23 ต.ค. 2019 เวลา 12:45 • ไลฟ์สไตล์
📚4 เทคนิคอ่านหนังสือเร็วขึ้นที่คนไม่ค่อยใช้📚
สั้นๆ: เลิกอ่านทุกตัวอักษร!
(อ่านสรุปคำแนะนำได้ที่ท้ายโพสต์นะครับ)
ยาวๆ: ในยุคที่ทุกอย่างเร็วขึ้น การซื้อหนังสือมาอ่านสักเล่มดูเป็นอะไรที่ใช้เวลามาก วันนี้ผมเลยจะมาแบ่งปันวิธีที่ผมใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการอ่านหนังสือของผมครับ
📌ขอหมายเหตุก่อนว่าคำแนะนำนี้เหมาะสำหรับหนังสือประเภท non-fiction และวัตถุประสงค์ของการอ่านคือเพื่อเรียนรู้แนวคิดต่างๆจากหนังสือนั้นให้ได้มากที่สุดในเวลาที่น้อยที่สุด
📌สำหรับหนังสือประเภท fiction หรือหนังสือที่อ่านเป็นงานอดิเรก ผมแนะนำให้อ่านเพื่อดื่มด่ำกับภาษาของผู้เขียนน่าจะได้อรรถรสที่สุดครับ
หนังสือ non-fiction แทบทุกเล่ม ในแต่ละบทจะมีอยู่สี่ส่วนหลักๆครับ
1. หัวข้อ
2. คำอธิบาย
3. ตัวอย่าง
4. สรุป
ซึ่งโดยเฉลี่ยในบทๆนึงจะมีใจความหลักจริงๆแค่ 15-20% เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือส่วนที่เราสามารถอ่านผ่านๆหรือข้ามได้เลยครับ
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าส่วนไหนควรอ่าน ส่วนไหนควรข้าม?
ในเมื่อแต่ละคนก็จับใจความได้มากน้อยต่างกัน ผมก็จะลองบอกสิ่งที่ผมทำอยู่เป็นแนวทางให้ไปปรับใช้กันนะครับ
1. อ่านสารบัญ 📕
การอ่านสารบัญจะช่วยให้เราพอมีไอเดียว่าหนังสือนี้เกี่ยวกับอะไร แต่ละบทจะพูดถึงเรื่องอะไร ซึ่งบางเล่มก็อาจจะบอกชัดเจนมาก แต่บางเล่มหัวข้อก็อาจจะไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับเนื้อหาในบทเลย แต่ก็แนะนำให้อ่านนะครับ
2. อ่านสองบทแรกให้ละเอียด 📗
ผมจะตั้งใจอ่านสองบทแรกมากๆเพื่อให้ชินกับภาษาของผู้เขียนครับ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าจังหวะไหนที่ผู้เขียนพูดถึงใจความสำคัญ จังหวะไหนที่ผู้เขียนแค่เล่าเรื่องหรือยกตัวอย่าง
3. ไม่ต้องสนว่าผู้เขียนอ้างอิงถึงใคร 📘
เวลาผู้เขียนเล่าถึงผู้เชี่ยวชาญสักคน คำอธิบายของคนๆนั้นอาจจะยาวเป็นย่อหน้าจนเราลืมไปแล้วว่าต้นประโยคเขาพูดถึงเรื่องอะไรไว้ เช่น
"วันนั้นผมได้มีโอกาสคุยกับคนที่เก่งมากๆคนหนึ่งชื่อคุณเอดเวิร์ด คุณเอดเวิร์ดเป็นที่ปรึกษาของบริษัทชื่อดังที่บริหารเงินลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนหนังสือ Bestseller ชื่อดังที่ติดอันดับหนึ่งมากว่าสองเดือน และยังเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาการเงินอีกด้วย ซึ่งเขาก็ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้มาว่า...."
ใจความของประโยคนี้คือ
"วันนั้นผมมีโอกาสได้คุยกับคนที่เก่งมากๆชื่อเอดเวิร์ด คำแนะนำของเขาคือ..."
ซึ่งเวลาเราซื้อหนังสือสักเล่มมา เราก็คงไม่มานั่งสงสัยในตัวผู้เขียนหรือคนที่ผู้เขียนไปขอคำแนะนำมาอยู่แล้วเพราะฉะนั้นเราสามารถข้ามไปที่ใจความได้เลย ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นจะเป็นใครไม่มีความจำเป็นกับเราอยู่แล้วครับ
4. ข้ามตัวอย่าง 📙
ถ้าเราจับใจความหลักของบทนั้นได้แล้ว การอ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน หรือตัวอย่างคนที่เคยใช้แนวคิดนั้นในชีวิตของตัวเอง ไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้เนื้อหาที่เราต้องการขนาดนั้น ถ้าคุณพอเห็นภาพแล้วก็ข้ามได้เลยครับ
สรุป 4 เทคนิคที่ช่วยให้ผมอ่านเร็วขึ้นคือ
1. อ่านสารบัญเพื่อให้รู้เนื้อหาคร่าวๆ
2. ตั้งใจอ่านสองบทแรกเพื่อให้ชินกับสไตล์ผู้เขียน
3. เวลาผู้เขียนอ้างอิงเนื้อหามาจากคนอื่น ไม่ต้องสนว่าคนๆนั้นเป็นใคร
4. ถ้าจับใจความได้แล้ว ข้ามตัวอย่างได้เลย
สวัสดีครับ ปันนะครับ ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านนะครับ
ถ้าชอบโพสต์นี้อย่าลืมกด Like 👍🏻 และ Share📍
กด📌ติดตาม เพื่อคุณจะได้ไม่พลาดข้อคิดดีๆ💡 ทุกวัน!
Comment ความคิดเห็นและข้อติชมได้เลยนะครับ👇🏻
โฆษณา