10 ต.ค. 2019 เวลา 10:28 • สุขภาพ
"กะปิ" รสอูมามิจากธรรมชาติ
Cr. ขอบคุณ​ภาพ​จาก​Internet 🙏
กะปิ​ หรือ​ทางภาคใต้เรียกว่า​ เคย​ ล้วนเป็นเครื่องปรุงชูรสอาหารที่ขาดไม่ได้​ ต้องมีอยู่คู่ครัวไทย​ สารพัดเมนูอาหารไทย​ล้วนต้องมี "กะปิ" ผสมอยู่ในแทบจะทุกเมนูอาหาร​
ย้อนไปสมัยที่ฉันยังเด็ก​ จำได้ว่านอกจากที่บ้านย่าจะทำน้ำปลาเอาไว้บริโภคเองแล้ว​ ก็ยังมีการทำกะปิด้วยเช่นกัน​เพราะเวลาวิดน้ำออกจากนา นอกจากปลา​ ก็จะมีพวกกุ้งฝอยติดมาด้วย​ กะปิ​ที่ย่าของฉันทำนี้เป็นกะปิจากกุ้งฝอยน้ำจืด​ ซึ่งลักษณะ​ของตัวเนื้อกะปิ​รวมทั้งรสชาติและกลิ่นของกะปิจากกุ้งน้ำจืดนี้จะแตกต่างจากกะปิที่ทำจากกุ้งน้ำเค็มหรือจากกะปิที่ทำจากเคย....
กุ้งฝอยที่ได้จากการวิดนา​นี้จะอยู่ปะปนกับปลาและพวกเศษหญ้าเศษใบไม้​ ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการคัดแยก ย่าของฉันจะจัดแจงเกณฑ์​คนในบ้านมาช่วยกันคัดแยก ฉันและน้องคือลูกมือคนสำคัญของย่าสำหรับหน้าที่นี้​
ภาพกุ้งฝอยน้ำจืด​ Cr.​ รูปภาพจาก​ Internet​🙏
กุ้งฝอยที่ได้มาต้องนำมาล้างทำความสะอาด​ ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ​แล้วจึงเอามาเคล้ากับดอกเกลือ​ หรือจะใช้เกลือสมุทรก็ได้​ ที่บ้านฉันย่าจะใช้เกลือสมุทรที่ซื้อจากเรือขายเกลือที่แล่นมาจากมหาชัย​ หากเกลือเม็ดใหญ่เกินไปย่าจะให้เอาเกลือไปตำให้พอแหลก​ เพื่อเวลาเคล้ากับกุ้งฝอยแล้วเกลือซึมเข้าตัวเนื้อกุ้งได้ดี​
การทำกะปิ​นั้นต้องใช้การหมักกุ้งกับเกลือ​ ดังนั้นการกะปริมาณเกลือและกุ้งฝอย​ที่บ้านของฉันก็จะใช้วิธีแบบบ้านๆ​ ตามที่ย่าบอกคือ​ เกลือ​ 1 ชามแกง​ ต่อ​กุ้งฝอย​ 7​ชามแกง​ เกลืออาจจะมีปรับเพิ่มหรือลดได้ตามขนาดของตัวกุ้งฝอยที่ได้มา ​(การชั่งตวงนี้ฉันยึดตามแบบของย่า​ อาจจะแปลกแตกต่างจากสูตรการหมักของท้องที่อื่นๆ)​ จากนั้นก็เตรียมเคล้ากุ้งฝอยกับเกลือเข้าด้วยกันแล้วเอาใส่โอ่งหรือไห​ ปิดฝาโอ่งหรือไหให้สนิท​ หมักทิ้งเอาไว้สัก​ 2 อาทิตย์​หรือจนตัวกุ้งฝอยเปลี่ยนเป็นสีแดงออกส้มๆ​
เมื่อกุ้งฝอยที่หมักเอาไว้ครบกำหนดเวลาและตัวกุ้งฝอยเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม​แล้ว​ ย่าจะตักเอากุ้งฝอยที่หมักได้ที่แล้วนี้ใส่ในภาชนะชนิดหนึ่งที่สานด้วยไม้ไผ่เรียกว่า​ กระด้ง​ แล้วจึงนำออกมาตากแดด​พอให้กุ้งฝอยหมาด​ จึงจะเริ่มนำกุ้งฝอยนี้ไปตำในครกไม้ใบโตให้ละเอียด.... ในบางท้องที่อาจจะตำกุ้งฝอยที่เคล้าเกลือแล้วแค่พอหยาบๆ​ ก่อนนำไปหมัก​ให้ตัวกุ้งแดง
ตำกุ้งฝอยให้เป็นกะปิด้วยครกไม้ใบใหญ่และสากไม้อันยาว​ บ้านย่าฉันมีครกไม้นี้​ 2 ใบ​ ย่าบอกว่าสมัยก่อนก็ใช้ครกไม้นี้ในการตำข้าว​​ด้วย
Cr. ขอบคุณ​ภาพ​จาก​ Internet​🙏
ย่าจะค่อยๆ​ ใช้ทัพพีที่แห้งสนิทตักกุ้งฝอยที่ผ่านการตากให้พอหมาดๆ​ ลงในครกไม้นี้​ ส่วนมือตำ​ก็ไม่ใช่ใครอื่น​ก็บรรดาอาๆ​ ของฉัน​ที่เป็นผู้ชายพอมีกำลัง​ที่จะยกสากไม้​ แรกๆการตำอาจจะไม่ลำบากมากยกสากไม้ขึ้นลงเป็นจังหวะกันอย่างรวดเร็ว​เพราะตัวกะปิยังหยาบอยู่​ แต่พอเนื้อกะปิเริ่มละเอียดขึ้น​ จังหวะการตำก็จะช้าลงเพราะความหนืด​ของเนื้อกะปิที่ดูดสากเอาไว้​ ย่าก็จะใช้ทัพพีขูดเอาเนื้อกะปิที่ติดสากออกเพื่อให้การตำง่ายขึ้น​ เนื้อกะปิเมื่อตำละเอียดแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงตุ่นๆ​ เนื้อสัมผัสก็จะนิ่มแต่ไม่เหลว​ และมีกลิ่นเฉพาะตัว​
ภาพกะปิกุ้งฝอยน้ำจืด​ Cr. https://www.technologychaoban.com/
ในบางพื้นที่เขาจะนำกุ้งฝอยที่หมักไว้มาตำเลยโดยที่ไม่ได้ตากแดดก่อน​เนื้อกะปิที่ได้ก็จะนิ่มจนถึงเหลว​
เมื่อได้กะปิที่ตำจนละเอียดดีแล้ว​ ย่าจะเอากะปินี้ใส่ลงในโหลแก้วที่ล้างทำความสะอาดและตากแดดจนโหลแห้งสนิท​ โดยขั้นตอนนี้ย่าจะเป็นคนทำเอง​ ส่วนฉันก็อยากรู้อยากเห็นจนย่าอนุญาต​ให้นั่งดูอยู่นิ่งๆ​ ห้ามวุ่นวาย​ ย่าจะค่อยๆตักกะปิใส่ในโหลแก้วพร้อมกับใช้ช้อนกดเนื้อกะปิให้แน่นติดกันจนไม่มีฟองอากาศ​ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนเกือบเต็มโหล​แล้วจึงเอาดอกเกลือโรยปิดทับด้านบนนิดหน่อยแล้วจึงปิดฝาโหล​ให้สนิท​
จากนั้นย่าก็จะเอาเจ้าโหลกะปินี้ไปตั้งตากแดดโดยจะมีชามหรือกะละมังใบเขื่องครอบปิดฝาโหลอีกชั้นเพื่อกันน้ำและแมลง​ จากนั้นจึงนำไปตั้งตากแดดที่ชานบ้าน​
(ย่าฉันเรียกชานบ้านว่า​ "นอกร้าน")
กะปิที่บรรจุโหลแล้วจะยังรับประทานเลยไม่ได้​ จะต้องหมักต่อในโหลอีก​ประมาณ​ 2 เดือน​ ที่บ้านฉันย่าจะเอาโหลกะปินี้ออกมาตากแดดทุกวัน​​ ย่าบอกว่าการเอากะปิมาตากแดดนี้จะยิ่งทำให้กะปิมีรสชาติที่อร่อยมากขึ้น​ และกลิ่นหอมมากขึ้น​ด้วย​
บางพื้นที่เขาจะเอากะปิใส่ไหแล้วปิดฝาให้สนิทหาชามหรือกะละมังมาครอบอีกชั้นแล้วตั้งทิ้งไว้ตามชานบ้านปล่อยให้ตากแดดตากลม ไม่ต้องเสียเวลายกเข้ายกออกมาตากแดดแบบบ้านฉัน​
1
เมื่อกะปิหมักได้ที่ดีแล้ว​ ก็เก็บไว้บริโภคกันภายในครัวเรือนได้อีกเป็นปี บ้านฉันสมัยก่อนจึงไม่เคยได้ซื้อกะปิจากตามท้องตลาดเลย....
Cr. ขอบคุณ​ภาพ​จาก​Internet🙏
โฆษณา