2 ต.ค. 2019 เวลา 09:20 • การศึกษา
"อยู่ดี ๆ ตำรวจจะมาจับเราได้หรือไม่ ?"
มาถึงตอนที่ 3 แล้วนะครับ สำหรับบทความซีรีส์ "ค้น จับกุม ประกันตัว"
Cr. pixabay
สำหรับซีรีส์นี้ผมทำขึ้นมาเพราะอยากให้ทุกคนได้รู้ถึงสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม
เช่น หากอยู่ ๆ ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นหรือถูกจับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาขึ้นมา ประชาชนอย่างพวกเราจะมีสิทธิทำอะไรได้บ้าง
ซึ่งบทความในตอนที่ 3 นี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "การจับกุม"
ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ตอน ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านก่อนนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน ความเข้าใจพื้นฐานที่ผมได้วางไว้ใน 2 บทความที่แล้ว จะนำมาใช้ในบทความนี้ด้วย
เมื่อพูดถึงการจับกุมคงไม่มีใครที่อยากถูกจับอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากวันดีคืนดีเราเผลอไปทำผิดกฎหมาย ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจจะไปเยี่ยมถึงที่บ้านได้
โดยหลักแล้ว หากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับใครสักคน กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องมีหมายจับหรือคำสั่งของศาลก่อน "ถ้าไม่มี จับไม่ได้"
เพราะฉะนั้น การที่ศาลจะออกหมายจับได้ก็จะต้องมีหลักฐานที่หนักแน่นพอสมควรและต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
1
เช่น เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะกระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี (เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ เป็นต้น) หรือ
เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตราย
ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ว่านี้เท่านั้นศาลถึงจะออกหมายจับได้
ย้อนกลับมาเรื่องการจับกุม....
เช่นเดียวกับเรื่องการค้น ผมขอแยกการจับกุมออกเป็น 2 ประเภท คือจับกุมในที่สาธารณะหรือสาธารณสถาน และจับกุมในที่รโหฐาน
ในบทความนี้จะเขียนถึงการจับกุมในที่สาธารณะหรือสาธารณสถานก่อน
หากเจ้าหน้าที่มีหมายจับและพบบุคคลตามหมายจับในที่สาธารณะ หรือสาธารณสถาน เช่น ตามท้องถนน หรือห้างสรรพสินค้าในเวลาเปิดทำการแล้ว
เจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจเข้าจับกุมบุคคลตามหมายจับนั้นได้
แต่ในสถานการณ์จริง การรอศาลเพื่อพิจารณาออกหมายจับอาจจะไม่ทันการ กฎหมายจึงมี "ข้อยกเว้น" ให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า (สำหรับคำว่า "ความผิดซึ่งหน้า" ผมได้อธิบายไว้ในบทความที่แล้วครับ
2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าน่าจะก่อเหตุร้ายเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น โดยมีอาวุธ เครื่องมือหรือวัตถุที่อาจใช้ทำความผิด
3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับ แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกประกันตัว
หากเข้าข้อยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งจาก 4 ข้อดังกล่าวและพบผู้ต้องสงสัยในที่สาธารณะหรือสาธารณสถานแล้ว เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าจับกุมบุคคลดังกล่าวได้ตามครับ
ขอยกตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกาเพื่อให้เห็นภาพซักเรื่องหนึ่ง
"ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยนั้น จำเลยกำลังขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยซึ่งมีลูกค้ากำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านของจำเลย
ดังนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยจึงหาใช่เป็นที่รโหฐานไม่แต่เป็นที่สาธารณะสถาน
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
และเมื่อตรวจค้นพบเม็ดแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับการตรวจค้นและจับกุมจึงชอบด้วยกฎหมาย"
1
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3751/2551)
สำหรับบทความต่อไปผมจะเขียนถึงเรื่องการจับกุมในที่รโหฐานและต่อด้วยเรื่องการประกันตัวเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา
หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อย...
ขอบคุณครับ 😚
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา