12 ต.ค. 2019 เวลา 08:25 • ประวัติศาสตร์
“อันที่จริงเธอก็ชื่อ ‘ภูมิพล’ ที่แปลว่า ‘กำลังของแผ่นดิน’ ... แม่อยากให้เธออยู่กับดิน”
2
“เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน...และอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน”
“ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร”
หลายท่านอาจทราบดีแล้วว่า เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า พระองค์จะครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะจัดงานพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 ให้งดงามสมพระเกียรติเท่านั้น
เมื่อถึงวันที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อจึงเกิดเสียงซุบซิบว่า... "พระองค์จะไม่กลับมา"
ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาว่า... "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน"...
เสียงนี้เองที่ทำให้ทรงค้นพบว่า...
“ราชสมบัติที่แท้จริงคือประชาชนที่จะละทิ้งไม่ได้”
ในวันนั้นพระองค์มีวัยเพียง 18 พระชันษา จากที่ทรงคิดขึ้นครองราชย์เพื่อพี่ชาย กลับกลายเป็นพระราชปณิธานที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนอย่างแท้จริง จนกลายเป็นพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า…
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะสวรรคตไปแล้วถึงสามปี แต่พสกนิกรของพระองค์กลับไม่เคยคิดเลยว่าพระองค์ได้จากไปแล้ว
“ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”
และสิ่งที่พระองค์เคยแนะนำสั่งสอนไม่ได้สูญหายไปไหน รู้รักสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รู้กิน รู้ใช้ รู้เก็บ ใช้ชีวิตแบบพอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อเกินฐานะเกินกำลัง
คำสอนเหล่านี้จะยังเป็นเหมือนดวงประทีปส่องทางให้ประชาชนของพระองค์ได้นำมาปรับใช้เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร
14 สิงหาคม 2525
“คนเราต้องเตรียมตัว เพื่อที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต แต่การเตรียมตัวนั้น ก็ต้องมีความรู้ประกอบด้วย มีการฝึกนิสัยใจคอของตนให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ด้วย สิ่งที่สำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคือ ต้องรู้จัก ตัวเอง รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร รู้ว่าตัวต้องการอะไร”
กระแสพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่
3 มกราคม 2516
“การทำงาน...เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริง ๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
8 กรกฎาคม 2530
1
“การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ”
พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา
27 มีนาคม 2523
“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคน จะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
4 ธันวาคม 2533
“การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถ ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกัน และขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 กรกฎาคม 2530
“ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบ คือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานี
24 สิงหาคม 2519
“หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10 กรกฎาคม 2535
คำสอนเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของร้อยพันคำสอนที่พ่อให้ไว้เพื่อเป็นประทีปส่องทางให้พวกเราทุกคน
พรุ่งนี้เป็นวันครบรอบการจากไปของพระองค์ท่าน อย่าลืมทำความดีถวายท่านกันนะคะ
#pordee
เรียบเรียงจากหนังสือ "คำพ่อสอน"
โฆษณา