Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dr.Dark
•
ติดตาม
22 ต.ค. 2019 เวลา 02:42 • สุขภาพ
Sepsis ติดเชื้อในกระแสเลือด
3
การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเกือบทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสียชีวิตในห้อง ICU
โดยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30-70%
2
แต่หลาย ๆ ครั้งก็พบว่ามีการใช้คำว่าติดเชื้อในกระแสเลือดกันแบบผิด ๆ ทำให้บางครั้ง คนไข้หรือญาติก็เข้าใจไปผิด ๆ
ณ ICU แห่งหนึ่ง
หลังจากทำการรักษาคนไข้ช็อก ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้สารน้ำ ให้ยากระตุ้นความดันโลหิต จนคนไข้ดีขึ้น เหนื่อยลดลง หายใจเข้ากับเครื่องช่วยหายใจ ความดันโลหิตเริ่มสูงขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ก็ถึงเวลาคุยกับญาติ
หมอ : คนไข้มีปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง มีติดเชื้อในกระแสเลือดนะครับ ตอนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ความดันต่ำ แต่ให้ยากระตุ้นความดันขึ้นมาแล้วนะครับ อาการยังไม่ค่อยดีครับ
ญาติคนไข้ : ติดเชื้อในกระแสเลือดก็อันตรายสิครับหมอ
หมอ : ครับ ก็อาการหนักอยู่ครับ
ญาติคนไข้ : เกิดจากอะไรครับ
หมอ : คนไข้มีปอดอักเสบ ติดเชื้อที่ปอดครับ (คุ้น ๆ ว่าบอกไปแล้วนี่นา... 🤔)
ญาติคนไข้ : เดี๋ยวนี้ คนเป็นเยอะจังเลยครับ ติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่ออาทิตย์ก่อนก็มีญาติอีกคนเป็น
หมอ : 😑 . . . (ช่วยโฟกัสที่ปอดอักเสบหน่อยคร้าบ)
6
โรคติดเชื้อในกระแสเลือดนี้มีมานานแล้วครับ แต่ช่วงหลังมีการพูดถึงในกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากหนังหรือละคร และการนำเสนอข่าวคนดังว่าป่วยจากติดเชื้อในกระแสเลือดครับ
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(septicemia) แปลตามศัพท์หมายถึง
การที่มีเชื้อก่อโรคในกระแสเลือดซึ่งสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการเพาะเชื้อหรือวิธีการพิเศษต่าง ๆ
เชื้อที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย แต่จริง ๆ แล้ว พบได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา ฯลฯ
ในทางปฏิบัติ แพทย์ไม่ได้ส่งเพาะเชื้อจากเลือดในคนไข้ติดเชื้อทุกราย
ในรายที่ส่งเพาะเชื้อก็ต้องใช้เวลาให้เชื้อเจริญเติบโตในอาหารเพาะเชื้อ
ส่วนใหญ่นาน 3-5 วัน แต่บางครั้งก็อาจจะนานกว่านั้น
1
ถ้าติดเชื้อ แต่ยังไม่มีผลเพาะเชื้อจากเลือดยืนยัน จะเรียกว่า sepsis
แต่ภาษาไทย มักจะเรียกทั้ง sepsis และ septicemia ปน ๆ กันไปว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด
ในคนไข้ที่เกิดการติดเชื้อที่อาการรุนแรง จะมีอาการจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วขึ้น เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (Systemic inflammatory response syndrome หรือย่อว่า SIRS) ซึ่งหมออาศัยกลุ่มอาการนี้ช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้น
1
กลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (SIRS) คือ มีอาการเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ
1. อัตราการเต้นของหัวใจ > 90 ครั้งต่อนาที
2. อุณหภูมิร่างกาย < 36 หรือ > 38 องศาเซลเซียส
3. อัตราการหายใจ > 20 ครั้งต่อนาทีหรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดตำ่ (PaCO2 < 32 mmHg)
4. เม็ดเลือดขาว > 12,000 เซลล์/ลบ.มม. หรือ < 4,000 เซลล์/ลบ.มม.
หรือมีนิวโตรฟิลตัวอ่อน > 10%
สาเหตุของ SIRS ส่วนใหญ่ > 80% เกิดจากการติดเชื้อ
1
สรุปง่าย ๆ คือ : SIRS + ติดเชื้อ = sepsis
แต่ SIRS ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุจากอย่างอื่นได้ เช่น ตับอ่อนอักเสบ การได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บหลาย ๆ อวัยวะ เป็นต้น
มีการใช้ SIRS มาวินิจฉัย sepsis มากว่ายี่สิบปี (ตั้งแต่ปี2534)
แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ได้มีการปรับนิยามใหม่เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยตรงกันมากขึ้นและบอกการพยากรณ์โรคได้ดีขึ้น
นิยามคำว่า sepsis หมายถึง ภาวะที่มีการทำงานผิดปกติของอวัยวะจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมการตอบสนองของร่างกายจากการติดเชื้อ
(อันนี้แปลตามศัพท์ภาษาอังกฤษ เลยอาจจะดูประโยคแปลก ๆ)
1
สรุปว่ามีการตอบสนองต่อการติดเชื้อของร่างกายอย่างผิดปกติ
จนทำให้อวัยวะบางอย่างทำงานผิดปกติ
การวินิจฉัยโรค ในทางปฏิบัติ อาศัยหลักฐานว่ามีการติดเชื้อ ร่วมกับมีการทำงานของอวัยวะล้มเหลว 2 อย่างขึ้นไป
การติดเชื้อในกระแสเลือด แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. แบบปฐมภูมิ (primary) คือ ติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ไม่พบอวัยวะที่เป็นตำแหน่งของการติดเชื้อชัดเจน มักจะพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
2. แบบทุติยภูมิ (secondary) คือ มีการติดเชื้อที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งก่อน แล้วอาการรุนแรงขึ้น ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดครับ ซึ่งพบได้บ่อยกว่า
กลุ่มหลังนี้ การวินิจฉัยโรค ควรจะวินิจฉัยตามอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อก่อน
การบอกว่าผู้ป่วยกลุ่มหลังนี้ติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่บอกตำแหน่งติดเชื้อเริ่มต้น ทำให้ฟังดูเหมือนกับว่าสมัยนี้มีคนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดเยอะขึ้น
1
ความรุนแรงของตัวโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและสภาพร่างกายของคนไข้ เช่น เชื้อดื้อยาหรือไม่ คนไข้มีโรคประจำตัวอะไรอยู่เดิมบ้าง เป็นต้น
ถ้าการติดเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ
ความดันโลหิตอาจจะต่ำ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ อวัยวะบางอย่างเกิดทำงานล้มเหลว เช่น เกิดไตวาย ตับวาย เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
การรักษาต้องให้ยาฆ่าเชื้อให้ครอบคลุมเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งเริ่มต้นที่มีการติดเชื้อ
1
ร่วมกับการรักษาประคับประคอง ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้การรักษาตามอวัยวะที่มีการทำงานล้มเหลว เช่น ให้ยากระตุ้นความดันในรายที่มีความดันโลหิตต่ำ ใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่มีภาวะหายใจล้มเหลว
และกำจัดแหล่งที่มีการติดเชื้อออก ถ้าสามารถทำได้ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดฝีระบายหนองออก เป็นต้น
หลังจากการดูแลคนไข้ ICU ลงเวร กลับถึงบ้าน พักผ่อน นอนเปิดทีวี
ละครโทรทัศน์ช่องหนึ่ง
หมอในละคร “คนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดครับ”
แต่... คนไข้แต่งหน้าจัดเต็มมากกก นี่เหรอคนป่วย??? เปลี่ยนช่องดีกว่าแฮะ
เปลี่ยนไปอีกช่อง เจอข่าวบันเทิง
ดารา ชื่อ... ป่วย เข้าโรงพยาบาล ให้สัมภาษณ์ว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด
เฮ้ย !!! ให้สัมภาษณ์คุยจ้อได้เนี่ยอ่ะนะ ?
1
คนทั่วไปได้ยินคำว่า “ติดเชื้อในกระแสเลือด” อาจจะรู้สึกว่าอาการหนักแต่ภาพที่เห็น มันม่ายช่ายยยย 😱
หลาย ๆ ครั้ง ที่เห็นหัวข้อข่าวดาราติดเชื้อในกระแสเลือด แต่พออ่านรายละเอียด ก็พบว่าจริง ๆ แล้ว มีการติดเชื้อที่ปอดบ้าง ที่กรวยไตบ้าง
ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเอาคำว่าติดเชื้อในกระแสเลือดมาพาดหัว มันทำให้ข่าวน่าอ่านมากขึ้นเหรอ...
แต่ก็มันก็สร้างความเข้าใจผิดๆให้กับคนทั่วไปขึ้นมา
การพบตำแหน่งที่ติดเชื้อเริ่มต้น มีความสำคัญในการคาดเดาชนิดของเชื้อที่ก่อโรคเพื่อที่จะเลือกยาในการรักษา และบอกการพยากรณ์โรคได้ดีกว่า บอกโอกาสหาย โอกาสเสียชีวิตได้ดีกว่า
โรคอีกกลุ่มหนึ่งที่บางคนไปเรียกเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด คือ กลุ่มไข้ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
อาการคนไข้จะค่อนข้างดี ไม่มี SIRS หรือ ถ้ามี อาการทั่วไปก็ยังดีอยู่ พูดคุย
ช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนปกติ ซึ่งมีความอันตรายน้อยกว่าการติดเชื ้อในกระเลือดมาก
ไข้ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดจากผู้ป่วยมาตรวจเร็ว (บางคน ไม่เกิน 1 วันก็มาตรวจ) เพิ่งมีไข้แต่ยังไม่มีอาการอย่างอื่นแสดงออกมา ทำให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ผลสุดท้าย คนไข้บางรายอาจจะเป็นแค่หวัด
หรือบางรายเป็นโรคที่ช่วง 2-3 วันแรก มีอาการเหมือน ๆ กันได้ เช่น
ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคสครับไทฟัส(หรือไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากเชื้อที่มากับแมลงบางชนิด เช่น ไรอ่อน)
หรือบางรายเป็นไข้มานาน แต่ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากโรคที่พบไม่บ่อย ซึ่งมักจะต้องใช้เวลาในการหาสาเหตุเกิน 1 สัปดาห์เช่น โรคมะเร็งบางชนิด โรค SLE เป็นต้น
ต่อไปนี้ถ้าเจอหมอบอกว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด อย่าลืมถามนะ ว่าเป็นแบบไหน
มีติดเชื้อที่อวัยวะไหนหรือไม่ มีอวัยวะใดทำงานผิดปกติบ้าง
แล้วจะรู้ว่าหมอคนนั้นติดละครมากไปรึป่าว... เอ๊ย! ไม่ใช่ละ จะได้รู้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ 😅
33 บันทึก
62
9
26
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคที่พบบ่อย
33
62
9
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย