Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านหนังสือพัฒนาตนเอง
•
ติดตาม
14 ต.ค. 2019 เวลา 02:15 • หนังสือ
งานไม่ประจำทำเงินกว่า
50 ข้อคิดสู่อิสรภาพแห่งชีวิต
มาเจอกับหนังสือเล่มโปรดที่ผมอ่านหลายรอบมาก ๆ กันครับ เป็นหนังสือที่ให้แนวคิดที่จะโคตรดีและตรงกับชีวิตจริงของใครหลาย ๆ คนอย่างมาก หนังสือเล่มนี้คนเขียนคือ "คุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ" ใครหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินหรือเคยเห็นหนังสือเล่มนี้ผ่านหูผ่านตามาแล้วบ้างนั้น วันนี้ผมจะมาเล่าอย่างละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนได้ฟังได้อ่านไปพร้อม ๆ กัน
หนังสือ "งานไม่ประจำทำเงินกว่า" หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จะชวนให้คุณลาออกจากงานประจำ แต่ถ้าคุณคิดแบบนั้นอยู่แล้ว หรือกำลังอยากจะมีชีวิตอิสระ หนังสือเล่มนี้มีวิธีคิดและวิธีการอะไรบางอย่างที่ช่วยคุณได้
หากเป็นพนักงานประจำ ก็ไม่ต้องรีบร้อนลาออกมาเพื่ออิสรภาพ แต่ลองมองหาอะไรบางอย่างในใจ แล้วดึงออกมาทำคู่กัน และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรามั่นใจว่า "งานไม่ประจำทำเงินกว่า" เมื่อนั้นอิสรภาพก็จะเข้ามาในชีวิต มาพร้อมกับ 50 ข้อคิดสู่อิสรภาพแห่งชีวิต งานที่ไร้กรอบไม่ต้องตอกบัตร แต่ก็รวยได้
คุณไม่มีทางเล่นกีต้าร์เก่งได้ในวันเดียว คุณไม่มีทางพูดภาษาอังกฤษปร๋อได้ในคืนเดียว คุณไม่มีทางเล่นหุ้นเป็นในการเทรดครั้งเดียว แต่คุณสามารถทำทั้งหมดที่ว่ามา (หรืออะไรก็ได้ที่คุณอยากทำเป็น) เพียงแค่ค่อย ๆ ให้เวลากับมันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
2
การเป็นเจ้าของชีวิตอิสระหมายถึงคือชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไร แล้วชีวิตแบบนั้นมันมีคุณค่าตรงไหน? ชีวิตอิสระคือ "ชีวิตที่เราสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ โดยปราศจากซึ่งความกังวล
เขียนถึงความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน และตัวเราเองต้องรู้เป้าหมายปลายทางของชีวิตตัวเอง ต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก่อนอายุ 40 ปี อย่าจำกัดความสามารถของตนเองมากจนเกินไป และเราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
บางครั้งแค่ความสงสัยเล็ก ๆ ก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราได้ คนที่มาเดินห้างวันธรรมดาตอนกลางวัน ดูหนังรอบเช้า เขาและเธอคือใครกันหนอ? ทำงานทำการอะไรกัน? ใยจึงมีชีวิตเช่นนี้ได้? โลกใบนี้มันต้องมีงานอื่นนอกจากงานประจำ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นแน่นอน
คุณเป็นคนแบบไหน?
1). ได้ทำงานที่รัก ได้ค่าตอบแทนดี มีอนาคต
2). ได้ทำงานที่รัก แต่ค่าตอบแทนค่อนข้างแย่ แต่ไร้อนาคต
3). ได้ทำงานที่ไม่รัก แต่ได้ค่าตอบแทนดี มีอนาคต
4). ได้ทำงานที่ไม่รัก แถมยังได้ค่าตอบแทนที่แย่ ไร้อนาคต
**ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหนก็ตาม คุณเปลี่ยนแปลงมันได้ ทุกอย่างอยู่ที่การเลือกและการตัดสินใจของคุณ**
ผมกำลัง Work with (ทำงานกับ)
ไม่ใช่ Work for (ทำงานให้กับ)
ตลอดการทำงานทุกชิ้นในงานประจำ คุณเพียงเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ขณะทำงาน คุณคือหุ้นส่วนธุรกิจไม่ใช่ลูกจ้าง ถ้าสำเร็จ เราก็สำเร็จไปด้วยกัน แล้วคุณจะได้ประสบการณ์มูลค่ามหาศาล
"วันนี้เราทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน?" / "คิดว่ากำลังทำงานให้ใครอยู่หรือเปล่า"
ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ แท้ที่จริงแล้วตระหนักสักนิดว่า "เรา" ต่างหากที่จ้าง "ตัวเราเอง" ทำงาน เราจ่ายค่าจ้างเป็น "เวลา" และ "สุขภาพ" ที่แลกไปในแต่ละวัน เราไม่ได้เป็นลูกจ้างของใคร "เรา" ต่างหากที่จ้างตัวเราเองทำงาน
คนกินเงินเดือน จะถามก่อนเลยว่าเบิกอะไรได้บ้าง วันหยุดกี่วัน สวัสดิการเป็นยังไง แต่ฟรีแลนซ์จะรู้ว่าชีวิตของตัวเอง ตัวเองต้องรับผิดชอบเอง ว่ากันที่เรื่องงานอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ต้องมารับผิดชอบเขา
คุณต้องพิสูจน์ตัวเองว่า "คุณคือพนักงานประจำมืออาชีพ ไม่ใช่ มนุษย์รอเงินเดือนไปวัน ๆ"
"คุณเชื่อในกฏแห่งแรงดึงดูดมั้ย?"
คุณลองดูก็ได้ครับ ลองขอหรือคิดถึงสิ่งที่คุณต้งการ คุณอยากได้อะไรก็พูดออกมา คิดถึงมันบ่อย ๆ หายใจเข้าก็คิดถึง หายใจออกก็คิดถึง ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรอย่างแท้จริงและชัดเจน เราและสิ่งนั้นจะทั้งดึงทั้งดูดเข้าหากันเอง
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนรวยก็คือ "พวกเขาไม่เคยมีรายได้ทางเดียว" แต่มีสายธารแห่งรายได้หลายสายมาบรรจบกัน
รายได้สามแบบที่ทุกคนควรจะมี :
1). รายได้ลิขสิทธิ์ [ระยะยาว / ปี]
ส่วนแบ่ง ค่าเช่า ดอกเบี้ยปันผล อาจได้ไม่เยอะ แต่ได้ยาว ๆ
2). รายได้ก้อนใหญ่ [ระยะกลาง / เดือน]
มาไม่บ่อย แต่ทำไม่กี่วันกินได้ทั้งเดือน (หรือหลายเดือน)
3). รายได้ก้อนไม่ใหญ่ [ระยะสั้น / วัน]
แต่ใช้เวลาทำไม่เยอะ
ชีวิตที่มีทางเลือก มันไม่เครียด และมันปลอดภัยกว่าการที่เราจะวางไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
ถ้า "รวย" หมายถึงการที่เราสามารถรักษาคุณภาพชีวิตและไลฟ์สไตล์ของเราได้ เช่น คนที่เรารักเจ็บป่วย ก็สามารถพาไปรักษากับหมอดี ๆ ในโรงพยาบาลดี ๆ ที่เราอยากได้ ไม่ใช่เท่าที่เรามีจ่าย สามารถส่งลูกให้มีการศึกษาดี ๆ ที่เราอยากให้เรียน ไม่ใช่เท่าที่เราส่งได้ มีบ้านที่เราอยากอยู่ ไม่ใช่เท่าที่เรามีเงินผ่อน ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้เราทุกคนควรจะต้อง "รวย"
สิ่งสำคัญอย่าปล่อยให้ตัวเองมีทางเลือกเดียว เพราะการมีทางเลือกเดียวเรียกอีกอย่างว่า "ไม่มีทางเลือก" มันเสี่ยงมาก ๆ ที่เราจะฝากชีวิตของเราไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าจำเป็นที่จะต้องฝากจริง ๆ คนคนนั้นก็ควรเป็น "ตัวเราเอง"
งานที่ทุกคนทำไม่ว่าจะประจำหรือไม่ประจำนั้นก็คือ "งานบริการอะไรสักอย่าง" ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่างานบริการของเรานั้นเจ๋งและส่งผลต่อคนมากน้อยแค่ไหน?
ถ้างานบริการของคุณเจ๋ง และส่งผลต่อคนจำนวนมหาศาล แบบนี้เศรษฐีชัด ๆ และยังจะเป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั้งโลกด้วย มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก กับ facebook ของเขาคืออะไรที่ชัดเจนในเรื่องนี้
ทำงานหนักแปลว่าขยันแน่นอน ไม่ต้องสงสัย แต่ทำงานหนักแปลว่าฉลาดหรือเปล่า บางทีอาจไม่ใช่
คนรวยและคนฉลาดส่วนใหญ่ "ทำงานไม่หนักพร่ำเพรื่อ แต่เขาโฟกัสชัดเจน ตรงจุด ตรงประเด็น ทำน้อย ได้ผลมาก"
คำถามสำคัญก็คือ "วันนี้เราใช้เครื่องทุ่นแรงอะไรในการหาเลี้ยงชีพ?" เรายังเอาเวลาไปแลกเงินหรือเปล่า? เรามีเครื่องทุ่นแรงในการหารายได้มั้ย?
คนรวยจะยอมจ้างคนอื่นทำ แล้วตัวเองก็ดูแลนิดหน่อย อาจจะแค่ 1% ของเวลาทำงาน บางครั้งคนรวยยอมให้คนอื่นได้ไป 70% ตัวเองรับ 30% ก็พอ ฟังดูเหมือนน้อย แต่อย่าลืมว่าคนรวยยังเหลือเวลาอีกตั้ง 99% เค้าสามารถจ้างคนอื่นทำได้อีก 99 คน เพื่อรับรายได้ 99×30% = 2,970% มากกว่าคนทั่วไปถึง 30 เท่า! เลยทีเดียว
หนึ่ง :
ค่าเงินนั้นลดลงเรื่อย ๆ แม้กระทั่งในเกมเศรษฐี ถ้ารายได้เราไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่เอาเงินเก็บไปลงทุนให้งอกงาม เราจนลงแบบไม่รู้ตัวแน่นอน
สอง :
ทำไมเราไม่เอาแนวคิดของเกมเศรษฐีมาใช้ตอนโต? เพราะคนที่ชนะในเกมนี้ก็คือ คนที่เป็นเจ้าของที่ดิน บ้าน โรงแรม หรือพูดรวม ๆ ก็คือเขาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่สร้างรายได้
กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ "คนรวยชอบหาเงิน ส่วนคนทั่วไปชอบใช้เงิน"
คนรวยชอบพูดถึงอนาคต ส่วนคนจนชอบบ่นถึงอดีต คนรวยนั้นตัดสินใจเร็ว เปลี่ยนใจยาก ส่วนคนทั่วไป ตัดสินใจช้า แต่เปลี่ยนใจง่าย เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รวย จึงไม่ใช่เพราะไม่รู้วิธีรวย แต่เพราะมันยากกว่า ก็เลยตัดสินใจว่าทำไอ้ที่ง่าย ๆ แล้วจนต่อไปดีกว่า
คนจนนั้นพูดถึงรายได้เป็นรายวัน
คนชั้นกลางนั้นพูดถึงรายได้เป็นรายเดือน
คนรวยนั้นเขาพูดถึงรายได้เป็นรายปี
"สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงระยะของวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน"
1
เมื่อมีเงินอยู่ในมือ : คนทั่วไปจะคิดว่าจะเอาไปซื้ออะไรดี เหนื่อยมาทั้งเดือน เดี๋ยวเดือนหน้าก็ต้องเหนื่อยอีก คนรวยจะคิดว่าจะเอาเงินไปลงทุนอะไรดี เหนื่อยมาทั้งเดือน เดือนหน้าจะได้ไม่ต้องเหนื่อยอีก
1
"คำถามที่ดี" นั้นถึงขั้นกำหนด "คุณภาพชีวิต" เราได้
คนจนนั้นพูดและถามแต่เรื่องอดีต
คนชั้นกลางพูดและถามเรื่องปัจจุบัน
คนรวยพูดและถามเรื่องอนาคต
2
แค่เปลี่ยนคำถาม ภาพในหัวก็เปลี่ยน
และถ้าภาพในหัวเปลี่ยน ความเชื่อก็จะเปลี่ยน
และถ้าความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกก็เปลี่ยน
และถ้าความรู้สึกเปลี่ยน การกระทำก็เปลี่ยน
และถ้าการกระทำเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยน
และถ้าผลลัพธ์เปลี่ยน ชีวิตเราก็จะเปลี่ยน
เพราะฉะนั้นถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต จงเปลี่ยนคำถามที่ถามกับตัวเอง
"ตื่นเต้นกับเย็นวันศุกร์" หรือ "คอยเฝ้าเช้าวันจันทร์" สิ่งนี่เป็นคำถามที่เอาไว้วัดความรักในการทำงาน
จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
2
แค่อ่านยังน่าเบื่อเลย เพราะฉะนั้นเราต้องมี "เหตุผลในการมีชีวิตอยู่" แล้วทุก ๆ วันจะเป็น "วันสุข"
เดี๋ยวนี้บริษัทยุคใหม่นั้นมีภาระเพิ่มขึ้นอีกอย่างนึงก็คือ "ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกเท่ คูล เจ๋ง ที่ได้ทำงานกับบริษัทนี้?" และมันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันคือความภาคภูมิใจ เช่น iStudio ,Starbucks ,Uniqlo
บริษัทต้องทำให้เป้าหมายของพนักงานกับเป้าหมายองค์กรเป็นเป้าหมายเดียวกัน จึงทำให้พนักงานบริษัทดูกระตือรือล้นอยู่ตลอดเวลาสม่ำเสมอ
สมมติว่าคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท เดือนนึงทำงาน 22 วัน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางไปกลับ 2 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมง/วัน เท่ากับคุณทำงานเดือนละ 220 ชั่วโมง คุณจะมีค่าตัวชั่วโมงละ 68~70 บาท
3
× ถ้าบ่ายนี้คุณกินกาแฟสตาร์บัคแก้วละ 140 บาท เท่ากับคุณแลกชีวิตไป 2 ชั่วโมง เพื่อกาแฟแก้วนั้น
× ถ้าคุณซื้อไอโฟนเครื่องละ 30,000 บาท เท่ากับคุณแลกชีวิตไป 428 ชั่วโมง เพื่อมือถือเครื่องนั้น
× ถ้าคุณซื้อรถยนต์คันละ 700,000 บาท เท่ากับคุณแลกชีวิตไป 10,000 ชั่วโมง เพื่อรถคันนั้น
อายุเฉลี่ยคนเราอยู่ที่ 70 ปี หรือ 613,200 ชั่วโมง ถ้านอนวันละ 8 ชั่วโมง เราก็จะเหลือชีวิตที่รู้สึกตัวอยู่ 408,800 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไรควรคิดก่อนที่จะทำ ทุกสิ่งที่ทำตีค่าเป็นราคาชีวิตทั้งนั้น
ทำงานที่บ้านนั้นมีข้อดีเยอะมาก
ในแง่ลูกจ้างได้อยู่กับครอบครัว มีเวลาอบรมลูก ดูแลพ่อแม่
ในแง่นายจ้าง ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสถานที่ไปได้เยอะ
ในแง่ประเทศชาติ แก้ปัญหารถติด ประหยัดการเผาผลาญพลังงานชาติ
ทุกวันนี้เราติดต่อกันได้อย่างง่ายดาย อินเตอร์เน็ตก็เร็วแรง สามารถสื่อสารผ่านช่องทาง อีเมล Line Facebook และโทรศัพท์ก็ยังได้ ถ้าคิดถึงกันก็มาเจอหน้าเจอตากันอาทิตย์ละครั้งเพื่อสังสรรค์ งานก็ออกมาดี มีคุณภาพ ไม่ต่างกับการนั่งทำงานที่ออฟฟิศ (เผลอ ๆ อาจจะมากกว่า)
เราต่างก็รู้ว่าวันเวลาดี ๆ ไม่เคยอยู่กับเราไปตลอด และเรามั่นใจได้อย่างไรว่าวันนี้จะไม่ใช่วันสุดท้ายที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักและรักเรา
บ่อยครั้งที่เราเอาเวลาไปแลกเงิน แล้วก็เอาแต่บอกว่า "เอาไว้ก่อนนะลูก ป๊ายังไม่ว่าง" คงจะเจ็บพิลึก ถ้าลูกจำแผ่นหลังของเราที่กำลังทำงานได้มากกว่าใบหน้า
1
มันไม่ใช่แค่ "สตางค์" แต่ "สไตล์" ต่างหากคือสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริง
"อยากมีไลฟ์สไตล์แบบไหน?" คือคำถามแรกที่ผมคิดว่าเราควรจะถามตัวเอง คำถามต่อมาจึงค่อยเป็นคำถามที่ว่า "แล้วทำอย่างไร ต้องใช่สตางค์เท่าไหร่เพื่อให้ได้ไลฟ์สไตล์นั้น?" จากนั้นจึงวางแผน แล้วลงมือทำให้ได้ไลฟ์สไตล์นั้นมาครอบครอง
จริงอยู่ที่เป้าหมายของชีวิตนั้นไม่ใช่ "เงิน" แต่คือ "ความสุข" แต่เราก็ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ ความสุขก็ต้องใช้เงินซื้อ
ประเด็นก็คือ ถ้าคุณสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องใช้เงินมากเท่าไหร่ มันก็เหมือนคุณเจอทางลัดออกจากป่าเพื่อไปสู่แหล่งน้ำอันชื่นใจเร็วเท่านั้น
ประโยคที่ทุกคนส่วนใหญ่เข้าใจคือ "ระหว่างทางนั้นสำคัญกว่าเป้าหมาย" แต่ที่ถูกต้องมันคือ "เป้าหมายนั้นสำคัญ แต่อย่าลืมมองความงามระหว่างทางด้วย" บางทีมันอาจถึงเวลาแล้วที่เราควรพิจารณาว่าประโยคเท่ ๆ แต่ผิดตรรกะนั้นได้ทำลายศักยภาพของเราไปเท่าไหร่แล้ว
ถ้าวันนึงเราเดินไปเจอแบงค์พันกับช่อดอกไม้ตกอยู่ที่พื้น แล้วทำไมเราจะต้องเลือกเก็บแค่อย่างเดียวด้วย?
มันไม่ใช่แค่การหาเงินให้ได้มากที่สุด มันไม่ใช่การมีเวลาว่างให้ได้มากที่สุด แต่ชีวิตคือ ศิลปะของการเลือกใช้เวลาที่มีอยู่ไปกับอะไรที่มีความหมายกับเราต่างหาก
มันไม่ง่ายที่จะขี้เกียจ ถ้าเราอยู่ในหมู่คนขยัน
มันไม่ง่ายที่จะขยัน ถ้าเราอยู่ในหมู่คนขี้เกียจ
สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลกับเรามาก เพราะฉะนั้นตัวช่วยนึงที่จะทำให้เราไปสู่ความสำเร็จในแบบที่ต้องการคือ "เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา"
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เราก็จะเปลี่ยนตาม คบกับคนเดิม ๆ คุยกับคนเดิม ๆ ทำงานกับคนเดิม ๆ เราก็จะมีชีวิตแบบเดิม ๆ เพราะศัตรูของความก้าวหน้านั้นมีชื่อว่า "ความเคยชิน"
ถ้าจะสูญเสียอะไรไปอย่างน้อยขอให้ "เหลือ(ความ)เชื่อ" ไว้นะครับว่าเราทำได้
ศึกษาเรื่องความแตกต่างของคนทั่วไปกับคนสำเร็จ แน่นอนว่าคนสองประเภทนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมากมายหลายข้อ
ตัวอย่าง...
คนทั่วไป รอคอยวันหยุด
คนสำเร็จ รอคอยวันทำงาน
คนทั่วไปกับคนสำเร็จต่างกันตรงไหนที่สุด?
"คนทั่ว ๆ ไปต้องสำเร็จก่อนเขาจึงจะเชื่อ ส่วนคนสำเร็จนั้นเพราะเขาเชื่อก่อนเขาจึงสำเร็จ"
ความสำเร็จเกิดขึ้นสองครั้งเสมอ..
ครั้งแรกในจินตนาการ
ครั้งที่สองในความเป็นจริง
ในหนังสือพัฒนาตนเองหลายเล่ม ทุกเล่มพูดเหมือนกันเรื่องการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและให้เขียนมันลงไปบนกระดาษ 10 ข้อ แล้วแปะข้างฝาไว้
สิ่งที่คุณต้องการจะเป็นความจริงแน่นอน !!
ขั้นตอนสู่ความสำเร็จมันมีแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้นเอง
หนึ่ง : รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร?
สอง : แล้วต้องทำอะไรบ้างถึงได้สิ่งนั้นมา
สาม : ลงมือทำสิ่งนั้นซะ
การมีเป้าหมายที่ชัดเจน ย้ำ! ว่าชัดเจน จะทำให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการเร็วขึ้น
เช่น...
ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโล ภายใน 2 เดือน
ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม ฉันจะมีพอร์ตหุ้น 1 ล้านบาท
ฉันจะทำงานให้เสร็จ 3 อย่างก่อนเที่ยงคืนวันนี้
ฉันจะเกษียนตัวเองก่อนอายุ 45 ปี
มนุษย์เราเป็นนักลอกเลียนแบบมาตั้งแต่เกิด เราลอกเลียนพ่อแม่เราทั้งภาษาและท่าทาง ก่อนที่จะเริ่มสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง
"หาคนต้นแบบ" แล้วพยายามลอกเลียนแบบคนนั้นในมุมที่เราอยากเป็น
"ความสม่ำเสมอ" นั้นคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องออมเงิน เรื่องลงทุน เรื่องสุขภาพ เรื่องความรัก ถ้าเราทำมันิย่างสม่ำเสมอ ความสำเร็จจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่รู้ตัว
เมื่อยังเยาว์ ครูของเราชื่อ "ความล้มเหลว" ครับ แต่พอโตขึ้น ครูคนนี้ท่านจะเปลี่ยนชื่อเป็น "ประสบการณ์" ขอบคุณครับคุณครูความล้มเหลว เอ๊ย! คุณครูประสบการณ์
ถ้าเป็นร้านอาหาร เราขับเลยไปแล้วยังยูเทิร์นกลับมาได้ใหม่ แต่กับโอกาสในชีวิต บางครั้งผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่มีแยกให้กลับมาแก้ตัวได้อีก
จริง ๆ แล้วมนุษย์ชอบการจัดอันดับ เราจัดอันดับกันเรื่อย
10 เพลงยอดเยี่ยมประจำปี
10 หนังรักในดวงใจ
10 หนังสือขายดี
10 รถยอดประหยัดน้ำมัน
ฯลฯ
แต่มีอยู่การจัดอันดับนึงที่ถ้าคุณจัดมันทุกวัน ชีวิตจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ย้ำว่า "อย่างเหลือเชื่อ" คุณลองจัดอันดับ "10 เรื่องที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในวันนี้" จัดอันดับมันทุกวัน จดบันทึกได้ยิ่งดี
ในขณะที่คุณกำลังสร้างฝันด้วยสองมือ มักจะมีบางคนมาทำลายฝันของคุณด้วยหนึ่งปาก เพราะ "หมั่นไส้" มากกว่า "หมั่นเพียร" บางคนก็เลยหมั่นไส้เมื่อเห็นคนหมั่นเพียรมากกว่าตนเอง
บางคนก็บอกเราว่า "แกทำไม่ได้หรอก" ซึ่งจริง ๆ ประโยคเต็ม ๆ ของมันก็คือ "แกทำไม่ได้หรอก ขนาดฉันยังคิดว่าฉันทำไม่ได้เลย แกก็น่าจะทำไม่ได้เหมือนฉันนั่นแหละ"
วิธีเดียวที่จะทำให้ไม่มีคนวิจารย์งานของคุณเลย ก็คือ "ไม่ต้องทำมันออกมา"
ทักษะการมองภาพรวม ซึ่งสำคัญมาก ๆ เราต้องทำตัวเหมือนนกที่บินขึ้นไปแล้วมองลงมาเห็นโครงสร้างทั้งหมด
× ถ้าเป็นการอ่านหนังสือสอบ อ่านจบแล้วก็ต้องมองเห็นโครงสร้างของวิชาที่จะสอบ
× ถ้าเป็นการแต่งเพลง ก่อนจะลงมือแต่ง ก็ต้องเห็นแล้วว่าจะร้อยเรียงเรื่องราวอย่างไรตั้งแต่ต้นจนจบ
× ถ้าเป็นหนังสือ ก็ต้องมองเห็นโครงสร้างของหนังสือทั้งเล่ม ก่อนจะลงในรายละเอียด
และถ้าเป็นชีวิต เราก็ต้องมองเห็น "ภาพรวม" เหมือนกันว่า "เรามาจากไหน? อยู่ที่ไหน? และกำลังจะไปไหน?" ถ้าชีวิตนี้เราเป็นนกที่มองลงมาเห็นภาพรวมไม่ได้ ก็คงต้องเป็นหนูที่วิ่งอยู่ในเขาวงกตไปตลอดกาล
หลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญการบ่น เขาบ่นมันทุกเรื่อง
เขาบ่นเรื่องเจ้านาย เขาบ่นเรื่องลูกน้อง
เขาบ่นเรื่องที่บ้าน เขาบ่นเรื่องแฟน
เขาบ่นเรื่องคนอื่น เขาบ่นเรื่องตัวเอง
ประเด็นก็คือ การบ่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มีแต่ทำให้จมทุกข์มากขึ้น
สิ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้คือ "เลิกบ่น" แล้วเบนความสนใจไปเรื่องอื่น ๆ แทน แค่เปลี่ยนเรื่องที่สนใจ เปลี่ยนไปสนใจเรื่องดี สิ่งดี ๆ ที่เรามีอยู่ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง นี่คือเรื่องจริง!
พยัญชนะไทยมี 44 ตัว แต่มีอยู่ 3 ตัวที่สำคัญต่อความสำเร็จในชีวิต
พยัญชนะตัว "ข" หมายถึง "ขอ" :
การขอเป็นกุศโลบายในการรวมพลังจิตใจ โฟกัสไปที่เป้าหมายด้วยความเชื่อมั่นว่ามันจะสำเร็จได้แน่ ๆ นั่นเอง
พยัญชนะตัว "ร" หมายถึง "รอ" :
การอดทน รอคอยความสำเร็จ เพราะไม่มีความสำเร็จไหนหรอกที่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน กว่าจะงดงามอย่างที่เห็น คนสำเร็จล้วนมีบาดแผลมามากมาย
พยัญชนะตัว "พ" หมายถึง "พอ" :
บางคนไม่รู้จักพอ ได้มามากแล้วก็อยากได้มากขึ้นไปอีก โดยไม่คิดจะเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นบ้าง สุดท้ายความสำเร็จก็เลยไม่ยั่งยืน
อย่าให้ความสำเร็จมาก่อนความสุข อย่าตั้งกฎเกณฑ์ว่าต้องถึงเป้าหมายก่อนแล้วจึงจะมีความสุข ให้ความสุขมาก่อน แล้วความสำเร็จจะตามมาเอง
ถ้าคุณเริ่มมีความสุขเสียตั้งแต่ตอนนี้เลย ความสำเร็จที่ใฝ่หามันจะค่อย ๆ แสดงตัวออกมาเอง
ถ้าระหว่างทางเรายังไม่สนุก เป็นไปได้สูงว่า "จุดหมายที่กำลังไป อาจไม่ใช่ที่ที่เราต้องการจริง ๆ"
"ยอดแห่งความหรูหราในชีวิตก็คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักทุกวัน" แล้ววันนี้ชีวิตของคุณได้ทำตามในสิ่งที่รักแล้วหรือยัง?
เรามีชีวิตเดียว ทำไมไม่ก้าวออกมาจากพื้นที่สบาย ลองให้ชีวิตได้เจออะไรใหม่ ๆ ให้มันได้กลัว ได้ตื่นเต้นบ้าง แล้ว "สัญชาตญาณ" ของเราจะออกมาเอง มันจะสนุกและตื่นเต้นมาก ๆ
ความผิดพลาดของคนส่วนใหญ่ก็คือ เขาไม่เข้าใจว่าทุกความสำเร็จนั้นล้วนเกิดมาจากความพยายามทีละเล็กละน้อย มันคือก้าวไปข้างหน้าทีละก้าวสองก้าว
แต่ละคนมีภูเขาที่ต้องปีนกันคนละลูก แบกสัมภาระที่แตกต่างกัน จึงไม่ยุติธรรมกับตัวเองที่จะไปเปรียบเทียบว่าเขาปีนเร็วกว่าเรา เขาจะถึงยอดเขาแล้ว เรายังไม่ถึงไหนเลย
สู้ดี เปรียบเทียบว่าตัวเราปีนขึ้นมาสูงกว่าเมื่อวานหรือเปล่า หรือยังย่ำอยู่กับที่ หรือกลิ้งตกลงไปที่ตีนเขา
ใครจะไปถึงยอดเขา ก็ช่างเขาสิก็นั่นมันยอด "เขา" ไม่ใช่ยอด "เรา" เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วถามตัวเองว่า เราน่ะถึง "ยอดเรา" แล้วหรือยัง?
เรื่องบางเรื่องมันผ่านไปตั้งนานแล้ว แต่เรายังยึดมั่นถือมั่นกับมันอยู่อีกหรือเปล่า?
คนจำนวนมากใช้ชีวิตด้วยการนึกถึงแต่อดีต
อันความหลังย่อมอยู่ข้างหลัง อันความหวังย่อมอยู่ข้างหน้า
หลายครั้งที่เกิดความสงสัยว่า "คิดลบมันสนุกตรงไหน?" ทำไมหลายคนจึงเลือกคิดลบ และพยายามบอกว่าคนคิดบวกคือคนที่หลอกตัวเอง เพ้อฝัน
คุณอยากเป็นคนแบบไหน อยู่ที่คุณจะเลือกมัน
คนส่วนใหญ่นั้น "ถ้า" เยอะ
ถ้าร้อนไป ก็บอกว่าลำบาก
ถ้าหนาวไป ก็บอกว่าขี้เกียจ
ถ้ายากไป ก็ไม่อยากทำ
ถ้าง่ายไป ก็สงสัยว่ามันจะเวิร์คหรอ
ถ้านู่น ถ้านั่น ถ้านี่ เต็มไปหมด
ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จนั้น มีเพียง "ถ้า" เดียว นั่นคือ ถ้ามันจะทำให้เขาไปสู่ความสำเร็จ(โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน) เขาจะทำทันที!
ความมั่นคงใช่จะมีแต่ข้อดี บ่อยครั้งมันเหมือนสมอเรือที่ถ่วงไม่ยอมให้เราล่องนาวา ทั้งที่รู้ว่ามีอะไรสวยงามรอคอยอยู่ที่เส้นขอบฟ้า
เพราะฉะนั้น โปรดจงระวัง! อิสรภาพที่ขาดเป้าหมาย จะทำให้คุณกลายเป็นคนขี้เกียจ
"สุขภาพมาทีหลัง วิ่งหาตังค์ต้องมาก่อน สุดท้ายเลยล้มนอน ถอนเงินเก็บเจ็บหมดตัว"
1
พอตอนเราอายุมากขึ้น ความรัก ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง หรืออะไรต่อมิอะไรที่เราไขว่ขว้าอยากได้กันแทบตาย สุดท้ายก็ไม่มีอะไรสำคัญเท่าสุขภาพเลย
เพราะถ้าไม่แข็งแรงเสียแล้ว อะไรก็ไม่มีประโยชน์ ตายไปก็เอาเหล่านั้นไปไม่ได้สักอย่าง
ยุคนี้เราไม่จำเป็นต้อง "เก่ง" ที่สุด แต่เราควรจะต้อง "โดดเด่น" ที่สุด ถามตัวเองว่าอยากให้โลกจดจำคุณในแบบไหน? พูดถึง "คุณ" แล้วนึกถึงอะไร?
ใครที่ยังไม่มีอะไรแบบนี้ ต้องรีบสร้างเพราะผลลัพธ์จากการสร้างแบนด์นั้นคิดเป็นรายได้แบบประเมินค่าไม่ได้จริง ๆ
"จงรักแบนด์ยิ่งชีพ" จงอยู่ใน 10% ของคนที่อยู่ในสายอาชีพเรา คิดถึงมันตลอดเวลา แล้ววางแผนการ จากนั้นลงมือทำสิ่งที่จะทำให้ได้มันมา
1
คุณต้องหางานพิเศษทำก่อนระหว่างทำงานประจำ ค่อย ๆ ทำงานพิเศษไปเรื่อย ๆ หาช่องทางไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะขายของในเน็ต ขายของตลาดนัด รับแปลเอกสาร เล่นหุ้น ขายประกัน ทำเครือข่าย ทำงานสุจริตและไม่กระทบกับงานประจำ
จากนั้นทำให้รายได้จากงานพิเศษ "งานไม่ประจำ" นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนชนะงานประจำ และ "งานไม่ประจำ" นั้นกลายมาเป็น "งานประจำ" ในแบบของคุณได้ในที่สุด
แล้วคุณจะรู้สึกภูมิใจสุด ๆ ในวันที่รูบนกำแพงที่คุณค่อย ๆ ขุด มันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณเอาตัวเองออกมาจากพาร์ทิชั่นในออฟฟิศที่กั้นคุณเอาไว้ได้
ในการอ่านหนังสือครั้งนี้ผมใช้เวลานานมากสำหรับเล่มนี้ ยอมรับเลยว่าก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านมาแล้ว 1-2 รอบ แต่พอมาอ่านรอบนี้ผมได้ข้อคิดที่แตกต่างกว่าเมื่อก่อนมาก เหมือนที่ในหนังสือเล่มนึง(เล่มไหนสักเล่ม)เคยเขียนไว้ว่า "การอ่านหนังสือในแต่ละครั้ง ต่อให้คุณอ่านมันกี่รอบ ความรู้ที่ได้มาแต่ละรอบก็จะแตกต่างกันไม่เหมือนเดิม" ผมยืนยันเลยว่าจริง ผมกลับมาอ่านรอบนี้มันแตกต่างกว่ารอบที่ผ่าน ๆ มามาก อยากแนะนำให้ทุกคนได้มีโอกาสหามาอ่านกันให้ได้นะครับ มีเป็นซีรี่ย์เลย ของ "คุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ"
>>> อ่านหนังสือพัฒนาตนเอง <<<
14.10.2019
31 บันทึก
48
24
38
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
วิสูตร แสงอรุณเลิศ (บอย)
31
48
24
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย