ญี่ปุ่นจาก Meiji Restoration ถึงสงคราม Midway ตอนที่ 2/5
ญี่ปุ่นพบวิถีโลกตะวันตก
การออกเดินทางของภารกิจอิวาคุระ
หมายเหตุ :
พอดีไปดูภาพยนตร์ Midway มา หนังเล่าเรื่องเร็วมาก แล้วใส่เหตุการณ์เข้าไปค่อนข้างเยอะ
ระหว่างที่นั่งดูก็คิดว่าใครที่ไม่คุ้นเคยประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ดูแล้วน่าจะงง
เลยอยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา
เนื้อหาจะมีหลายตอน เริ่มตั้งแต่ การปฏิรูปของญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Meiji Reformation ไล่ยาวไปจนถึงการรบที่ Midway นะครับ
วางโครงไว้คร่าวๆประมาณนี้ครับ
ตอนที่ 1 จากโชกุน สู่ จักรพรรดิ์ (Meiji Restoration)
ตอนที่ 2 ญี่ปุ่นพบวิถีโลกตะวันตก
ตอนที่ 3 รัสเซียรบญี่ปุ่น (Russo-Japanese war)
ตอนที่ 4 จาก Pearl Harbor ถึงการรบที่ Midway
ตอนที่ 2 ญี่ปุ่นค้นพบวิถีโลกตะวันตก
1.
หลังจากที่โชกุนและกลุ่มเจ้าเมือง (ไดเมียว) ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงถูกโค่นอำนาจลง
ก็มีการสนับสนุนให้จักรพรรดิ์มุตสุฮิโตะหรือจักรพรรดิ์เมจิในวัย 15 พรรษา ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง
คำถามในตอนนี้คือ แล้วจะปฏิรูปประเทศยังไง?
ใครๆก็อยากปฏิรูปให้ประเทศพัฒนา แต่ญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศจากประเทศเอเชียที่ล้าหลังจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกที่โค่นกองทัพเรือของรัสเซียลงได้อย่างไร ในเวลาเพียงแค่สามสิบกว่าปี ?
ชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นมองว่าชาวยุโรปและอเมริกาเป็นพวกป่าเถื่อน แต่อย่างไรก็ตาม คนเถื่อนเหล่านี้ก็มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าญี่ปุ่น ดังนั้น ถ้าอยากพัฒนาด้านเทคโนโลยีเหมือนชาวยุโรปและอเมริกา ก็คงต้องยอมไปเรียนรู้และเลียนแบบจากคนเถื่อนเหล่านี้
วิธีการหลักของการปฏิรูป จึงเน้นที่การเรียนรู้และเลียนแบบชาติตะวันตก แล้วนำมาเทคโนโลยีที่ทันสมัยของตะวันตกมาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมที่สวยงามของญี่ปุ่น เกิดเป็น เทคโนโลยีตะวันตกแต่จิตวิญญานเป็นญี่ปุ่น
โดยเป้าหมายของการปฎิรูปคือ ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง
2.
แม้จะคิดว่าชาวตะวันตกป่าเถื่อน แต่เมื่อต้องการเรียนรู้จากตะวันตกก็ต้องเดินทางไปยังดินแดนของชาวตะวันตก ญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นจึงมีการส่งคนหรือคณะฑูต ไปต่างประเทศหลายชุดด้วยกัน แต่ที่โด่งดังและต่อมามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศมากที่สุด เป็นคณะฑูตที่รู้จักกันในชื่อคณะอิวาคุระ หรือภารกิจ อิวาคุระ ตามชื่อของผู้นำทีมที่ชื่อ อิวาคุระ โทโมมิ
อิวาคุระ โทโมมิ
เป้าหมายหลัก ของภารกิจอิวาคุระ มีหลักๆสามอย่างด้วยกัน อย่างแรก คือ เพื่อไปประกาศให้รู้ว่า ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงแล้วนะ ตอนนี้ปกครองด้วยจักรพรรดิ์และจะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ สองคือ พยายามไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ และสาม คือ ไปเรียนรู้เคล็ดลับของชาวตะวันตก ว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ขนาดนี้
คณะฑูตอิวาคุระ
คณะของอิวาคุระที่เดินทางไปในครั้งนั้น ไม่ใช่ภารกิจเล็กๆที่จะส่งแต่คนหนุ่มสาว นักเรียน นักวิชาการ ไปเท่านั้น แต่ผู้บริหารระดับสูงๆของญี่ปุ่นเกือบ 50 คน ก็ต้องเดินทางไปเรียนรู้ด้วย (รวมนักเรียน นักวิชาการไปด้วยก็ประมาณ 100 คน) และแต่ละคนก็ไม่ใช่อายุน้อยๆ
อย่างตัวของอิวาคุระ โทโมมิเองในเวลานั้นก็อายุ 46 และถือได้ว่ามีตำแหน่งใหญ่เป็นเบอร์ 2 ของรัฐบาล
เด็กหลายคนที่ถูกส่งไปเรียนมีอายุไม่ถึง 10 ขวบ อายุน้อยที่สุด 6 ขวบ ทำให้เด็กเหล่านี้บางคนเมื่อเดินกลับมาญี่ปุ่นต้องมาเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นกันใหม่ พวกเขาก็ต้องทิ้งความสะดวกสบาย ความเคยชินที่บ้าน ลงเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค ไปเยือนดินแดนที่ไม่คุ้นเคย อาหารก็ไม่อร่อย(เกือบทุกคนเห็นตรงกันว่าอาหารฝรั่งมันเกินไป) และกินเวลานานอย่างน้อยๆก็หนึ่งปี (สุดท้ายกว่าจะได้กลับมาก็สองปีพอดี)
เด็กหญิงที่ถูกส่งไปศึกษา
การออกเดินทางไปยุโรปและอเมริกาสำหรับชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ มันเป็นการออกไปสำรวจโลกใหม่ที่พวกเขาแทบไม่รู้อะไรเลย พวกเขาไม่เคยเห็นยุโรป ไม่เข้าใจวิธีคิดแบบยุโรป ทุกอย่างจะเป็นของแปลกใหม่สำหรับพวกเขาอย่างสิ้นเชิง แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่การไปทัวร์เพื่อความบันเทิง แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันคือความอยู่รอดของประเทศ หลังจากที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอกมาเป็นระยะเวลา 200 กว่าปี
3.
คณะของอิวาคุระเริ่มออกเดินทางจากโยโกฮาม่าในเดือน ธันวาคม ปีค.ศ. 1871 ด้วยเรือจักรไอน้ำของอเมริกัน ประมาณหนึ่งเดือนถัดมาก็ไปถึงท่าเรือที่เมืองซานฟรานซิโก
เส้นทางการเดินทางที่อเมริกา
เมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงอเมริกา สิ่งแรกที่พวกเขาทำคือก็ปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกทันทีด้วยการ เปลี่ยนไปใส่ชุดสากล ใส่สูท ตัดผมสั้นแบบชาวตะวันตก
จะมียกเว้นก็ตัว อิวาคูระ คนเดียว ที่ยังแต่งตัวแบบชาวญี่ปุ่นเต็มยศเพื่อเป็นตัวแทนแสดงให้ชาวอเมริกันและยุโรปเห็นวัฒนธรรมอันสวยงามของญี่ปุ่น เพราะเป้าหมายครั้งนี้ไม่ใช่แค่การไปเรียนรู้ แต่ไปแสดงให้เห็นด้วยว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นชนชาติป่าเถื่อนที่ชาวอเมริกันหรือยุโรปจะมาดูถูกได้
ตลอดการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ อิวาคูระ และทีมจะวางตัวให้ดูภูมิฐาน มีมารยาท ตลอดเวลา ซึ่งความเป๊ะของมารยาทนี้ ถูกพูดถึงโดยหนังสือพิมพ์ของหลายประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของซานฟรานซิสโก เขียนว่า ญี่ปุ่นมีมารยาทที่งดงามจนเราน่าจะเรียนรู้สิ่งนี้จากพวกเขา หรือหนังสือพิมพ์ของอังกฤษเขียนชมว่า ชาวญี่ปุ่นมีมารยาทดี แต่งกายดี จนถ้าไม่เห็นสีผมหรือสีผิวก็คงจะหลงคิดว่าเป็นผู้ดีอังกฤษได้ง่ายๆ
ตลอดการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ คณะของอิวาคุระ ไปดูแทบจะทุกอย่างของชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหมืองแร่ ไร่นา ไปดูการสร้างทางรถไฟ
จากเมืองซานฟรานซิสโกก็เดินทางต่อด้วยรถไฟไปเมืองชิคาโก ซึ่งเพิ่งจะผ่านไฟไหม้ครั้งใหญ่ไปในปีก่อนหน้า ชาวญี่ปุ่นจึงถือโอกาสไปดูวิธีการวางผังเมือง การสร้างเมือง การสร้างอาคารแบบตะวันตก นอกจากนั้นพวกเขายังบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อช่วยในการฟื้นฟู จึงทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะของผู้ให้ ไม่ใช่ผู้ไปเรียนรู้แต่เพียงอย่างเดียว
ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ชิคาโก
จากนั้นก็เดินทางต่อไปเมืองหลวง วอชิงตัน ดีซี เพื่อเจรจากับรัฐบาลเพื่อพยายามขอแก้ไขสนธิสัญญา ชาวญี่ปุ่นยังนำรัฐธรรมนูญของอเมริกามาอ่านและวิเคราะห์ ไปดูการทำงานของรถไฟใต้ดินที่เมืองนิวยอร์ก เมื่อดูงานประเทศอเมริกาเสร็จก็เดินต่อไปยังประเทศอังกฤษ
งานเลี้ยงรับรองที่ Washington, D.C.
ที่อังกฤษพวกเขาก็แวะไปดูรถไฟ การสื่อสาร ระบบโทรเลข เหมือง รถไฟใต้ดินของลอนดอน การฝึกทหารแบบอังกฤษ ไปดูอู่ต่อเรือ ไปดูโรงงานต่างๆ พวกเขาไปดูแม้กระทั่งโรงงานทำขนมเล็กๆ นอกเหนือไปจากโรงานอุตสาหกรรมแล้ว พวกเขาก็ไปดูงานด้านวัฒนธรรมต่างๆด้วย เช่น ไปโรงละคร ไปชมคอนเสิรต์ที่ Royal Albert Hall ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ของอังกฤษ (British Museum)
British museum
การเดินทางไปดูงานแต่ละที่ก็ไม่ใช่ว่าจะดูไปเรื่อยๆถึงที่ไหนก็แวะ เพราะจุดแวะแต่ละที่ถูกเลือกหลังผ่านการวิเคราะห์แล้ว นับตั้งแต่วันแรกๆที่เดินทางไปถึงอเมริกา ทุกคืนคณะผู้แทนชาวญี่ปุ่นนี้จะมีการประชุมเพื่อมาสรุปสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้เรียนรู้ และวางแผนต่อว่า พวกเขาต้องการจะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ต้องการจะเห็นการพัฒนาประเทศไหนเทียบกับประเทศไหน แล้วจึงวางแผนการเดินทางกันต่อ
1
เมื่อญี่ปุ่นไปเห็นประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเกาะ และมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดเหมือนญี่ปุ่น ก็ตัดสินใจกันว่าพวกเขาควรจะเลียนแบบวิธีการสร้างอุตสหากรรมของ อังกฤษ เป็นหลักไม่ใช่อเมริกาเพราะอเมริกามีสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่มีนั่นคือ ที่ดินที่กว้างใหญ่และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล ซึ่งเลียนแบบกันไม่ได้
2
ชาวญี่ปุ่นไม่ได้ไปดูแต่ความสำเร็จของอเมริกาและยุโรป แต่พวกเขายังแวะไปดูพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนแอดอัดหรือสลัมของลอนดอน ซึ่งเป็นผลที่ตามมาของเมืองใหญ่และอุตสาหกรรม
จากอังกฤษพวกเขาก็เดินทางไปเยือนอีกหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมันนี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงหลายประเทศในเอเชียระหว่างเดินทางกลับแต่ไม่ได้แวะนานเท่าอเมริกาและอังกฤษ
เส้นทางเดินทางในยุโรป
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากหลังจากเดินทางไปเห็นประเทศอื่นๆ คือพวกเขาเห็นตัวเอง
เมื่อได้เห็นว่าประเทศอื่นๆอยู่ในระดับไหน พวกเขาก็มองเห็นได้ชัดเป็นครั้งแรกว่าญี่ปุ่นอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ และพวกเขาต้องทำอะไรจึงจะไปสู่ระดับนั้นได้
หลังจากการเดินทางผ่านไปสองปี พวกเขาก็เดินทางกลับถึงญี่ปุ่น จากนั้นก็นำสิ่งที่เรียนรู้มาเผยแพร่ให้กับคนที่เกี่ยวข้อง โดยเลขาส่วนตัวของอิวาคุระที่ชื่อ คุนิทาเกะ คุเมะ รวบรวมบันทึกต่างๆของแต่ละคนแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านได้ง่ายขึ้นออกมาเป็นหนังสือหลายเล่ม
คุนิทาเกะ คุเมะ
4.
ในหนังสือหลายเล่มที่เขียนออกมามีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆหลายอย่างที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่คณะสำรวจวิเคราะห์ออกมาได้ เช่น ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อชาวญี่ปุ่นไปศึกษาโรงงานทำไวน์แล้วเห็นการใช้จุกคอรก์ที่ผลิตในยุโรป ก็แปลกใจมาก เพราะจุกคอร์กมันทำง่าย แล้วอเมริกาก็มีไม้ที่สามารถทำจุกคอร์กได้มากมาย แต่ทำไมต้องไปซื้อมาจากยุโรป
เมื่อไปถามก็ได้คำตอบว่า จุกคอร์กที่ทำจากยุโรปมีคุณภาพดีกว่า ทำให้คณะสำรวจนี้ได้ความคิดว่า ถ้าคุณทำของให้ดีจริง คือมีคุณภาพสูง ต่อให้ประเทศผลิตสินค้าเดียวกันได้ เขาก็อยากจะซื้อสินค้าจากคุณ และนี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ต่อมาพวกเขานำมาใช้วางรากฐานในการพัฒนาสินค้า เพื่อให้สินค้าที่ได้ชื่อว่าผลิตโดยชาวญี่ปุ่น จะต้องมีความหมายเท่ากับ สินค้าคุณภาพดี
7
บทเรียนสำคัญอีกอย่างที่คือ อาชีพพ่อค้า เป็นกำลังสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นกลางจะต้องได้รับการสนับสนุนให้มีหน้าตาในสังคม ซึ่งต่างไปจากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำชั้นกว่าชนชั้นซามูไร
ในแง่ของสถานที่สาธารณะที่ให้ความรู้กับประชาชน เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือสวนสัตว์ พวกเขามองว่า สถานที่เหล่านี้มีความสำคัญมากๆ สำหรับการปลูกฝังให้ประชาชนและเยาวชนรักในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ พวกเขาเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตกก้าวหน้าเร็วเพราะสถานที่สาธาราณะเหล่านี้
สำหรับระบบการศึกษาก็มีการนำระบบการศึกษาของฝรั่งเศสมาเป็นต้นแบบ
ในแง่การปกครองพวกเขาสรุปว่าระบบ ชนชั้น แบบที่เป็นอยู่ในญี่ปุ่น จะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนชั้นได้ง่าย เพราะมีการแบ่งเป็นชนชั้นของคนที่ปกครองและถูกปกครองโดยชนชั้นล่างไม่มีทางได้ขึ้นมาปกครอง
แต่การปกครองที่ชนชั้นล่างได้มีตัวแทน มีสิทธิ์มีเสียงจะทำให้คนในชาติรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่า ซึ่งการรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ชาติก้าวหน้าไปได้เร็ว
สำหรับจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นนั้นแต่เดิมมา จะมีสถานะเป็นดั่งเทพเจ้ามาโดยตลอด ดังนั้นจักรพรรดิ์จึงเป็นสถาบันที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ประชาชนทั่วไปแทบไม่เคยเห็นจักรพรรดิ์ ถ้าเจอก็ห้ามมองตรงๆ
แต่ปัญหาคือจักรพรรดิ์ลักษณะนี้ แบบดั้งเดิมนี้ไม่สามารถจะเป็นสัญลักษณ์ที่รวมจิตใจประชาชนได้ ในขณะที่กษัตริย์และราชินีของยุโรปยุคใหม่ จะเสด็จไปในที่สาธารณะให้ประชาชนเห็นบ่อยๆ มีงานพิธีอะไรสำคัญของประเทศก็ต้องออกไปแสดงตัว เรื่องส่วนตัวอย่างการอภิเษกสมรสก็ต้องให้ประชาชนได้เห็น ได้ชื่นชม
การปฏิรูปเมจิ แม้ว่าเผินๆเหมือนจะเปลี่ยนการปกครองกลับไปใช้การปกครองแบบระบบโบราณ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอำนาจการปกครองไม่ได้อยู่ที่จักรพรรดิ์พระองค์เดียว และราชประเพณีต่างๆก็ให้มีการปฏิรูปใหม่ด้วย เช่น จักรพรรดิ์ต้องเสด็จไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ไปเยี่ยมโรงเรียน ไปเปิดเส้นทางรถไฟใหญ่ๆ พบปะพูดคุยกับประชาชน การอภิเษกสมรสซึ่งแต่เดิมไม่เคยให้ประชาชนเห็น ก็เปลี่ยนให้เป็นงานเฉลิมฉลองของชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้จักรพรรดิ์ของญี่ปุ่นมีความคล้ายกับกษัตริย์ของยุโรปมากขึ้น และทำให้เกิดความรู้สึกว่าจักรพรรดิ์ของญี่ปุ่นเท่าเทียมกับกษัตริย์ต่างๆของยุโรป
การปฏิรูปทางด้านทหาร ญี่ปุ่นสร้างกองทัพเรือขึ้นมาใหม่โดยใช้กองทัพเรือของอังกฤษซึ่งในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นต้นแบบ
นายทหารเรือและวิศวกรชาวญี่ปุ่นถูกส่งไปอังกฤษเพื่อไปเรียนรู้การต่อเรือ การฝึกของทหารเรือก็เลียนแบบวิธีการมาจาก Royal Navy ของอังกฤษ มีการเจรจาเพื่อขอซื้อเรือรุ่นใหม่ล่าสุดจากอู่ต่อเรือของอังกฤษ
สำหรับกองทัพบกในช่วงแรกก็เลียนแบบจากฝรั่งเศส แต่ต่อมาเมื่อกองทัพของปรัสเซียรบชนะออสเตรียและฝรั่งเศส ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนแผนและส่งนายทหารไปเรียนรู้การรบจากปรัสเซีย (ซึ่งรวมชาติเป็นเยอรมันนีในปีเดียวกับที่คณะสำรวจอิวาคุระออกเดินทาง) และซื้ออาวุธจากปรัสเซีย ในทันที
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็น insight และเป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆของญี่ปุ่น คือ การมองออกว่าพวกตะวันตกที่พวกเขาเคยมองว่าเป็นตะวันตกเหมือนๆกันหมดนั้น จริงๆแล้ว ตะวันตกแต่ละชาติมีความต่างกันมาก ทั้งสังคม วัฒนธรรม และการปกครอง แต่ละชาติก็มีอะไรที่น่าสนใจให้เรียนรู้ต่างกันไป
ทำให้ชาวญี่ปุ่นตระหนักว่า ญึ่ปุ่นไม่จำเป็นต้องไปเหมือนใครประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นประเทศญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีทันสมัย แล้วทำให้ชาวตะวันตกนับถือเหมือนที่ชาวตะวันตกนับถือกันเองได้
ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงสร้างความเป็นญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ด้วย ระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศส เศรษฐกิจแบบอเมริกา กองทัพเรือแบบอังกฤษ และกองทัพบกแบบเยอรมัน
5.
ครั้งหนึ่งระหว่างที่คณะอิวาคุระกำลังไปเยือนกรุงเบอร์ลิน ก็มีโอกาสได้พบกับเสนาบดีสายแกร่ง ออตโต วอน บิสมาร์ก หรือ iron Chancellor Otto von Bismarck ซึ่งเขาสนใจคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นเป็นพิเศษ จึงเชิญมารับประทานอาหารค่ำร่วมกัน
Otto von Bismarck
จังหวะหนึ่งบนโต๊ะอาหาร วอน บิสมาร์ก ก็พูดขึ้นมาว่า ประเทศในยุโรปนั้นแต่ละประเทศมีมารยาทที่ดีต่อกัน แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการเล่นละคร ความเป็นจริงแล้วประเทศที่แข็งแกร่งกว่าจะคอยเอาเปรียบประเทศที่อ่อนแอกว่า กฎหมายระหว่างประเทศต่างๆที่ตั้งขึ้นมานั้น ประเทศที่แข็งแกร่งจะยอมปฏิบัติตามตราบเท่าที่กฏหมายนั้นให้ประโยชน์กับตัวเอง แต่ถ้ากฎนั้นก่อให้เกิดการเสียเปรียบ ประเทศที่แข็งแกร่งกว่าก็จะใช้กำลังทหารเข้าบีบประเทศที่อ่อนแอ ปรัสเซียเคยเป็นหนึ่งอาณาจักรที่อ่อนแอ แต่หลังการปฏิรูปจนมีกองทัพที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในการรวมประเทศเยอรมันขึ้นมา ประเทศของเขาก็ไม่ใช่ประเทศที่อ่อนแออีกต่อไป
ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็พยายามสร้างจักรวรรดิ์ของตัวเอง ญี่ปุ่นจึงไม่ควรไว้ใจ แม้ว่าพวกเขาจะมีท่าทีที่เป็นมิตร ญี่ปุ่นเองตอนนี้ก็เป็นเหมือนที่ปรัสเซียเคยเป็น ดังนั้นญี่ปุ่นต้องเล่นการเมืองในระดับประเทศอย่างระวัง เลือกมิตรที่จะคบให้ดี และญี่ปุ่นกับเยอรมันควรจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันไว้
คำแนะนำนี้ของบิสมาร์กนี้ ญี่ปุ่นจำจนขึ้นใจ และทำให้ญี่ปุ่นตั้งใจว่าพวกเขาจะไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่จะสร้างจักรวรรดิ์ของญี่ปุ่นขึ้นมาเอง
6.
คณะของอิวาคุระ เริ่มออกเดินทางจากโยโกฮาม่าในเดือน ธันวาคม ปีค.ศ. 1871 ในเวลานั้นญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเล็กๆที่ล้าหลังและขาดทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในปี ค.ศ. 1895 หรืออีก 24 ปีต่อมา เมื่อญี่ปุ่นทำสงครามกับกับจีน ญี่ปุ่นจะบดขยี้กองทัพจีนอย่างงายดาย
และในปี ค.ศ. 1905 หรือ 34 ปีหลังจากภารกิจอิวาคุระ กองทัพเรือของญี่ปุ่นจะทำลายกองทัพเรือของมหาอำนาจอย่างรัสเซียแล้วก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจประเทศใหม่ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งเราจะได้เห็นกันในตอนหน้าครับ
1
(Ads)
สนใจอ่านความรู้สนุกๆแบบนี้อย่าลืมแวะชมหนังสือได้ที่
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา