30 พ.ย. 2019 เวลา 13:01 • ความคิดเห็น
ก้าวแรกสู่สังเวียน (ผู้ประกอบการ)
สำหรับคนที่เริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง สิ่งที่ดีที่สุดคงเป็นการที่ได้ฟังและได้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์จริง โดยเฉพาะเกมธุรกิจซึ่งเดิมพันสูง
โดยแอดมินได้มีโอกาสมาอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เจอวิทยากรท่านแรกก็ทีเด็ดเลย โดยได้มีโอกาสได้ฟังคุณชิ สุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ ที่กำลังปลุกปั้นผลิตภัณฑ์ Topping มะม่วงแบบพรีเมี่ยม
คุณชิ มาเล่าประสบการณ์ และเทคนิคสำหรับคนที่อยากเริ่มธุรกิจใหม่ด้วยตัวเอง ในหัวข้อ "Shorten your startup"
ซึ่งแอดเห็นว่าถึงแม้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้คิดจะเริ่มธุรกิจก็น่าจะได้ประโยชน์ด้วย เลยสรุปให้อ่านกัน หากพร้อมแล้ว ไปติดตามกันเลย
1) Start with why
ใช่แล้ว เริ่มต้นด้วย "ทำไม" โดยคำถามที่ต้องถามตัวเองหนักๆ คือ
"ทำไมคุณถึงสนใจเป็นผู้ประกอบการ?"
ซึ่งจริงๆ แล้ว หากเรามี Passion ในใจอันแรงกล้า ก็เสมือนว่าเราจะมีโอกาสสำเร็จได้ 50% แล้ว
อีก 50% ต้องดูว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำ เป็นประโยชน์ ต่อลูกค้า (ในอนาคต) และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนรึเปล่า?
แรงบันดาลใจของคุณชิ เกิดจากความคิดที่ว่า เวลาที่เราทำเบเกอร์รี่ ปกติก็จะใช้บลูเบอร์รี่ หรือสตอเบอรี่กระป๋อง
สำหรับคุณชิซึ่งทำส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้อยู่แล้ว ก็เลยเกิดไอเดียว่า แล้วทำไมมะม่วงไทย จะไปทั่วโลกบ้างไม่ได้ ด้วยความฝัน
"อยากให้คนอเมริกันได้กินมะม่วงชีสพาย (โดยใช้มะม่วงไทย) บ้าง"
Cr. Tropica King
2) เป้าหมาย (ภาพใหญ่) ต้องชัด
ต่อเนื่องมาจากข้อแรก มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดตามก็คือ "Begin with the end in mind" คือพอเราเห็นภาพที่เราอยากให้เป็นชัดมากๆ ก็คือ เป้าหมายใหญ่เราชัดเจน
ข้อนี้คุณชิ ยกตัวอย่างได้ดี ที่แอดชอบมากๆ ก็เหมือน เรามีรถแรงๆ คันหนึ่ง แต่ดันเลือกผิดเส้นทาง ถึงแม้จะเร่งให้ตายยังไง ก็ไปไม่ถึงจุดหมาย!
3) สำหรับคนที่ทำงานประจำอยู่แล้ว ต้องตระหนักว่า การออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่ว่าเราจะอิสระเสรีขนาดนั้น
ห้า ข้อเท็จจริง สำหรับการมาเป็นผู้ประกอบการ ก็คือ
หนึ่ง ชีวิตไม่ได้สบาย ขึ้น คือตอนเป็นพนักงานประจำ หมดเวลาทำงานก็กลับบ้าน พอออกมาทำธุรกิจเอง ทุกเวลามีความหมาย
สอง เงินทุนที่คุณสะสมมา หมดแน่ๆ (จริงๆ คือ คุณมีโอกาสสูงที่จะต้องไปขอเงินคนอื่นมาร่วมทุนด้วย)
สาม คุณต้องละทิ้งสถานะ (ทางสังคม) บางอย่าง แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้น ต้องทำเองหมดทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือรบ เพื่อให้ฝันคุณสำเร็จ
สี่ คุณต้องมี ไอเดีย ที่ใช่ หากยังไม่เจอ ก็ทำฃานประจำไปก่อน เป็นผู้ประกอบการ 10% คือ หาเวลาว่างในการคิดและสำรวจไอเดียใหม่ๆ ไปก่อน
และห้า คุณต้องพร้อมที่จะล้มเหลว เรียนรู้กับมัน และก้าวเดินต่อไป
ตัวคุณชิ ก็เจ็บมาเยอะ โดยเล่าว่า ช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลังจากวิจัยและทดลองตลาดมาเกือบ 3 ปี จึงสั่งผลิตสินค้าล็อต 2,000 กระป๋อง
แต่ผ่านไป 1 เดือน มะม่วงดันเปลี่ยนสี เป็นอะไรที่เจ็บปวดมากๆ แต่ก็เป็นบทเรียนที่ล้ำค่า ให้แก้ไขปัญหา และเดินหน้าต่อไป คือ ช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารต้องเตรียมตัวว่า ได้เจอ "ทำ เท ทิ้ง" แน่นอน
(ทุกวันนี้ยังมีสินค้าล็อตนั้นอยู่ที่บ้านเลย)
4) วิธีการเดินให้ถึงจุดหมายเร็วขึ้น
ถึงแม้เส้นทางในรูปจะคดเคี้ยวขนาดไหน แต่ก็มีวิธีที่จะทำให้ถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น โดยคุณชิ สรุปจากประสบการณ์เป็น 3 ข้อ ด้วยกันคือ
หนึ่ง Straight คือ เดินให้ตรง
โดยตลาดที่เราจะเข้าไปทำธุรกิจ ก็ควรจะต้องใหญ่พอ มีอัตราการเติบโต แล้วก็ต้องมีโอกาสทำกำไร โดยคุณชิ มีแนวคิดว่า
จริงๆ แล้วตลาด Red Ocean ที่มีคู่แข่งมาก ก็อาจจะดี เพราะมีปลาชุกชุม อยู่ที่ว่าสินค้าหรือบริการของเรา ไปตอบโจทย์ปัญหาผู้บริโภคได้ดีกว่าคู่แข่งแค่ไหน
ตัวอย่างสินค้าใหม่ๆ ในตลาด Red Ocean มีหลายแบรนด์ที่ทำสำเร็จ เช่น น้ำเต้าหู้ Tofusan, บิ้วตี้ดริงค์ อย่าง SAPPE, หรือแม้กระทั่งน้ำปลาที่ทานแล้วไม่เป็นโรคไต!!
ซึ่งเราก็ควรที่จะต้องมองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใช้ชัดเจน และทำการศึกษาโดยละเอียด โดยตัวคุณชิเอง เนื่องจากลูกค้าคือกลุ่มชาวต่างชาติ คุณชิก็เลยลงไปดูตลาด เดินห้างต่างๆ ที่ชาวต่างชาตินิยม เช่น บิ๊กซัราชดำริ พาราก้อน ไอคอนสยาม
เวลาเดินก็ต้องไปดูทุกรายละเอียด ว่าสินค้าบนชั้นวางมีอะไรบ้าง ลูกค้าหยิบอันไหน ซื้ออันไหน ไปดูราคา ดูผลิตภัณฑ์คู่แข่ง ดูวันหมดอายุ ดูจำสินค้า ดูมันทุกอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่นั่งเสิร์ช Google แล้วมโนเอา
การไปเดินงานแสดงสินค้าก็จำเป็น หากใครทำธุรกิจอาหารแล้วไม่รู้จักงาน Thaifex นี่มีปัญหา
นอกจากนี้การจับคู่ของ 2 สิ่ง ให้ได้คอนเซ็ปสินค้าแบบใหม่ก็น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น กล้วยตากเคลือบช็อคโกแลต แบรนด์ Banana Society ซึ่งพลิกจากกล้วยตากกล่องละ 20 บาท ทำจนขายได้หลักร้อยบาทต่อกล่อง
สอง Speed คือ เดินให้เร็ว
ทุกวันนี้มีแนวคิดแบบสตาร์ทอัพ  ทำให้เร็ว ล้มเหลวให้เร็ว และเรียนรู้
ซึ่งสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็มีหลักการคือ Minimum Viable Product คือ สินค้าที่มีคุณสมบัติขั้นต่่ำที่สุด ที่ลูกค้ายอมจ่ายเงินซื้อ
ข้อนี้แอดมินเห็นว่า หากเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ อาจทำง่ายหน่อย แต่หากเป็นสินค้าชิ้นๆ ก็ต้องยอมรับว่า ต้นทุนการทำก็สูงกว่าพอสมควร แต่เราก็อาจมองหาโรงงานผู้ผลิตดีๆ ที่เค้าสามารถผลิตปริมาณน้อยๆ ให้เราทดลองได้ คือ ทุกปัญหาแก้ได้ หากเรามีโจทย์ที่ชัดเจน
และแนวคิดอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "หากคุณ ทำแบบคนรวย (ใช้จ่ายมาก จนฟุ่มเฟือย) คุณจะไม่รวย หากคุณทำแบบคนจน คุณจะไม่จน" บางอย่างทำได้ด้วยตัวเองก็ทำเองไปก่อน
และข้อสาม Steady คือ เดินสม่ำเสมอ
อย่าหยุดเดินไปซะก่อน แน่นอนว่าหนทางที่เลือกเดิน ไม่ได้สวยหรู เราเลือกทางเดินแล้ว ก็ต้องเชื่อและทำให้เห็นผลออกมาก่อน (จะดีจะร้ายก็เรียนรู้กันไป)
ข้อนี้แอดมินเชื่อว่า คนที่ทำเพจ เขียนบทความก็ต้องมีความสม่ำเสมอ ทำสิ่งที่ตั้งใจ บอกเอาไว้กับตัวเองแล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำ และทำให้สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ เราไม่ได้เดินคนเดียว ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจและทีมงานก็สำคัญ ทีมงานก็ต้องมีความหลายหลายทางความคิดพอสมควร จะได้เกิดสิ่งใหม่ๆ
ก็เป็นแนวคิดดีๆ สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ลองเอาไปปรับใช้กันดูได้ หากใครสงสัยอย่างไร อยากให้อธิบายเพิ่มเติมก็ถามกันเข้ามาได้เลยนะครับ
ยังไงแอดก็ต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และขอบคุณวิทยากร คุณชิ สุรวิชญ์ แห่ง Tropica King มา ณ ที่นี้ด้วย
ลงรูปที่ถ่ายกับวิทยากรซะหน่อย 😆
ยังมีต่ออีกหลายตอน จะค่อยๆ ทะยอยแชร์ให้อ่านกันนะ
เพื่อนๆ ที่ไม่อยากพลาดก็ฝากกด ติดตาม "See first" ในเฟสบุ๊ก และช่วยกด like and share หากชอบบทความ นะครับ 😀
ที่มารูปจาก Slide คุณชิ
ใครสนใจ Tropica King
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา