10 พ.ย. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ฟัง อ.สมคิด เล่ากลยุทธ์ประเทศไทย
ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทย มีปัญหามากจริงๆ โดยเฉพาะเหตุสงครามการค้า จีน-สหรัฐ สาเหตุหลักก็คงต้องยอมรับว่าประเทศเราเป็นเหมือนประเทศรับจ้างผลิต มานานพอสมควร เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง จีน และญี่ปุ่น ที่นี้พอทั้งสองประเทศนี้มีปัญหา มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เราจะได้รับผลกระทบ
1
ล่าสุด ดร.สมคิด ขึ้นปาฐกถาในงาน Thailand 2020 ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ซึ่ง ดร.สมคิดก็เล่า ภาพใหญ่ให้ฟัง เกี่ยวกับกลยุทธ์ของประเทศ และภาพเศรษฐกิจไทยใน ปีหน้า และปีถัดๆไป
และนี่คือประเด็นสำคัญ โดยแอดมินได้เสริมข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไป หากพร้อมแล้ว เราไปติดตามกันเลย
1) ในทุก “วิกฤต” ย่อมมี “โอกาส”
ย้อนไปวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 จุดเริ่มต้น ที่ทำให้ ดร.สมคิดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมือง โดยสมัยนั้นวิกฤตรุนแรง จนไม่มีใครอยากเป็นรัฐมนตรีคลัง
จริงๆ แล้ว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เริ่มเข้าสู่การเมืองครั้งแรกด้วยการเข้าดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยที่ ดร.ทะนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนได้มีบทบาทสำคัญ เป็นขุนพลเศรษฐกิจคู่ใจสมัยรัฐบาลทักษิณ และได้มานำทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน
2) อาเซียน กำลังเนื้อหอม ทุกคนจับจ้อง
ด้วยประชากรกว่า 600 ล้านคน อีกทั้งนโยบายของทรัมป์ทำให้โลกปั่นป่วนไปหมด โลกจึงหมุนเข้ามาหาอาเซียน หากเรามองไปที่ความร่วมมือทางภูมิภาคใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง RCEP จะสร้างประโยชน์มหาศาล โดย Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) เป็นการต่อยอดข้อตกลงการค้าเสรีที่เหล่าชาติอาเซียน มีอยู่กับประเทศต่างๆ หรือ ASEAN+1 ขยายเป็น 16 ประเทศ หรือ ASEAN+6 ประกอบด้วย อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จากที่ประชุมอาเซียน ล่าสุด ตกลงกันได้แล้ว 15 ประเทศ คือ ASEAN+5 รอไปลงนามกันปีหน้าที่เวียดนาม โดยมีอินเดีย ที่ปฏิเสธยังไม่ยอมเข้าร่วมตามคาด เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขสำคัญได้ กลัวหากเปิดประเทศแล้วจะเสียเปรียบทั้งจีน, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ก็คงต้องตามดูกันต่อไป
ทั้งนี้ ทางอินเดียก็เสนอกลับด้วยว่า กล้าเปิดเสรีแรงงานให้คนอินเดียไหม ทำให้ประเทศต่างๆต้องขอกลับไปคิดเหมือนกัน เพราะคนอินเดียทำงานเก่ง โดยเฉพาะด้านไอที และภาษาอังกฤษ อีกทั้งค่าแรงไม่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม RCEP ก็ต้องรอให้รัฐสภาของแต่ละประเทศอนุมัติกันก่อน กว่าจะมีผลบังคับใช้ก็อีกประมาณ 2 ปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาเตรียมตัวกัน
สอง BRI หรือ Belt and Road Initiative โดยจีนหมายมั่นปั้นมือจะเชื่อมโยงจีนกับทั่วโลก เริ่มต้นที่โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะรถไฟ และในที่สุดจะขยายไปสู่ “Digital Silk Road” โดย ดร.สมคิดบอก พลังที่ลงมาทางใต้ชัดเจนมาก เพราะดินแดนติดกัน และ Soft Power จีนในอาเซียนมีสูง
โดยจีน เน้น Greater Bay Area (GBA) มี กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า เป็นหัวหอกในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าลงมาที่อาเซียน ซึ่ง GBA มี ฐานการผลิตที่ยิ่งใหญ่ในเซิ่นเจิ้น  โดย ดร.สมคิดเล่าว่า อายุเฉลี่ยของคนในเซินเจิ้นค่อยๆลงลงมาเหลือเพียง 36 ปี และนายเทศมนตรีก็อายุ 50 ต้นๆ สาเหตุเพราะคนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเซินเจิ้น  โดยบริษัทใหญ่ๆ ทั้งอาลีบาบา และ Tencent ก็อยู่ที่เซินเจิ้น
สำหรับไทยแล้ว EEC ก็คือ จุดเชื่อมโยง GBA  ดร.สมคิด เคยให้สัมภาษณ์ว่า “หากไม่มี EEC เราจะเอาอะไรมาสู้กับเวียดนาม” และก็ได้เน้นย้ำในงานนี้อีกรอบ และพอพูดถึง EEC ก็ต้องบอกว่าภาพใหญ่ไม่ใช่ขายเฉพาะไทย แต่ยังรวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ CLMVT ทำให้สามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงส่งสินค้าไปเอเชียใต้อีกด้วย
อีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ความร่วมมือระหว่างไทยและฮ่องกง ซึ่งฮ่องกง ก็ยังมีความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องตลาดเงินและตลาดทุน โดยมีสี่ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นได้แก่ หนึ่ง FTA ฮ่องกง-ไทย เป็นแห่งแรก, สองการย้ายฐานการผลิตจากจีนและฮ่องกงมาไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค, สามความเชื่อมโยงตลาดทุนของฮ่องกง กับ ไทย อยากให้เกิด Cross Listing ให้ไทยเป็นหน้าต่างของ CLMVT, ละสี่ Sit up mechanism ของผู้นำระดับสูงของฮ่องกง ที่จะมาประชุมที่ไทย
สาม Indo Pacific Corporation ถ่วงดุลอำนาจจีน นำโดย ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นการผลักดันจากอินเดียและญี่ปุ่น เพื่อจะถ่วงดุลอำนาจกับจีน มีประเทศที่อยู่ในข่ายนี้ 30 กว่าประเทศ เป็นความร่วมมือกันทางทะเลให้เกิดการค้าการลงทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าของตกลงนี้จะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade นะ
และสี่ นอกจากนี้ ก็ยังมีความร่วมมือ อีกอันหนึ่ง เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล โอบาม่า ของสหรัฐคือ TPP (Trans-Pacific Partnership) แต่พอทรัมป์ไม่เข้าร่วม  TPP ก็เลยเปลี่บนชื่อเป็น CPTPP มี 11 ประเทศ นำโดยญี่ปุ่น
1
ซึ่งแต่ละความร่วมมือ ถึงแม้จะดูขาดโน่นนิดนี่หน่อย ตัวอย่างเช่น RCEP อินเดียยังไม่ร่วมด้วย, BRI ไม่มีสหรัฐฯ แน่ๆ, Indo Pacific Corporation ทั้งอินเดียและญี่ปุ่นไม่เอาจีน, CPTPP ปัจจุบันนำโดยญี่ปุ่น แต่สหรัฐไม่เอาแล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่กล่าวมา มี “อาเซียน” เป็นศูนย์กลางของทุกความร่วมมือ
3) ไทย vs. เวียดนาม
คงต้องยอมรับว่าประเทศที่กำลังมาแรงมากๆ และดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งของไทย ในหลายๆ ด้าน ก็คือ “เวียดนาม” โดยสาเหตุที่ GDP เวียดนาม เติบโตสูงหลักๆ ต้องบอกว่าเนื่องมาจาก เค้าผลิตมือถือซัมซุงในเวียดนาม และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive)
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แอดมินเคยมีโอกาสไปเที่ยว ดาหนัง และบานาฮิลล์ ได้รับประสบการณที่ดีมากๆ ไกด์ทัวร์ดูแลดีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ก็เต็มไปหมด ฟังรุ่นพี่คนหนึ่งวิเคราะห์ว่า เมืองดานัง มีโอกาสเป็น “ภูเก็ต Killer” ได้เลยทีเดียว
1
แม้แต่เรื่องฟุตบอลโลก เวียดนามก็ทำทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยใช้โค้ช ชาวเกาลีใต้ แต่แอดก็ยังเชื่อว่าทีมไทย ที่โค้ช นิชิโนะ ชาวญี่ปุ่น จะเอาชนะทีมดาวทอง ได้ (มันช่างประจวบเหมาะกับ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทะเลาะกันอยู่)
โดย ปีหน้าเวียดนาม ได้โอกาสเป็นประธานอาเซียนซะด้วย ถือว่าไทยเราเบียดกับเวียดนามมาคู่คี่ อีกประเทศใหญ่ในอาเซียนที่เราต้องแข่งก็คือ สิงคโปร์ โดย ดร.สมคิดเชื่อว่าประเทศไทยเรายังมีสิ่งดีๆ เหนือกว่าสิงคโปร์และเวียดนาม คือ หนึ่งเรามีพื้นที่ สองเราเชื่อมโยง CLMVT อยู๋ศูนย์กลางภูมิภาค และสามระดับการพัฒนาของประเทศสูงขึ้นมากว่าในอดีต
1
อย่างไรก็ตามเราต้องพยายามเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไม่โต ก็คงไม่ต้องหวังว่าประเทศอื่นๆ เค้าจะมาลงทุนในไทย โดย ดร.สมคิด เน้นโครงการภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะ EEC
4) ทีมประเทศไทย ปี 2020
การที่เงินบาทแข็ง อาจเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เอาเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาประเทศ และโครงการลงทุนใหญ่ๆ โดยเฉพาะ EEC ก็ต้องเร่งให้ได้ตามแผนงาน
1
เทคโนโลยีอื่นๆ ที่เราจำเป็นต้องตามให้ทันก็คือ เรื่องของ 5G, Big Data, Artificial Intelligence, การเสริมความแข็งแรงของชุมชนผ่านโครงการประชารัฐ (ไม่ใช่แค่แจกเงิน, จำนำข้าว, ประกันรายได้), การสนับสนุนสินค้า OTOP, การท่องเที่ยวเมืองรอง และการพัฒนาระบบการศึกษาโดยเฉพาะ STEM
โดย STEM  หมายถึงองค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)  ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับประเทศ
ผู้ประกอบการที่ดีก็คงต้องพยายามมองหาโอกาส ในวิกฤตครั้งนี้ และการที่ ประเทศจะพัฒนาได้ ก็ขึ้นอยู่กับพลังความร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ
ดร.สมคิด กล่าวปิดท้าย เอาไว้ว่า
“ถ้าเรามองไปข้างหน้าเป็นเรื่องความท้าทาย ไม่ใช่มองว่าเผาหลอก เผาจริง พูดซ้ำซากมา 15 ปี ต้องมองว่าปีหน้าเกิดมาอย่างนี้ทำอย่างไรให้แข็งแรง การเมืองเราต้องดี ถ้าการเมืองไม่ดีทุกอย่างไม่เดิน "
"ปี 2020 ไม่ใช่เผาหลอกและเผาจริงจะมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ต้องรอบรู้กว่านี้ เก็บข้อมูล ร่วมมือกัน ออกสื่อความให้ทุกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฮ่องกงแบ่งสีแล้ว เรา export สิ่งที่ไม่ควร export เราต้องไม่ให้สถานการณ์กลับไปสู่อดีต"
"ช่วงเวลานี้สำคัญมาก ดิจิทัล อีอีซี การประคอง การเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีบทบาทเด่นภายในภูมิภาค ไมใช่รัฐบาลแค่ 34 คนเท่านั้นที่จะทำ แต่คนทั้งประเทศที่จะทำ”
และ ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ ที่มหาวิทยาลัย ได้ข้อคิดดีๆหลายอย่างมาก จุดหนึ่งที่โดนใจมากๆ ก็คือ เวลาที่คนไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ ก็อยากให้มองบริษัทไทยด้วยกันเป็น ทีมประเทศไทย บุกไปด้วยกัน ดีกว่าที่จะมองเป็นคู่แข่งกัน…
ที่มา:
#ทีมประเทศไทย
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กด  ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา