13 พ.ย. 2019 เวลา 11:27 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่ โลหิต และจินเยี่ย
แม้ชี่ (氣) โลหิต (血) และจินเยี่ย (津液) จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง แต่ในด้านหน้าที่การทำงานมักจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลักดันซึ่งกันและกัน และดึงรั้งซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ของสารทั้งสี่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน ซึ่งมักจะสะท้อนออกในทางพยาธิสภาพ ในทางกายภาพ ในทางชีวภาพ หรือกระทั่งในด้านการวินิจฉัยโรคนั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่และโลหิต
ชี่และโลหิตล้วนมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน นั่นก็คือมาจากน้ำอาหารที่เรากินดื่ม และจิงที่อยู่ในไต ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยกระเพาะ ม้าม ปอด ไตในการช่วยก่อกำเนิด
ทั้งชี่และโลหิตล้วนเป็นสารที่มีความจำเป็นสำหรับร่างกาย โดยหน้าที่หลักของชี่คือการอบอุ่นและการผลักดัน ส่วนโลหิตจะมีหน้าที่ในการบำรุงและการหล่อเลี้ยง ชี่มีคุณสมบัติเป็นหยาง ส่วนโลหิตมีคุณสมบัติเป็นอิน สองสิ่งจะเอื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งเราสามารถสรุปความสัมพันธ์ของชี่และโลหิตด้วยคำ ๆ เดียวคือ “ชี่เป็นที่พึ่งแห่งโลหิต (氣為血之歸) โลหิตเป็นมารดาแห่งชี่ (血為氣之母)” นั่นเอง
“ชี่เป็นที่พึ่งแห่งโลหิต (氣為血之歸)” หมายถึง ในระหว่างที่โลหิตได้กำเนิดหรือได้หมุนเวียน โลหิตจะไม่สามารถห่างออกจากชี่ได้เลยแม้แต่น้อย มวลพื้นฐานของโลหิตคือจิงแบบอิน (陰精) แต่สิ่งที่จะทำให้จิงแบบอินกลายเป็นโลหิตนั้นจะต้องอาศัยชี่ในการร่วมด้วยช่วยกัน ดังนั้นหากชี่เปี่ยมล้น ความสามารถในการเกิดโลหิตก็จะเหลือล้น หากชี่อ่อนพร่อง ความสามารถในการเกิดโลหิตก็จะอ่อนด้อยตาม ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการชี่พร่อง โดยมากก็จะทำให้มีอาการเลือดพร่องตามไปด้วย ดังนั้นในยามที่จะรักษาอาการเลือดพร่อง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำการบำรุงชี่ด้วยในขณะเดียวกัน
การหมุนเวียนแห่งโลหิตจะต้องอาศัยพลังแห่งหัวใจในการผลักดัน อาศัยพลังแห่งปอดในการกระจาย อาศัยพลังตับในการระบาย ดังนั้นจึงกล่าวว่า หากชี่คล่องเลือดก็จะไหลคล่อง หากชี่พร่อง การผลักดันก็จะอ่อนแรง หรือหากชี่อุดอั้นจนไม่เกิดการหมุนเวียน ยามนั้นก็มักจะทำให้การหมุนเวียนแห่งโลหิตไม่คล่องตัว และจะทำให้เกิดอาการเลือดคั่งได้ในที่สุด ดังนั้น ในยามที่จะรักษาอาการเลือดคั่ง ไม่เพียงแต่จะต้องให้ยาในการสลายเลือดคั่งเท่านั้น หากยังต้องให้ยาที่บำรุงชี่อีกด้วย
การที่โลหิตสามารถเดินอยู่ภายในเส้นโลหิตโดยไม่ซึมไหลออกมาข้างนอก โดยหลักแล้วเพราะมีชี่ในการกำกับอยู่นั่นเอง หากผู้ป่วยมีอาการชี่พร่อง ยามนั้นก็จะทำให้ชี่ไม่สามารถกำกับโลหิตให้อยู่ในเส้นทาง ผู้ป่วยก็จะมีอาการจ้ำเลือดตามร่างกาย
ส่วนคำว่า “โลหิตเป็นมารดาแห่งชี่ (血為氣之母)” นั้น หมายถึงชี่จะต้องอิงอยู่กับโลหิต และยังจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยงบำรุงจากโลหิต จึงจะทำให้ชี่สามารถผลักดันการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ ในทางคลินิกนั้น หากผู้ป่วยมีการสูญเสียเลือดมากมายโดยฉับพลัน ยามนั้นก็จะทำให้ชี่มีการสูญเสียหายไปโดยฉับพลันด้วยเช่นกัน ซึ่งจุดนี้จะสามารถอธิบายความหมายของคำว่า “โลหิตเป็นมารดาแห่งชี่” ได้เป็นอย่างดี
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่และจินเยี่ย
ในด้านลักษณะและหน้าที่ของชี่ (氣) และจินเยี่ย (津液) นั้น ความจริงจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากแต่ในด้านของการกำเนิด การโคจรและการกระจายนั้น กลับมีความเหมือนกันอย่างมากมาย นั่นก็คือต่างมาจากน้ำอาหารที่เรากินดื่มนั่นเอง
การกำเนิด การกระจายและการขับถ่ายของจินเยี่ยจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชี่จึงจะสามารถทำได้ นั่นก็คือจะต้องอาศัยปอด ตับและไต ส่วนในด้านการระบายและการขับถ่ายนั้นจะต้องอาศัยซันเจียวและกระเพาะปัสสาวะ หากอวัยวะที่มีความเกี่ยวข้องเหล่านี้เกิดการเสียสมดุลไป ยามนั้นก็จะทำให้มีอาการป่วยที่เกี่ยวกับสารจินเยี่ยได้ ซึ่งอาจจะเป็นอาการสารจินเยี่ยพร่องจนร่างกายร้อนแห้ง หรือสารจินเยี่ยนิ่งจนเกิดอาการบวมน้ำ หรือชี่พร่องจนไม่สามารถคุมจินเยี่ยและเกิดอาการจินเยี่ยไหลออกนอกกายมากมาย อนึ่ง หากจินเยี่ยนิ่ง ยามนั้นก็จะทำให้อุดอั้นการเดินทางของชี่ จนสุดท้ายได้สร้างปัญหาให้กับอวัยวะภายในต่าง ๆ ได้ หรือหากจินเยี่ยเกิดความสูญเสียมากเกินไป ยามนั้นก็จะทำให้ชี่สูญหายไปด้วยเช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างโลหิตและจินเยี่ย
โลหิตและจินเยี่ยต่างเป็นสารเหลว ซึ่งต่างมีคุณสมบัติในการบำรุงและหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งสองสิ่งจึงต่างมีคุณสมบัติที่เป็นธาตุอินนั่นเอง
จินเยี่ยเป็นส่วนประกอบหลักของโลหิต หากโลหิตซึมออกนอกเส้นโลหิต โลหิตก็สามารถกลายเป็นจินเยี่ยได้ และก็เนื่องด้วยโลหิตและจินเยี่ยสามารถเปลี่ยนสภาพซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงมีการกล่าวว่า “โลหิตจินเยี่ยมีต้นรากเดียวกัน” นั่นเอง
หากร่างกายมีการเสียเลือดอยู่เป็นประจำ หรือมีการเสียเลือดมากมายโดยฉับพลัน ยามนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อจินเยี่ยและทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย และผิวหนังแห้งกร้านได้ หากผู้ป่วยมีการสูญเสียจินเยี่ยมากมาย ความจริงก็จะส่งผลกระทบต่อการกำเนิดโลหิตด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในการรักษาผู้ป่วยที่เสียเลือด จึงไม่ควรใช้วิธีการรักษาแบบระบายเหงื่อ ส่วนการรักษาอาการทางจินเยี่ยพร่องของผู้ป่วย ก็ไม่ควรใช้วิธีการรักษาแบบปล่อยเลือดเช่นเดียวกัน ในหลิงซูได้กล่าวไว้ว่า “หากร่างกายผอมลีบหนึ่ง หากมีการเสียเลือดมากหนึ่ง หากมีการเสียเหงื่อมากหนึ่ง หากมีการขับถ่ายมากหนึ่ง หรือหากมีการเสียเลือดจากการคลอดบุตรหนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ควรใช้วิธีการรักษาแบบระบายทั้งสิ้น” จึงเห็นได้ว่า ในด้านการรักษาผู้ป่วยนั้น พึงมีความระมัดระวังโดยรอบคอบ
โฆษณา