15 พ.ย. 2019 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
เราเคยเรียนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้วว่า ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยคือแบงก์สยามกัมมาจล แต่รู้ไหมทำไมรัชกาลที่ 5 จึงตั้งธนาคารแห่งนี้ขึ้นมา
ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ก็ได้เห็นว่าทวีปยุโรปนั้นมีความเจริญทั้งทางด้านการศึกษา การอุตสาหกรรม และพระองค์ก็เห็นว่าการที่ยุโรปพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้านั้นนอกจากระบบการศึกษาที่ดีแล้ว ระบบการเงินการธนาคารก็นับว่ามีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนระบบอุตสาหกรรมและการค้าขาย เมื่อกลับเมืองไทยจึงมีความคิดว่าประเทศไทยควรมีธนาคารเป็นของตัวเองบ้าง
1
ในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีธนาคารที่เป็นของคนไทย มีแต่ของต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าขายและเปิดสาขาธนาคารของตนในประเทศไทย
เก้าปีหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปครั้งแรก ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2449 ตรงกับ ค.ศ.1906 ก่อนวิกฤตการเงินสหรัฐในปี 1907 เพียง 1 ปี ในชื่อว่า แบงก์สยามกัมมาจล
1
โดยแบงก์สยามกัมมาจลธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทยนี้เกิดจากการร่วมทุนระหว่างเจ้านาย พ่อค้า พระคลังข้างที่ (ทรัพย์สินส่วนพระองค์) และมีธนาคารต่างประเทศสองแห่งที่มาร่วมทุนด้วย คือ Deutsch-Asiatische Bank ของเยอรมัน และ Den Danske Landmands Bank ของเดนมาร์ก ซึ่งธนาคารทั้งสองนี้ถือหุ้นรวมกันที่ 19 เปอร์เซ็นต์
อันที่จริงตอนนั้นพระองค์มีความคิดจะตั้งธนาคารชาติ เพื่อดูแลระบบการเงินของประเทศตามอย่างยุโรปอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมักมีชาวต่างชาติเข้ามาขอดูแลบริหารระบบการเงินของประเทศ และเป็นตัวแทนเก็บภาษี โดยยื่นข้อเสนอให้สยามกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศ
แต่ต้องแลกกับการให้เขามีอำนาจในการออกพันธบัตร ที่สำคัญคือขอดำเนินการภายใตักฎหมายอังกฤษ ฝ่ายสยามเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบและทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์จึงพยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอด
1
ดังเช่นจดหมายกราบบังคมทูลของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในช่วงเดือนมกราคม 2448 ซึ่งมีใจความสรุปว่า...
2
...ได้ปรึกษากับท่านที่ปรึกษาทุกคนที่มี รู้สึกว่าเขาไม่อยากให้เรามีกำลังที่จะตัดผลประโยชน์ในธุรกิจของชาติเขา เขาไม่อยากให้เราซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ให้ทำแต่รับฝาก และปล่อยเงินกู้ในประเทศ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้า ฯ ว่า เรื่องการธนาคารจะคิดอ่านกับพวกอังกฤษคงไม่มีทางสำเร็จ เนื่องด้วยพวกเขาต้องรักษาผลประโยชน์ของเขาเป็นธรรมดา...
เมื่อการจัดตั้งธนาคารชาติมีผลประโยชน์มากมายที่ชาติมหาอำนาจหมายปอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเลี่ยงไปจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แทน ซึ่งก็คือ แบงก์สยามกัมมาจล นั่นเอง
2
หลังจากนั้นไทยก็พยายามศึกษาเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติอยู่เรื่อยมา แต่ก็ยังไม่เคยทำได้สำเร็จเนื่องจากไทยยังไม่ยอมให้ฝ่ายอังกฤษเข้ามามีบทบาทครอบงำระบบการเงินของประเทศ
1
จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดปัญหาจนเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองภายในประเทศ ระบบการเมืองการปกครองช่วงนั้นสับสนวุ่นวายและเกิดการแย่งชิงอำนาจกันบ่อยครั้ง
จนกระทั่งหลวงพิบูลสงครามพาประเทศไทยเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ทำให้ไทยต้องประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษ ธนาคารแห่งชาติของไทยจึงถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนตามข้อเสนอของญี่ปุ่นที่บอกให้ไทยตั้งธนาคารชาติขึ้นและให้ญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษา เหมือนกับที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศอื่นที่ไปยึดครองไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อต้องเผชิญกับความเป็นความตายของเอกราชทางการเงินของประเทศ ข้าราชการและนักการเมืองสมัยนั้นจึงใช้ความสามารถอันเป็นเลิศในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ออกพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเร่งด่วนภายในเวลาเพียง 1 เดือน หลังจากจดจ่ออยู่หลายสิบปี
1
เป็นอันว่าในที่สุดธนาคารกลางแห่งประเทศไทยก่อตั้งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2485 ตามแนวทางที่หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นคนร่าง และหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ก็ได้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศไทยเป็นคนแรก
เราคงเห็นแล้วว่าระบบธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลางที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศนั้นมีผลประโยชน์มากมายที่ต่างชาติอยากเข้ามามีส่วนร่วม และต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์จากเรา
คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าถ้าก้าวสู่ยุคไร้เงินสดแล้ว ระบบการเงินของแต่ละประเทศจะออกมาอย่างไร สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ...
1
"ผู้ใดคุมเงินผู้นั้นคุมอำนาจรัฐ ประเทศใดคุมระบบการเงิน ประเทศนั้นคุมโลก"
#พอดี
ถ้าชอบบทความหรือเห็นว่ามีประโยชน์
ฝากกดไลค์❤️ กดเแชร์💞 กดติดตาม📌
เป็นกำลังใจให้แอดมินด้วยนะคะ
โฆษณา