12 พ.ย. 2019 เวลา 11:30 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
จินเยี่ย
จินเยี่ย (津液)
จินเยี่ยจะหมายถึงมวลน้ำของร่างกายทั้งหมด ซึ่งจะหมายรวมถึงน้ำลาย กรดกระเพาะ น้ำเมือกในลำไส้ สารหล่อลื่นตามไขข้อ น้ำตา น้ำมูก น้ำเหงื่อ น้ำปัสสาวะ เป็นต้น
การกำเนิดและการกระจาย
ต้นกำเนิดหลักของสารจินเยี่ยจะมาจากการย่อยอาหารน้ำของกระเพาะและม้าม ส่วนการกระจายของสารจินเยี่ยนั้น โดยหลักแล้วจะพึ่งพาม้ามในการลำเลียง พึ่งพาปอดในการกดลดและปรับช่องทางน้ำให้มีความลื่นไหล และสุดท้ายยังต้องอาศัยการขับถ่ายของไตในการแยกขุ่นใสออกจากกัน แต่การกระจายของสารจินเยี่ยนอกจากจะอาศัยการทำงานอย่างร่วมมือของอวัยวะดังกล่าวข้างต้นแล้ว สารจินเยี่ยยังมีซันเจียวในการช่วยลำเลียงและการกระจายอีกด้วย
นอกจากนี้ น้ำจากกระเพาะที่ถูกส่งลงล่างจะถูกดูดซึมจากลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก จากนั้นอาศัยกระบวนการของม้าม ปอดและซันเจียวในการช่วยกระจายไปที่ผิวหนังจนกลายเป็นเหงื่อ ทั้งนี้ซันเจียวยังจะส่งน้ำลงล่างไปที่ไต ผ่านกระบวนการกลั่นกรองไปยังกระเพาะปัสสาวะแล้วกลายเป็นน้ำปัสสาวะ ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ สารจินเยี่ยจึงสามารถส่งกระจายไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกายจนเกิดความลื่นไหลได้
โดยสรุปแล้ว การกำเนิด การกระจาย และการขับถ่ายของสารจินเยี่ยจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะ โดยจะมีปอด ม้าม ไตเป็นหลัก ดังนั้น หากอวัยวะเกิดอาการเจ็บป่วย ก็จะทำให้กระทบต่อการกำเนิด การกระจาย และการขับถ่ายของสารจินเยี่ยได้ หากการกำเนิดของสารจินเยี่ยพร่องขาด ก็จะเกิดอาการติดขัดทางด้านการกระจายจนทำให้น้ำตกค้างไม่หมุนเวียน ซึ่งจะทำให้มีอาการตัวบวมน้ำเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากสารจินเยี่ยเกิดปัญหาก็จะกระทบต่อการทำงานของหลาย ๆ อวัยวะด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่า หากน้ำรุกรานหัวใจก็จะเกิดอาการใจสั่น หากน้ำเย็นเข้าปอดก็จะเกิดอาการไอหอบ หากจินในปอดแห้งก็จะเกิดอาการไอแห้ง หากกระเพาะแห้งก็จะเกิดอาการกระหาย หากลำไส้แห้งก็จะมีอาการอุจจาระแห้ง เป็นต้น
หน้าที่ของสารจินเยี่ย
หน้าที่หลักของสารจินเยี่ยก็คือการบำรุงหล่อเลี้ยง แต่เนื่องจากมีคุณลักษณะที่แตกต่าง มีตำแหน่งของการกระจายตัวที่แตกต่าง จึงทำให้มีหน้าที่ที่แตกต่างตามไปด้วย โดยในส่วนที่เป็นสารใสและจางนั้นจะเรียกว่า “จิน (津)” ในส่วนที่เป็นสารขุ่นและเหนียวนั้นจะเรียกว่า “เยี่ย (液)” จินจะกระจายอยู่ตามผิวกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่บำรุงกล้ามเนื้อและหล่อเลี้ยงผิวหนัง ส่วนเยี่ยจะอยู่ตามไขข้อหรือตามรูต่าง ๆ มีหน้าที่ในการบำรุงไขสมอง หล่อลื่นไขข้อและรูต่าง ๆ แม้นทั้งสองสิ่งจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ก็ล้วนเป็นน้ำของร่างกายที่มีแหล่งกำเนิดมาจากน้ำอาหารทั้งสิ้น โดยทั้งสองสิ่งจะสามารถปรับเปลี่ยนกันไปมา ดังนั้นเราจึงมักเรียกสารทั้งสองนี้คู่กันว่า “จินเยี่ย”
โฆษณา