29 ต.ค. 2019 เวลา 13:58 • ข่าว
วันนี้มาคุยกันเรื่องคดีลักลอบขนแรงงานเถื่อนที่อังกฤษกัน ขออนุญาตไม่เกริ่นนำหรือสาธยายอะไร โพสต์นี้ผมเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงความคืบหน้าของรูปคดีโดยตรง แต่จะเป็นเรื่อง ขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีเครือข่ายค่อนข้างใหญ่ระดับภูมิภาค ว่ามีกระบวนการ มีขั้นตอน มีเทคนิคอย่างไร
1. ข้อสมมติฐานล่าสุดของคดี มีตัวละครหลักอยู่ดังนี้ มีคนขับรถชาวไอริชเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ด้วยรถบรรทุกที่ลงทะเบียนไว้ในประเทศบัลแกเรีย โดยมีเจ้าของเก่าเป็นชาวไอริช ได้ทำการขนย้ายชาวเวียดนามจำนวนมากขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ โดยสันนิษฐานว่าใช้พาสปอร์ตปลอมของจีนเข้าเมืองในยุโรปมา ด้วยนายหน้าชาวปากีสถาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าฉากให้แก๊งมาเฟียจีน
2. สาเหตุการตายยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มี 2 ความเป็นไปได้คือ ถูกแช่แข็งในตู้คอนเทนเนอร์ที่ลงอุณหภูมิไว้ ติดลบ 25 องศา (อีกความเป็นไปได้คือตายตั้งแต่ก่อนขนตู้ขึ้นเรือแล้ว เพราะขาดอากาศหายใจเนื่องจากตู้นั้นเป็นตู้ปิดตาย)
3. ชาวบ้านในบริเวณแถบท่าเรือตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะระบบรักษาความปลอดภัยที่หละหลวม และเจ้าหน้าที่ไม่สนใจ เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ไม่สำคัญ การตรวจตราจึงไม่เข้มงวดเท่าท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ (ส่วนนักวิชาการและฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย) แต่จากรายงานของ Daily Mail เผยว่า ตู้ทำความเย็นสามารถหลบเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนได้ และหากเจ้าหน้าที่ใช้สุนัขในการตรวจก็มีวิธีการป้องกัน คือ ให้คนในตู้เอาน้ำมันราดตัวไม่ให้สุนัขตามกลิ่นได้
4. ทางผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นฝีมือของขบวนการค้ามนุษย์ (ชาวจีน ชื่อ แก๊ง Sneakhead) ที่ปฏิบัติการอยู่ในเวียดนาม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่จังหวัดในทางตอนเหนือของเวียดนามกึ่งกลางระหว่างฮานอยและดานัง (3 จังหวัด; เหง่ อัน, กวางบิน และ ฮาติน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในเวียดนามมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ามาตรฐาน)
2
5. คนเวียดนามจากบริเวณเหล่านั้นมักเป็นคนจน และไม่มีงานทำ รายได้ต่อหัวไม่ถึง 40,000 บาทต่อปี โดยขบวนการค้ามนุษย์จะตั้งราคาสำหรับการลักลอบพาไปทำงานที่อังกฤษไว้ที่ 2 ระดับ ระดับแรก (Economy) สำหรับคนไม่มีกำลังทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 300,000-500,000 บาท (อาจต้องเดินข้ามภูเขา ลุยป่า ใช้เส้นทางธรรมชาติในการเดินทางร่วมด้วย)
6. สำหรับคนที่พอมีกำลังทรัพย์สามารถจ่ายได้ที่ราคา 1,200,000-1,600,000 บาท (Premium) จะได้รับตั่วเครื่องบิน พร้อมพาสปอร์ตและวีซ่าปลอมสำหรับเข้าประเทศเชงเก้นเพื่อบินเข้าไปที่ฝรั่งเศส (เงินล้านบาทสำหรับคนเวียดนามในแถบชนบทนั้นต้องใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าจะหาได้ ทำให้หลายๆคนต้องเอาบ้าน เอาที่ดิน ไร่นาไปจำนองเพื่อหาเงิน และกู้เงินมาจ่ายกันเลยทีเดียว) มีเซฟเฮาส์ให้หลบซ่อนตัวพักผ่อนก่อนมารวมตัวกันที่ท่าเรือในเบลเยี่ยม
7. ส่วนคนที่ไม่มีเงินจ่ายก็สามารถกู้นอกระบบเอากับขบวนการค้ามนุษย์นั้นได้ แต่สิ่งที่จะตามมาคือ ดอกเบี้ยมหาโหด และการข่มขู่หากไม่สามารถหาเงินมาคืนได้ จะมีการขู่เรียกค่าไถ่และลักพาตัวคนในครอบครัว (ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายคนเลือกวิธีนี้ เนื่องจากได้เงินมาง่ายๆ บางคนต้องทำงานหลายปีกว่าจะจ่ายหนี้เหล่านั้นหมด)
8. มูลค่าของธุรกิจการลักลอบค้ามนุษย์ข้ามโลกที่หากินกับคนเวียดนามจนๆนี้มีมูลค่ามากเกือบ 8,000,000,000 บาทต่อปี (จากรายงานของ UN มูลค่าทั่วโลกอยู่ที่ 200,000,000,000 บาท) ปัจจุบันการค้าแรงงานทาสในอังกฤษมีสถิติสูงถึง 7,000 คน ในปี 2018 (เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2013 ที่มีน้อยกว่า 2,000 คน) ระดับปฏิบัติการของคนในเครือข่าย ที่คอยพาแรงงานลักลอบเข้าเมือง อาจมีรายได้ถึงวันละเกือบ 100,000 บาท
9. คนที่จ่ายแบบ Economy อาจใช้เวลากว่า 2 เดือนหรือเป็นปีกว่าจะไปถึงอังกฤษ (เพราะจะโดนเรียกค่าไถ่จากมาเฟียกลางทางให้ต้องเข้าไปทำงานในประเทศกลางทาง เช่น ยูเครน และเยอรมนี แต่รายได้จะไม่เท่าที่อังกฤษ) แต่ไม่ว่าใครจะจ่ายแพงแค่ไหน สุดท้ายทุกคนต้องมารวมตัวกระจุกกันที่ท่าเรือ หรือชายแดน รอส่งเข้าไปอัดในตู้คอนเทนเนอร์ทุกคน
10. เส้นทางการขนย้ายของขบวนการนี้คือสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือมันมักมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่นิยมที่สุดคือ ข้ามชายแดนเวียดนามออกไปยังจีน แล้วบินมาที่รัสเซียในฐานะนักศึกษา/กรุ๊ปทัวร์ แล้วก็โดดร่มไปขึ้นรถตู้ต่อไปยุโรปตะวันออก อย่างยูเครน แล้วก็ไปออกโปแลนด์ลงมาที่เยอรมนี และข้ามไปฝรั่งเศส เพื่อไปรวมตัวกัน ณ ท่าเรือ Calais เพื่อจะข้ามฝั่งไปยังท่าเรือ Dover ของอังกฤษ (บางคนก็ไปไม่ถึง เพราะโดนเรียกค่าไถ่จนต้องทำงานใช้หนี้ก่อน)
11. อีกเส้นหนึ่งคือนั่งเครื่องบินมาลงที่บัลแกเรียและเซอร์เบียแล้วนั่งรถตู้ต่อไปฮังการี ออสเตรีย และฝรั่งเศส แล้วขึ้นไปเนเธอร์แลนด์เพื่อกบดานรอจังหวะ จากนั้นก็ส่งขึ้นรถบรรทุกที่ร็อทเธอร์ดาม แล้วไปที่ท่าเรือ (เส้นทางนี้ส่วนใหญ่จะใช้กันในหมู่ชาวตะวันออกกลางและแอฟริกาที่หนีภัยสงครามมา)
2
12. โดยสรุปมีท่าเรืออยู่ 2-3 แห่งสำหรับการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่อังกฤษ คือ ท่า Zeebrugge ในเบลเยี่ยม, ท่าเรือ Calais, ท่าเรือ Cherbourg และ Roscoff ในฝรั่งเศส ส่วนท่าเรือเป้าหมายที่อังกฤษจะเป็นท่าเรือ Dover, และ Purfleet ตรงปากแม่น้ำ Thames
1
13. ช่วงเวลาที่สำคัญอีกช่วงคือ การตั้งแคมป์กันรอเวลานัดของนายหน้าให้เอารถมารับ กันอยู่ในชายป่าทางตอนเหนือของฝรั่งเศส บางคนต้องรอเวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงคิวตนเองที่นายหน้าจะพาไปขึ้นรถตู้ไปส่งที่ท่าเรือแล้วค่อยแอบลักลอบเข้าตู้คอนเทนเนอร์กันต่อ
14. การจะไปขึ้นตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเตรียมการขนย้ายนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่นายหน้าจะพาไปขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ หลายคนต้องพยายามหาทางไปลักลอบเข้าตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตนเองในเวลากลางคืน โดยนายหน้าจะส่งคนไปรอรับที่อังกฤษทีหลัง หากรอดไปจนถึงจุดนั้นได้
15. ทำให้ท่าเรือใน Zeebrugge นั้นมีแรงงานต่างด้าวแอบลักลอบเข้าไปในเขตวางตู้ทุกคืน บางคนก็ขโมยชุดของพนักงานท่าเรือมาใส่แล้วปลอมตัวเข้าไป (กรณีนี้ต้องทำโดยที่คนขับรถบรรทุกไม่รู้ตัว เพราะส่วนใหญ่คนขับมักเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องด้วย แค่มีหน้าที่มารับตู้แล้วขับกลับอังกฤษเท่านั้น) ** การจะแอบเข้าท่าเรือต้องคลานต่ำเข้าไปเพื่อหลบหลีกเวรยาม **
1
16. ในบางครั้งระหว่างการขนย้าย ทางนายหน้าอาจพาพวกแรงงานไปหลบอยู่ในรถตู้ขณะขึ้นเรือข้ามฟากก่อน แล้วพอผ่านระบบรักษาความปลอดภัยมาแล้วจึงค่อยๆให้ขนย้ายไปเข้าตู้เปล่าบนเรือในภายหลัง ค่าโดยสารรถตู้ รถบรรทุก หรือ “แท็กซี่” ในการข้ามไปอังกฤษนั้น อาจมีราคาพุ่งถึง 20,000 บาท ถึงราวๆ 100,000 บาทต่อการเดินทางขาหนึ่งเลย (ค่าเรือข้ามฟากก็เช่นกัน อาจราคาพุ่งไปถึง 300,000 บาท)
17. ในบางกรณีที่ไม่ได้ขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ทำความเย็น ผู้ลักลอบเข้าเมือง อาจต้องอาศัยอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เป็นเวลาเกินกว่า 1 เดือน จากประเทศต้นทาง มาทางเรือ เข้าจอดสู่ท่าเรือจำนวนนับไม่ถ้วนตามระหว่างทาง โดยที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาเลย (มีการเจาะรูอากาศไว้ อากาศเข้าได้ แต่ต้องกิน ขี้ เยี่ยวในนั้น และมีอาหารสำรองไว้ให้กินในตู้) วิธีนี้จะจ่ายถูกหน่อย คือ จ่ายที่ราคา 600,000 บาท
18. แรงงานต่างด้าวที่จ่ายเงินในราคาแพงให้ขบวนการฯทุกคนจะได้รับพาสปอร์ตปลอมสัญชาติจีน (สำหรับคนเวียดนาม) และสัญชาติเกาหลี (สำหรับคนจีนที่ลักลอบ) เพื่อไว้ใช้ข้ามชายแดนเท่านั้น (คนที่โชคดี อาจจะได้นั่งข้างในรถข้างคนขับ ไม่ต้องอึดอัดในตู้ และได้นอนโรงแรมด้วย)
19. ก่อนจะเดินทางเข้าสู่อังกฤษ คนพวกนี้จะทิ้งเอกสาร พาสปอร์ตที่ยืนยันตัวเองจนหมด เพื่อไม่ให้รัฐบาลอังกฤษสามารถระบุตัวตน และประเทศที่จะส่งกลับได้ เพื่อหวังจะได้สถานะผู้ลี้ภัย เพราะหากไม่สามารถระบุชาติต้นทางได้ จะมีโอกาสได้เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายที่รัฐบาลจัดให้ เช่น สถานสงเคราะห์ เมื่อถูกย้ายไปอยู่สถานสงเคราะห์ คนพวกนี้ก็จะแอบโดดร่มออกไปทำงานในภายหลัง
20. คนสามารถรอดจากการอัดในตู้คอนเทนเนอร์จนมาถึงอังกฤษอย่างปลอดภัย จะมีรถบัสมารอรับที่หน้าท่าเรือ ตรงนี้เจ้าหน้าที่มักจะปิดหูปิดตา เพราะสงสาร เมื่อเห็นบางคนอุ้มลูกมาด้วย บางทีแจ้งตำรวจไป ตำรวจก็ไม่ทำอะไร
21. อนึ่ง อาชีพที่แรงงานต่างด้าวนิยมมาทำในอังกฤษคือ แรงงานไร้ฝีมือ เช่น หลังร้านอาหาร ร้านทำเล็บ และคนดูแลสวนกัญชา (ใต้ดิน) ซึ่งหลายๆคนถูกบังคับให้ไปค้าประเวณีร่วมด้วย
โฆษณา