22 ต.ค. 2019 เวลา 11:15 • ประวัติศาสตร์
พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
(ชุด นครปฐม ปฐมนครแห่งความจงรักภักดี) ตอนที่ 2
ต่อเลยเดี๋ยวคนอ่านขาดช่วง พระราชวังสนามจันทร์ นอกจาก 4+1 พระที่นั่ง ที่เคยเป็นที่ประทับ ที่ทรงงาน และเป็นกองบัญชาการ กองเสือป่า แล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้าง และอาคารอื่น ๆ อยู่อีกมาก (ไม่นับ ส่วนที่มอบให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตนครปฐม (ทับแก้ว)
(ว่าแต่ ดูคลิป เกี่ยวกับพระที่นั่งปาฏิหารทัศไนย กันมาหรือยัง องค์พระปฐมเจดีย์มี-ออร่า 😊🙏https://youtu.be/Sn6dWsUUfAQ )
ต่อจาก พระที่นั่ง ก็เชิญตามมาชม พระตำหนัก มี สี่ตำหนัก แบ่งเป็น สองคู่
คู่แรก คือคู่รัก และมิตรแท้ ได้แก่
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ที่มาของคู่รักจากเพื่อนแท้ พระเอกของพระตำหนักคู่นี้ คือ ย่าเหล อนุสาวรีย์หน้าพระตำหนัก
อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยง และทรงโปรดปรานมากที่สุด โดยประดิษฐานไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ (ชื่อเดิม พระตำหนักย่าเหล)
ประวัติของย่าเหล
ด้วยตั้งแต่เมื่อครั้ง ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอสาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งทำให้ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่นครปฐมอยู่เนือง ๆ
วันหนึ่งได้เสด็จตรวจเรือนจำมณฑลนครชัยศรี ได้ทรงเห็นลูกสุนัขพันทาง 2 ตัว ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขพันธุ์ไทยที่เติบโตอยู่ในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี ส่วนตัวพ่อนั้นเป็นสุนัขพันธุ์ต่างประเทศของ "เจ้าคุณเทศา" คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี ซึ่งจวนของท่านเจ้าคุณเทศาอยู่ติดกับเรือนจำนั้นเอง
( ต่อมาได้เป็นชื่อถนนเข้าจังหวัดนครปฐมทางด้านเรือนจำ ชื่อ ถนนเทศา จากถนนเพชรเกษม ตรงมาถนนหน้าพระ องค์พระปฐมเจดีย)
เมื่อทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขทั้งสองตัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดีดพระหัตถ์เรียก ลูกสุนัขตัวที่ขนยาวปุยสีขาว มีด่างดำที่ใบหน้า ขนบนหลังเป็นสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง ได้วิ่งมาเฝ้าคลอเคลียแทบเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมที่สวนนันทอุทยานแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์คนหนึ่งมาขอลูกสุนัขนั้นไปทรงเลี้ยง และโดยที่ลูกสุนัขทั้งสองยังไม่หย่านม หลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันทน์) [๒] พธำมรงค์เรือนจำมณฑลนครไชยศรี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกสุนัขทั้งสองไปพร้อมกับแม่สุนัขนั้น
เมื่อทรงรับแม่และลูกสุนัขทั้งสองมาเป็นสุนัขทรงเลี้ยงนั้น เป็นเวลาที่กำลังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครเรื่อง "My Friend Jarlet" เป็นภาษาไทยในชื่อ "มิตร์แท้" เป็นเรื่อง ของเพื่อนรัก ในสงครามโลก ที่ยอมถูกประหารแทนเพื่อน เพื่อให้ เพื่อนได้ครองรักอยู่ร่วมกัน ตัวเอกของเรื่อง ชื่อ ปอล ยาร์เล่ และมารี จึงได้โปรดพระราชทานนามลูกสุนัขตัวสีขาวมีจุดด่างดำที่วิ่งมาคลอเคลียอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทนั้นว่า "ย่าเหล" ซึ่งแปลงมาจากชื่อตัวละคร "ยาร์เลต์" ส่วนสีน้ำตาลอีกตัวหนึ่งนั้นพระราชทานนามว่า "ปอล"
1
ปอลคงจะมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว จึงไม่มีผู้ใดกล่าวถึงปอลอีกเลย ส่วนย่าเหลเมื่อได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้คุณมหาดเล็กคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูย่าเหล เป็นต้นว่า จัดการอาบน้ำฟอกสบู่โรยแป้งฝุ่นหอมให้แก่ย่าเหล และนำย่าเหลขึ้นเฝ้าทุก ๆ เช้าในเวลาที่ตื่นพระบรรทม ต่อจากนั้นย่าเหลก็จะรับหน้าที่เสมือนมหาดเล็กคอยหมอบเฝ้าและตามเสด็จมิให้คลาดไปจากสายพระเนตร เวลาที่ทรงพระอักษรหรือประทับเสวยพระกระยาหาร ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้ที่ประทับ แม้แต่เวลาเสด็จลงทรงกีฬา หรือเสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระราชฐานที่ประทับ ย่าเหลก็จะตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่ง เวลาเสด็จเข้าพระบรรทม ย่าเหลก็ยังตามเสด็จไปหมอบเฝ้าอยู่มิห่างจากพระแท่นบรรทมเสมือนเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมเลยทีเดียว ในยามที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนอกพระราชฐาน ย่าเหลก็จะตามมาส่งเสด็จถึงรถพระที่นั่ง และเมื่อได้ยินทหารรักษาวังที่กองรักษาการณ์หน้าประตูพระราชฐานเป่าแตรคำนับเป็นสัญญาณว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าเอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาแล้ว ย่าเหลก็จะมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่อัฒจันทร์เทียบรถพระที่นั่งเช่นเดียวกับคุณมหาดเล็กและพระตำรวจที่เข้าเวรประจำการในวันนั้น
1
ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลที่ห่างไกล ซึ่งต้องเสด็จรอนแรมไปในป่าเขาที่ทุรกันดารก็โปรดให้ย่าเหลตามเสด็จไปด้วยทุกคราว
ย่าเหลนั้นได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด และมีความจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเยี่ยงมหาดเล็กในพระองค์คนหนึ่งเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมเป็นเข็มรูปพระวชิราวุธคมเงินด้ามทองให้แก่ย่าเหล เป็นเครื่องหมายว่า ย่าเหลได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิและเสมาอักษรพระบรมนามภิไธยย่อ ว.ป.ร.ทองคำให้แก่ย่าเหลเพื่อเป็นพยานว่า ย่าเหลได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นเดียวกับข้าราชบริพารทั้งหลาย นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำแผ่นทองคำลงยามีตัวอักษรสีดำจารึกข้อความว่า "ฉันชื่อย่าเหล เป็นสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ห้อยคอย่าเหลไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ที่ผู้พบเห็นย่าเหลภายนอกพระราชฐานได้ทราบและนำกลับมาถวายคืน กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ย่าเหลมีเงินเดือน ๆ ละ ๔๐ บาทเท่ากับเงินเดือนชั้นมหาดเล็กสำรอง (เทียบเท่าว่าที่นายร้อยตรี)
1
เงินเดือนของย่าเหลนี้โปรดให้เก็บรวบรวมไว้ แล้วได้พระราชทานไปในการกุศลต่าง ๆ ในนามของย่าเหล เช่น โปรดพระราชทานไปเป็นทุนก่อสร้างกุฏิปฏิบัติธรรมของเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ได้พระราชทานนามกุฏินั้นว่า "กุฏิย่าเหล" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕
เมื่อย่าเหลเสียชีวิตลง จึงสร้างอนุสาวรีย์ เป็นที่ระลึก และสร้างพระตำหนักย่าเหลขึ้น แต่ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับกับ เรื่องมิตรแท้ ที่ทรงแปลและคยเล่นบทละคร จึงสร้าง พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังอีกฝั่งน้ำและสร้างสะพานเชื่อมต่อเปลี่ยนชื่อตำหรักย่าเหลเป็นพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงแสดงเป็น มารี เลอรัวซ์ ในเรื่อง My Friend Jarlet ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรุสเซีย เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง 2 ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น 2 ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
1
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้องและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ในราว พ.ศ. 2459
ด้านหน้าพระตำหนักชาลีฯ
ด้านหลังพระตำหนักชาลีฯ มีสะพานเชื่อมต่อมาพระตำหนักมารี
ฝั่งพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ และฉนวนสะพานเชื่อมพระตำหนัก เป็นกลุ่มอาคารที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า “ มิตรแท้ “ โดยชื่อพระตำหนักนั้น มาจากชื่อของนางเอก ได้แก่ มารี เลอร์รูซ์ (Marie Leroux) รวมกับ รัต หรือ รต ซึ่งแปลว่า สีแดง ดังนั้น พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์จึงมีความหมายว่า "ราชบัลลังก์สีแดงแห่งมารี" คู่กับ "ชาลี" คือพระตำหนักชาลีมงคล อาสน์
นอกจากนั้นยังเป็นต้นตำนานหนังสือพิมพ์เกิดที่นี่เพราะเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์
พระตำหนักคู่ที่สอง เป็นตำหนัก ฝรั่งกับไทย อยู่ตรงข้ามกัน ได้แก่ พระตำหนักทับแก้ว และ พระตำหนักทับขวัญ
พระตำหนักทับแก้ว เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานสุนทรถวาย เป็นที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการเสือป่า กองเสนารักษ์ราบเบารักษาพระองค์ระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า รวมทั้งเป็นสถานที่พระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชการ และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระสุธารส ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก เป็นตึก 2 ชั้นขนาดเล็กทาสีเขียวอ่อน ภายในมีเตาผิงและหลังคาปล่องไฟตามบ้านของชาวตะวันตก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนที่พักของปลัดจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งได้รับการบูรณะใน พ.ศ. 2546
ปัจจุบัน สำนักพระราชวังได้อนุญาตให้สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชกรณียกิจด้านกีฬาฟุตบอลของชาติ
และพระตำหนักทับแก้ว เป็นที่มาของชื่อ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ชื่อว่า "ม.ทับแก้ว"ด้วย
มีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ขอนำมาตามจำกัด ได้แก่
เทวาลัยคเณศร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ สำหรับประดิษฐาน พระพิฆเนศ ซึ่งนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ และเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐม จะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์ และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
นอกจากนี้มีที่เดินชมอีกมาก มีเรือน ที่พักต่างๆล้วนมีประวัติที่สำคัญอีกมาก
ในพระราชวังสนามจันทร์มีเรือนต่าง ๆ ดังนี้
-เรือนพระนนทิการ
เดิมเป็นบ้านพักของ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนสูง และเคยใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด
-เรือนพระธเนศวร ของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)
-เรือนทับเจริญ บ้านพักของ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)
-เรือนพระกรรมสักขี เดิมเป็นบ้านพักที่ของ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) และบุตรี เครือแก้ว อภัยวงศ์ (ต่อมาเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี)
-เรือนพระสุรภี
-เรือนราชมนู
-เรือนชานเล็ก
-เรือนพระนนทิเสน
-เรือนสุภรักษ์
-เรือนชาวที่
-เรือนคฤหบดี
-เรือนพระเอกทันต์
-เรือนพระกรรติเกยะ
-เรือนที่พักพระตำรวจหลวง
-เรือนพระคลังแสง
ขอนำชม พระราชวังสนามจันทร์ พอสังเขป ครับ ขอบคุณที่ติดตาม อ่านมาถึงนี้ พรุ่งนี้ 23 ตุลา ก็มีกิจกรรมสำคัญ รำลึกพระปิยมหาราช ด่วยกันครับ
เครดิต อ้างอิง : ภสพสวยๆจากอินเตอร์เน๋ต ข้อมูลสารพัดที่ โดยประมาณ
1. วิกิมีเดีย
ขอบคุณนะครับ 😏☺
โฆษณา