29 พ.ย. 2019 เวลา 00:06 • บันเทิง
รีวิว The Irishman - คนใหญ่ไอริช คะแนน 10/10
"The Irishman- คนใหญ่ไอริช" ดัดแปลงมาจากหนังสือ "I Heard You Paint Houses" เล่าเรื่องราวของกลุ่มมาเฟียอิตาเลียน และการแย่งชิงอำนาจในสหภาพแรงงานอเมริกาในยุค 50-80s ผ่านตัวละคร "แฟรงก์ ชีแรน" หรือฉายา "The Irishman"(โรเบิร์ต เดอ นีโร) อดีตทหารผ่านศึกที่ทำงานขับรถบรรทุกส่งเนื้อวัว
ซึ่งบังเอิญได้พบกับ "รัสเซล บัฟฟาลิโน"(โจ เพสซี) เจ้าพ่อมาเฟียผู้ชักชวนให้แฟรงก์เข้าสู่ธุรกิจมืดในฐานะมือปืนรับจ้าง หรือที่เรียกในวงการว่า "รับทาสีบ้าน" ก่อนที่เขาจะได้เลื่อนเป็นผู้ติดตามของ "จิมมี่ ฮอฟฟา"(อัล ปาชิโน) ประธานสหภาพแรงงานผู้ทรงอิทธิพล
The Irishman ค่อนข้างมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามสไตล์ของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ระหว่างความยาวกว่าสามชั่วโมงครึ่งของหนังเรื่องนี้ ลุงมาร์ตี้เล่าเรื่องราวได้อย่างสุขุมเยือกเย็น เต็มไปด้วยบทสนทนาอันคมกริบ และมีความดิบ ความรุนแรงแบบไม่ทันให้ตั้งตัว
หนังให้ความเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศในยุค 50-80s ทั้งการแต่งตัว รถยนต์ และสถานที่ ซึ่งทุกกระเบียดนิ้วเราสัมผัสได้ถึงงานด้านภาพ และการตัดต่ออันลื่นไหลไปกับบทสนทนาของสุดยอดนักแสดง โดยเฉพาะฉากลองเทคที่ต้องการเน้นว่าตัวละครนี้มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง ชอบลองเทคฉากนึงที่แพนกล้องเข้าหาร้านดอกไม้พร้อมกับเสียงปืนที่ดังสนั่น ซึ่งดอกไม้ที่กำลังบานสะพรั่งทำให้นึกถึงเลือดที่สาดกระเซ็นไปทุกทิศ รวมถึงเพลงประกอบที่เข้ากับบรรยากาศในหนังแบบสุด ๆ
ที่โดดเด่นที่สุดคือหนังใช้เทคโนโลยี De-Aging CGI ย้อนวัยนักแสดงให้หนุ่มขึ้น 20 ปี เพื่อจะได้ใช้นักแสดงคนเดิมรับบทในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่ากันว่าต้นทุนสร้างเรื่องนี้สูงเกือบ $200 ล้าน ซึ่งนี่ทำให้ The Irishman เป็นหนังต้นทุนสูงที่สุดของ Netflix
โดยหนังพูดถึงสามประเด็นคือ อำนาจ มิตรภาพ และครอบครัว
1. อำนาจ : หนังเล่าเรื่องของธุรกิจในวงการมาเฟีย โดยเน้นไปที่สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ประธานสหภาพของจิมมี่ ฮอฟฟา ที่ไม่ยอมรับว่าอำนาจได้เปลี่ยนมือไปแล้ว ทุกคนพอใจให้ โทนี่ โปร นั่งเก้าอี้ประธานสหภาพเพราะปล่อยเงินกู้ง่าย การที่ฮอฟฟายังดึงดันทำให้กลุ่มมาเฟียไม่พอใจ
สหภาพแรงงานมีสมาชิกหลายล้านคนทั่วอเมริกา ว่ากันว่าตำแหน่งประธานสหภาพนั้นทรงอำนาจรองจากประธานาธิบดี ซึ่งกำลังมีการขับเคี่ยวชิงชัยตำแหน่งกันระหว่าง จอห์น เอฟ เคนเนดี้ กับ ริชาร์ด นิกสัน
การเปลี่ยนขั้วของ 2 อำนาจใหญ่ในอเมริกา ทำให้เครือข่ายธุรกิจมาเฟียเปลี่ยนไปด้วย และทุกคนพอใจในอย่างที่เป็นอยู่ การจะคงไว้ซึ่งอำนาจต้องให้กลไกทั้งหมดเดินไปอย่างเป็นระบบ
ถ้าหากชิ้นส่วนอันหนึ่งอันใดชำรุดหรือไม่เดินตามกลไก จึงจำเป็นต้องซ่อมแซมหยอดน้ำมัน หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือกำจัดทิ้งและเปลี่ยนใหม่ ซึ่งทั้งฮอฟฟา และเคนเนดี้ เป็นเฟืองที่ชำรุด
2. มิตรภาพ : ความสัมพันธ์ระหว่าง รัสเซล บัฟฟาลิโน, แฟรงก์ ชีแรน และจิมมี่ ฮอฟฟา เป็นมิตรภาพลูกผู้ชายที่ตั้งอยู่ในความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและพร้อมจะเปลี่ยนขั้วได้ทุกเมื่อ การติดคุกของฮอฟฟาทำให้เครือข่ายธุรกิจในวงการมาเฟียมีการเปลี่ยนแปลง
ทุกคนพอใจให้โทนี่ โปรคุมสหภาพแรงงาน แต่พอฮอฟฟาพยายามกลับมาทวงเก้าอี้ประธานสหภาพ จึงทำให้โครงสร้างการเงินสั่นคลอน แม้ว่าทั้งสามคนจะเป็นเพื่อนที่เคยมีความนับถือต่อกัน แต่ถ้าหากคนใดคนหนึ่งล้ำเส้นก็จำเป็นต้องกำจัดทิ้งเพื่อรักษากลไกอำนาจไว้ให้สมดุลย์
แฟรงก์จะเป็นตัวกลางในทุกเรื่องเป็นคนที่น่าหนักใจที่สุด เขาเป็นตัวเชื่อมระหว่างจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ในขณะที่รัสเซลเป็นมันสมองแฟรงก์เป็นคนลงมือทำ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างแฟรงก์กับแก๊งบัฟฟาลิโน นั้นเหนียวแน่นกว่าทางฝั่งฮอฟฟา เพราะรัสเซลได้ "ซื้อใจ" ของแฟรงก์เอาไว้ได้หลายครั้ง
การที่คนไอริชเข้าไปอยู่ในแก๊งอิตาเลียนแน่นอนว่าไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร แต่เมื่อรัสเซลมอบแหวน 1 ในสามวงให้กับแฟรงก์ เท่ากับตอกย้ำว่าแฟรงก์คือสมาชิกคนสำคัญ ประกอบกับการที่รัสเซลเคยช่วยชีวิตแฟรงก์เอาไว้ เขาเลยนับถือรัสเซลที่สุด
3. ครอบครัว : จะเห็นได้ว่าหนังให้ความสำคัญกับครอบครัว ซึ่งทั้งรัสเซล แฟรงก์และจิมมี่ ต่างก็รักครอบครัวตัวเอง โดยเฉพาะจิมมี่ที่ภูมิใจในตัวลูกชายมากที่ช่วยชีวิตเขาไว้ในศาล
แต่แฟรงก์กลับเสียเวลาในการปกป้องผลประโยชน์ให้เพื่อนมาตลอดชีวิต โดยหลงลืมไปว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือครอบครัว และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแฟรงก์ กับ "เพ็กกี้" ลูกสาวของเขาค่อย ๆ ห่างมากขึ้น มากขึ้น จนในท้ายที่สุดก็ขาดออกจากกัน
งานของแฟรงก์ที่ใช้เลี้ยงดูครอบครัวกลับทำให้เขาต้องสูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รักไป(ไม่ได้หมายถึงตายนะ) เมื่อเพื่อนในวงการจากไปหมดแฟรงก์จึงไม่เหลือใครเลย และนั่นทำให้ตอนจบของหนังเรื่องนี้ช่างโดดเดี่ยวเหลือเกิน ฉากที่แฟรงก์ขอให้บาทหลวงแง้มประตูไว้เพราะว่าเขากลัวที่จะอยู่อย่างเดียวดาย
โฆษณา