22 ต.ค. 2019 เวลา 06:16 • ประวัติศาสตร์
พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
(ชุด นครปฐม ปฐมนครแห่งความจงรักภักดี)
1
เมื่อวาน เขียนถึง เรื่องราวครบรอบ 10 ปี ของวลีที่ว่า "นครปฐม ปฐมนครแห่งความจงรักภักดี" ที่ท่านหม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล เมื่อครั้งได้มาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ท่านให้ไว้ และยังประทับในใจ ยังมีหลายหน่วย หลายองค์กร ของนครปฐมยังใช้ คำนิยม นี้
1
วันนี้เลยมา เขียนต่อ ในส่วนสถานที่ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของชาวนครปฐม อยู่กลางเมือง และกลางใจ ของชาวนครปฐมทุกคน เคียงคู่กับ องค์พระปฐมเจดีย์ ก็คือ
"พระราชวังสนามจันทร์" ขอแนะนำ ให้เยี่ยมชม ชื่นชม กันครับ
แผนที่ พระราชวังสนามจันทร์
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนครปฐม ห่างจาก พระปฐมเจดีย์ ทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา สร้างขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากพระองค์สวรรคต เดิมมีพระประสงค์จะยกให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่เนื่องจากมีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก ที่ ถนนราชดำเนินนอก แล้ว พระราชวังสนามจันทร์จึงใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม แทน รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมได้ย้ายส่วนราชการต่างๆไปศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม ห่างออกไป 7 กิโลเมตร และส่งมอบทูลเกล้าถวาย พระราชวังสนามจันทร์ ให้สำนักพระราชวัง และต่อมาได้โปรดเกล้า พระราชทานให้จังหวัดเป็นผู้ดูแล บำรุง ให้ราษฎร ได้เข้าชมเป็นประโยชน์
พินัยกรรมประวัติศาสตร์ เรื่อง พระราชวังสนามจันทร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพินัยกรรมแสดงพระราชประสงค์ยกพระราชวังสนามจันทร์ให้เป็นสถานที่ตั้งของ โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมีใจความว่า
"บรรดาที่ดินตึกรามทั้งใหญ่ น้อย ที่รวมอยู่ในเขตซึ่งเรียกว่า "พระราชวังสนามจันทร์" เป็นสมบัติส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยแท้ไม่ได้รับมฤดกมาจาก สมเด็จพระบรมชนกนารถ มิได้ ข้าพเจ้าได้เก็บทุนในตำแหน่งหน้าที่ พระยุพราช และทุนอื่น ๆ สร้างที่สนามจันทร์ และสร้างพระที่นั่งซึ่งเรียกว่า พระพิมานประฐม นั้นขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอาเงินพระคลังข้างที่ทำนุบำรุงที่นี้ตลอดมาเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเอาที่พระราชวังสนามจันทร์ไปรวมเข้ากับกองมรดกใหญ่นั้นหาควรไม่ ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ตามกฎหมายเหมือนสามัญชน ที่จะยกที่นี้ให้แก่ผู้ใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าขอยกที่นี้ให้แก่รัฐบาลสยามเป็นสิทธิขาด เพื่อทำเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก"
แต่ต่อมา ได้มีการรวมโรงเรียนทหาร และจัดตั้ง โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่ถนนราชดำเนินนอกแล้ว จึงได้มอบหมายให้จังหวัดนครปฐมใช้เป็นที่ปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่างๆต่อไป
สถานที่ตั้ง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างบนที่เดิมชาวบ้านเรียกว่า "เนินปราสาท" ซึ่งเดิมคาดว่าเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิมสมัยทราวดี โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง และพระราชทานชื่อว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อสระน้ำใหญ่ หน้าโบสถ์พราหม ชื่อ "สระน้ำจันทร์"หรือ "สระบัว" (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมแล้ว และ"สระบัว"ยังตงมีความสำคัญ เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นำน้ำกลสงสระ ไปร่วมในพิธีสำคัญต่างๆ )
การก่อสร้าง
ใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2450
สิ่งก่อสร้าง ในเขต พระราชวังสนามจันทร์
ขอแยกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้
กลุ่มแรก คือ พระที่นั่ง เป็นส่วนสำคัญ ที่เป็นที่ประทับ ที่ทรงงาน และว่าราชการตลอดจนการแสดงอื่นๆ ประกอบ ด้วยอาคารพระที่นั่งที่ เชื่อมต่อกัน สี่ พระที่นั่งคือ
1.พระที่นั่งพิมานปฐม
2.พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
3.พระที่นั่งวัชรีรมยา
4.พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
และใกล้ๆ ติดทางสระน้ำ มีอีกหนึ่งพระที่นั่ง คือ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย
พระที่นั่งพิมานปฐม
พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2450 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก แต่ดัดแปลงให้เหมาะกับเมืองร้อน ช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุฉลักเป็นลวดลายตามแบบไทยอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฏอยู่จวบจนปัจจุบัน คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า ซึ่งเป็นหอพระ มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาอยู่องค์หนึ่ง และยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งงดงามน่าชมมาก
พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชย์สมบัติ จนถึง พ.ศ. 2458) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่น ๆ ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ห้องบนชั้นสอง ตรงหน้ามุขระเบียง คือห้องพระเจ้า (ห้องพระ) จากห้องพระเจ้าตรงออกไปยังระเบียง มองตรงไป ผ่านพระพิคเณศร์ จะตรงกับยอดองพระปญมเจดีย์เลย 😍
มุมมองจากระเบียงห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ตั้งอยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นแบบตะวันตก ประดับลวดลายไม้ฉลุเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐม โดยมีทางเชื่อมกับพระที่นั่งพิมานปฐม ใช้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายในในสมัยนั้น ปัจจุบันพระที่นั่งอภิรมย์ฤดีชั้นบนจัดแสดงห้องพระบรรทม ห้องทรงงาน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในสมัยก่อน ในปัจจุบันบนพระที่นั่งได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยแท้วิจิตรงดงามตระการตา หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นหลังคา 2 ชั้นเหมือนกับหลังคาในพระบรมมหาราชวัง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวย มีมุขเด็จด้านทิศใต้ หน้าบันมุขเด็ดแกะสลักเป็นเข็มวชิราวุธอยู่ภายใต้วงรัศมีมีกรอบล้อมรอบ พร้อมด้วยลายกนกลงรักปิดทอง หน้าพระที่นั่งมีชานชาลาทอดยาวออกมาจรดกับพระที่นั่งพิมานปฐมด้วย พระทวารของบัญชรทั้ง 2 ชั้นของพระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับเรือนแก้ว เป็นบันแถลงเสียบไว้ด้วยยอดวชิราวุธภายในมีเลข 6 อยู่ในลายพิจิตรเลขาเป็นมหามงกุฎ มีลายกนกลงรักปิดทองล้อมรอบบนพื้นที่ประดับตกแต่งไปด้วยกระจกสีน้ำเงิน พื้นเพดานชั้นบนของพระที่นั่งองค์นี้ทาด้วยสีแดงสดเข้ม มีดอกดวงประดับประดาละเอียดอ่อนทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ส่วนชั้นล่างนอกจากจะทาสีแดงและปิดทองแล้วนั้น ชั้นล่างมีความแตกต่างกันตรงที่ลายฉลุนั้นเป็นดาวประดับพระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่ประทับเป็นครั้งคราว โดยมากจะใช้เป็นห้องทรงพระอักษรใน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงซ้อมรบเสือป่าที่อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และพระองค์เสด็จกลับมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้เป็นเวลา 1 คืนก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังนันทอุทยาน 1 เดือน และกลับมาที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนกลับ พระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งที่มีส่วนเชื่อมต่อกับใกล้เคียงคือพระที่นั่งวัชรีรมยา หน้าบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์อยู่ทางทิศเหนือ เป็นรูปหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพรประทับอยู่ในปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร แวดล้อมด้วยบริวารซึ่งประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์ 5 หมู่ ท้องพระโรงยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีอัฒจันทร์ 2 ข้างต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา มีพระทวารเปิดถึงกัน 2 ข้าง ซุ้มพระทวารทั้ง 2 และซุ้มพระบัญชรใกล้ ๆ พระทวารทั้ง 2 ข้างแกะสลักเป็นรูปกีรติ มุขลงรักปิดทองภายในพระที่นั่งโดยรอบ มีเสานางจรัลแบ่งเขตท้องพระโรงกับเฉลียงส่วนที่เป็นเฉลียงลดต่ำลงมา 20 เซนติเมตร เสานางจรัลมีลักษณะเป็นเสาทรง 8 เหลี่ยมเช่นเดียวกับพระที่นั่งวัชรีรมยา ทำเป็นลายกลีบบัวจงกลโดยรอบเสาตลอดทั้งต้น เพดานพระที่นั่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพดานชั้นล่างพระที่นั่งวัชรีรมยา เพดานสีแดงเข้มปิดทองฉลุเป็นลายดาวประดับมีโคมขวดห้อยอย่างงดงาม
พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นสถานที่จัดงานหลายอย่าง เช่น งานสโมสรสันนิบาต เสด็จฯ ออกพบปะขุนนาง เป็นสถานที่ฝึกอบรม กองเสือป่า และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้กว้างขวางและสามารถจุคนเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกติดปากชาวบ้านว่า "โรงโขน" ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไว้ภายในนี้ด้วย
พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย เป็นพระที่นั่งโถงทรงไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์แห่งพระปฐมเจดีย์ เมื่อครั้งเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังสนามจันทร์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวัง ย้ายพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยมาประดิษฐานบนชาลาด้านหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2470 และ กรมศิลปากร ได้อัญเชิญพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยไปประดิษฐานยังสนามหญ้าด้านทิศเหนือของ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
ใน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังสนามจันทร์ โดยผู้ดูแลพระราชวังได้กราบบังคมทูลขอให้มีการอัญเชิญพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยกลับมาประดิษฐาน ณ พระราชวังสนามจันทร์ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้สำนักพระราชวังส่งหนังสือมายังกรมศิลปากร ในการอัญเชิญพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยกลับมาประดิษฐาน ณ พระราชวังสนามจันทร์ดังเดิม
แค่ 5 พระที่นั่ง ก็ยาวมากแล้ว พักทานข้าวเที่ยงก่อน นะ ระหว่างรับประทาน จะนั่งฟังและชมความมหัศจรรย์ที่มาแห่งชื่อ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ตามคลิปที่แนบมา นี้ https://youtu.be/Sn6dWsUUfAQ
เนื่องจากยังอีกยาว เลยแบ่ง เรื่องพระาราชวังสนามจันทร์เป็น 2 ตอนนะครับ ไว้ติดตามตอนต่อไปแล้วกันนะ
ในโอกาสนี้ วันนี้ 22 ตุลาคม เมื่อปี พ.ศ.2499 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล” ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ
น้อมรำลึกถึง พ่อหลวง พ่อในใจราษฎร์ผู้ภักดี 🙏🇹🇭💓
ไว้จะรีบลงตอนต่อไปนะครับ
ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชมอ่านบทความ ขอให้ร่วมใจกันอิ่มเอม และภูมิใจในสถาบันที่รักยิ่งของเราด้วยกัน 💓🇹🇭 #รักเธอประเทศไทย
ชาติที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ประทับใจดวงใจของไทยทั้งชาติตลอดกาล
โฆษณา