019 เวลา 13:19 • การศึกษา
“ตำรวจจะเข้ามาจับเราถึงในบ้านได้หรือไม่ ?”
บทความนี้เป็นเรื่องของ “การจับกุมในที่รโหฐาน” หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การเข้าไปจับกุมในบ้านนั่นเอง ซึ่งเป็นตอนที่ 4 ของซีรีส์ “ค้น จับกุม ประกันตัว”
Cr. pixabay
สำหรับคนที่เพิ่งได้อ่านบทความนี้เป็นตอนแรก ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่าน 3 ตอนที่แล้วก่อนเพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันและเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจสำหรับบทความนี้
แต่ใครที่อ่านแล้ว ขอเชิญมาต่อกับบทความนี้ได้เลยครับ
เริ่มจาก "หลัก" กันก่อน
ขอให้จำไว้ว่า โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้นบ้าน หรือจับกุมบุคคลได้นั้น จะต้องมี “หมายค้น” หรือ “หมายจับ” ก่อน
และหากต้องเข้าไปจับกุมบุคคลซึ่งอยู่ภายในบ้าน เจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีทั้ง
“หมายค้นและหมายจับ” (ทั้ง 2 หมาย)
จึงสามารถเข้าไปจับกุมบุคคลในบ้านได้
ดังนั้น หากใครพบเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ขอเข้าไปตรวจค้นเพื่อจับกุมบุคคลที่อยู่ในบ้าน ก็ขอให้ตรวจสอบทั้งหมายค้น และหมายจับอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน
สำหรับหมายค้น ผมเคยบอกไปแล้วว่า ให้เราค่อย ๆ อ่านรายละเอียด ตรวจสอบบ้านเลขที่ว่าถูกต้องหรือไม่ วัตถุประสงค์ของการค้น ๆ เพื่ออะไร และรายชื่อเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจค้นมีใครบ้าง ใครเป็นหัวหน้าชุดตรวจค้น
ส่วนหมายจับนั้น อับดับแรกให้ตรวจสอบก่อนว่ารายชื่อบุคคลในหมายนั้นตรงกับคนที่เจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมหรือไม่ ความผิดที่ถูกกล่าวหาคือเรื่องอะไร
หากรายละเอียดในหมายค้นและหมายจับถูกต้องครบถ้วนแล้ว เราซึ่งเป็นประชาชนคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะหากเข้าไปขัดขวางโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรแล้ว ก็อาจมีความผิดฐานต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานได้
แน่นอนเมื่อมีหลักก็ต้องมี "ข้อยกเว้น"
และข้อยกเว้นที่ง่ายที่สุดและมีคำพิพากษาฎีการองรับแล้วก็คือ การที่เจ้าหน้าที่ขอความยินยอมกับเจ้าบ้านเพื่อเข้าไปตรวจค้น ซึ่งหากได้รับความยินยอมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมีอำนาจเข้าไปภายในบ้านได้
ข้อยกเว้นอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ หากคนที่มีชื่ออยู่ในหมายจับเป็นเจ้าบ้าน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปในบ้านเพื่อเตรียมการจับกุมบุคคลซึ่งเป็นเจ้าบ้านนั้นได้เลยโดยไม่ต้องมีหมายค้น
แต่ทั้ง 2 ข้อที่ยกขึ้นมานั้น เป็นเพียงข้อยกเว้น “เงื่อนไขแรก” เท่านั้น คือ ให้เข้าไปในบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่การจับกุมยังคงทำไม่ได้หากยังไม่ผ่าน “เงื่อนไขที่สอง” ซึ่งก็คือ...
ถ้าเจ้าหน้าที่จะทำการจับกุม จะต้องมีหมายจับ หรือมีเหตุยกเว้นให้จับโดยไม่ต้องมีหมายก่อน
สำหรับข้อยกเว้นการจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับนั้น ผมได้เขียนไว้ในบทความที่แล้ว “อยู่ดี ๆ ตำรวจจะมาจับเราได้หรือไม่ ?”
แต่ถ้ายกตัวอย่างที่พบเห็นบ่อย ๆ ก็เช่น
เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือพบ
ผู้ต้องหาซึ่งหลบหนีระหว่างประกันตัวซ่อนอยู่ภายในบ้าน
โดยสาเหตุเหล่านี้ถือเป็นข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับได้
ขอยกตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกาเพื่อทดสอบความเข้าใจอีกครั้ง (ถ้าไม่เข้าใจ ค่อย ๆ ย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่บทความแรกของซีรีส์นี้อีกครั้งนะครับ)
“เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอความยินยอมจาก น. มารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุก่อนทำการค้น แสดงว่าการค้นกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมของ น.
แม้การค้นจะกระทำโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบไม่
นอกจากนี้ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการค้น ได้เห็นจำเลยซึ่งอยู่ในห้องนอนโยนเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ออกไปนอกหน้าต่าง อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า และได้กระทำลงในที่รโหฐาน
เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1) ,92(2)”
บทความนี้จะเป็นบทสรุปในเรื่องการค้นและจับกุม ในซีรีส์ “ค้น จับกุม ประกันตัว” แล้ว และบทความต่อไปจะเป็นบทความสุดท้ายของซีรีส์นี้
ซึ่งผมจะเขียนถึงเรื่องการ "ประกันตัว"
ในกรณีที่เราถูกจับและกลายเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา
หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น เราจะต้องทำยังไง ต้องขอประกันตัวกับใคร ต้องใช้หลักประกันหรือไม่ ฯลฯ
โดยผมจะสรุปไว้ในบทความที่จะถึงนี้
ซึ่งหวังว่าทุกคนจะให้การตอบรับที่ดีเหมือนที่ผ่านมานะครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา