5 พ.ย. 2019 เวลา 12:00 • สุขภาพ
Talicia : ความน่าสนใจในการรักษา H.pylori
บทความวันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวอันน่าสนใจของเชื้อ H.pylori ว่าคืออะไร เป็นมาอย่างไร แล้วแนวทางการรักษาในปัจจุบันนั้นเราใช้ยาอะไรรักษาอยู่บ้าง แล้ว Talicia มีความน่าสนใจอย่างไร มาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลยครับ
ขอบคุณภาพจาก www.drugtopics.com
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักเชื้อ H.pylori กันก่อน
H.pylori คือเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อเต็มๆคือ Helicobacter pylori ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1982 โดยแพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน คือ J. Robin Warren และ Barry J. Marshall
คุณลักษณะเป็น curvilinear gram negative bacilli with flagella (เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปแท่ง เหมือนรูปข้างบนเลย)
H.pylori ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมการติดเชื้อในแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนก่อให้เกิดโรคร้ายแรงแต่บางคนกลับไม่มีอาการ
ขอบคุณภาพจาก www.streetwisereports.com
สำหรับแนวทางการรักษาโดยใช้ยานั้น สูตรยามาตรฐานคือ Triple therapy เป็นการใช้ยา 3 ตัวร่วมกันในการฆ่าเชื้อ ประกอบด้วยยา Proton pump inhibitor (PPI), Amoxicillin และ Clarithromycin
ถ้าหากผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่ม Penicillin เราจะไม่สามารถใช้ยาในสูตรมาตรฐานได้ ต้องมาใช้อีกสูตรนั่นคือ Quadruple therapy ซึ่งในสูตรนี้จะมียาที่ใช้ร่วมกันถึง 4 ตัว ได้แก่ Proton pump inhibitor (PPI), Bismuth, Metronidazole และ Tetracycline
ไม่ว่าจะใช้ยาสูตรไหนก็ต้องกินยา 3-4 ชนิด ส่วนระยะเวลาในการรักษานั้นนานพอสมควร 10-14 วันเลยทีเดียว ทำให้การบริหารยามีความยุ่งยากและมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกินยาไม่ครบหรือกินยาไม่ต่อเนื่องได้
เมื่อเป็นดังนั้นยา Talicia ดูเหมือนจะเริ่มมีความน่าสนใจขึ้นมาแล้ว ทำไมถึงน่าสนใจ นั่นก็เพราะว่า ยานี้เป็น Combination drug นั่นเอง โดย 1 แคปซูลของยานี้ จะมียาถึง 3 ตัวอยู่ในนั้น
แล้วมียาอะไรบ้างล่ะ? ยา Talicia ประกอบด้วย Omeprazole 10 mg, Amoxicillin 250 mg และ Rifabutin 12.5 mg ต่อ 1 แคปซูล (ทรีอินวัน นั่นเอง)
หากพิจารณายา Talicia จะพบว่ามียาที่เป็นส่วนประกอบคล้ายกับสูตรมาตรฐานที่เราใช้รักษา H.pylori เพียงแต่เปลี่ยนยา Clarithromycin เป็นยา Rifabutin
Rifabutin จริงๆเราใช้รักษาวัณโรคหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แต่ก็มีการศึกษาว่าฆ่าเชื้อ H. pylori ได้ผล จึงได้รับการยอมรับให้ใช้
ส่วนวิธีใช้นั้นแอบดูเอกสารกำกับยาแนะนำ 4 แคปซูล ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน พอเห็นวิธีกินเท่านั้นแหละ มองบนเลยจ้า ดูเหมือนจะดีแต่ดีจริงรึป่าวเนี่ย
RedHill Biopharma บริษัทยาผู้คิดค้น Talicia
จริงๆการนำยามารวมกันแบบนี้ก็มีข้อเสียนะ เช่น
1. การรวมยาแบบนี้มีข้อจำกัดหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาพอสมควรคือเราจะไม่สามารถปรับขนาดยาได้เลย ไม่ว่าจะปรับเพิ่มขนาดยาหรือลดขนาดยา ในคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของตับและไตที่ผิดปกติ
2. สมมติผู้ป่วยกินยาเข้าไป 1 แคปซูล แล้วมีอาการแพ้ยาปรากฎ งานยากเลยที่จะบอกว่าแพ้ยาตัวไหนเพราะกินเข้าไปพร้อมกันทั้ง 3 ตัว การซักประวัติการใช้ยาอาจจะพอช่วยได้ แต่หากผู้ป่วยไม่เคยใช้ยาตัวใดมาก่อนเลย งานจะยากขึ้นไปอีก เป็นต้น
Talicia เพิ่งยอมรับให้ใช้เมื่อวานนี่เอง นำมาบอกเล่าให้ฟังกันสดๆร้อนๆ ดังนั้นในไทยยังไม่มีขาย
จะเห็นได้ว่าการแพทย์ทุกวันนี้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก มียาที่เกิดใหม่หลายตัวมากในแต่ละปี แล้วยามีวันตายไหม 🤔 ย่อมมีแน่นอน บทความหน้าจะขอนำเสนอยาตัวหนึ่งที่กำลังใกล้จะตาย เรื่องราวน่าสนใจเลยทีเดียว...
เอกสารอ้างอิง
1. การทดสอบเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ Helicobacter pylori จากเลือด โดย ทนพญ.วราภรณ์ ฟักโพธิ์
2. โรคและภาวะแทรกซ้อน จากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ในกระเพาะอาหารและวิธีการตรวจพิสูจน์เชื้อ โดย นพ.สุริยา กีรติชนานนท์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา