11 พ.ย. 2019 เวลา 01:28 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
โลหิต
โลหิตเป็นสารสีแดงที่เดินอยู่ตามเส้นโลหิต ทำหน้าที่ในการนำพาลมดีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายภายใน ขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ในการนำพาลมเสียจากภายในผลักดันออกสู่ภายนอก โลหิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้
การกำเนิดและการโคจร
กระเพาะม้ามเป็นต้นกำเนิดแห่งโลหิต โดยกระเพาะม้ามจะทำหน้าที่ในการย่อยน้ำอาหารเพื่อใช้เป็นสารจำเป็นในการสร้างโลหิตต่อไป ดังนั้นในหลิงซู (靈樞) จึงกล่าวไว้ว่า “จงเจียวได้รับชี่ในการสกัดสารออกมา จากนั้นจะทำการแปรสภาพให้เป็นสีแดง และให้ชื่อว่าโลหิต” ทั้งนี้ในเสียเค่อ (邪客) ยังกล่าวอีกว่า “เมื่ออิ๋งชี่เข้าสู่เส้นหัวใจก็จะแปรสภาพเป็นโลหิต”
นอกกจากนี้ จิงและโลหิตยังสามารถสลับกันไปมาได้ ในจางซื่อทงอี (張氏通醫) จึงกล่าวว่า “หากชี่ไม่ถูกใช้ ก็จะกลับสู่ไตและเป็นจิง หากจิงไม่ถูกใช้ จิงก็จะกลับสู่ตับและกลายเป็นโลหิต” ดังนั้น การกำเนิดแห่งโลหิตจะต้องมีสารละเอียดจากน้ำอาหารและจิงในไตเป็นหลัก ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการทำงานของม้าม กระเพาะอาหาร หัวใจ ปอด ตับและไตที่ทำงานร่วมมือกันอย่างผสมผสานนั่นเอง
หลังจากโลหิตได้เกิดขึ้นแล้วยังต้องได้รับความร่วมมือจากหัวใจ ตับ ม้ามที่ทำให้โลหิตเดินอยู่ตามเส้นโลหิตแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย โดยหัวใจจะดูแลเรื่องเส้นโลหิต พลังหัวใจจะผลักดันโลหิต ม้ามจะกำกับโลหิตไม่ให้ไหลออกนอกเส้นโลหิต และยังมีตับที่ทำหน้าที่ในการระบาย เก็บสะสมโลหิตและปรับปริมาณของโลหิตให้มีความเหมาะสม ด้วยความร่วมมือกันอย่างสมัครสมานสามัคคีของอวัยวะเหล่านี้ จึงจะทำให้โลหิตสามารถหมุนเวียนเป็นวัฏจักรต่อเนื่องไม่ขาดสาย หากมีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเสียสมดุลไป ก็จะทำให้การหมุนเวียนของโลหิตเกิดความผิดปกติได้ เช่น หากพลังหัวใจพร่องขาดไป การโคจรของโลหิตก็จะไร้พลัง ยามนั้นก็จะเกิดอาการเลือดคั่งขึ้นมา หรือหากม้ามพร่องจนไม่สามารถคุมโลหิตได้ ยามนั้นก็จะเกิดอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ตกเลือด หรือจ้ำเลือดตามร่างกายได้
หน้าที่ของโลหิต
โลหิตจะกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ภายในจะเข้าถึงอวัยวะภายในทั้งหมด ภายนอกจะกระจายอยู่ตามกระดูกและผิวหนัง ดังนั้นโลหิตจึงมีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงอวัยวะภายในทั้งหมดให้เกิดความลื่นไหล หน้าที่นี้จะแสดงออกในด้านดวงตาและแขนขาได้อย่างชัดเจนมากเป็นพิเศษ ในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “ตับได้รับโลหิตจึงจะสามารถมองเห็น ขาได้รับโลหิตจึงจะสามารถเดินเหิน มือได้รับโลหิตจึงจะสามารถหยิบกำ นิ้วได้รับโลหิตจึงจะสามารถหนีบจับ” ในหลิงซู (靈樞) กล่าวว่า “เมื่อโลหิตดีก็จะทำให้กระดูกเอ็นแข็งแรง ไขข้อจะเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว” ดังนั้น หากโลหิตไม่เพียงพอก็จะสูญเสียการหล่อเลี้ยง ในยามนั้นก็จะเกิดอาการสายตาพร่ามัว ดวงตาแห้งล้า ไขข้อขัดข้อง แขนขาเหน็บชา ผิวหนังแห้งกร้านหรือคันเป็นต้น
นอกจากนี้ โลหิตยังเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจอีกด้วย หากโลหิตมีความเปี่ยมล้นจึงจะทำให้จิตใจมีความแจ่มใส ดังนั้นในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “อันโลหิตนั้น คือจิตแห่งมนุษย์” ในหลิงซู (靈樞) ยังกล่าวอีกว่า “โลหิตลื่นไหล จิตใจจึงจะดำรง” ดังนั้น หากโลหิตพร่องก็จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจมากมาย เป็นต้นว่า หากโลหิตหัวใจพร่อง โลหิตตับพร่อง ยามนั้นก็จะเกิดอาการขี้ตกใจ นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการทางจิตทั้งสิ้น
โฆษณา