8 ธ.ค. 2019 เวลา 01:30
16 ปี แห่งความหลัง ของกองทุน LTF
เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน LTF ก็จะกลายเป็นอดีตสำหรับคนส่วนใหญ่ จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กองทุนรวมเพื่อการออม Super Saving Fund (SSF) มาแทนที่ LTF ที่จะหมดสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษี หลังหมดปี 2562 นี้ รายละเอียด SSF เป็นอย่างไรนั้นเชื่อว่าทุกคนคงได้อ่านข้อมูลที่มีผู้นำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ กันแล้ว
วันนี้ขอรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ LTF เพื่อรำลึกว่าครั้งหนึ่งพวกเราเคยมีกองทุน LTF หนึ่งในการลงทุนที่คนไทยรู้จักมากที่สุด ช่วยเราให้สามารถลดภาระภาษี และยังช่วยเปิดประตูสู่โลกของการออมและการลงทุนให้อีกหลายคนด้วย และยังมีผู้บอกว่าประเทศไทยคือประเทศเดียวในโลกที่มีกองทุนในรูปแบบของ LTF ที่ให้สิทธิผู้ลงทุนใช้สิทธิทางภาษีเมื่อมีการทำครบตามเงื่อนไขของกองทุนด้วย
แม้ว่าในปี 2563 LTF จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกต่อไป ใครที่ยังรู้สึกว่ากองทุน LTF ให้ผลตอบแทนที่ดี ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุน LTF ได้ต่อไป เพียงแต่กองทุน LTF จะถูกแปรสภาพเป็นกองทุนรวมแบบเปิดเช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้
LTF คืออะไร
LTF ย่อมาจาก “Long Term Equity Fund” หรือเรียกในชื่อไทยว่า “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” เป็นกองทุนรวมหุ้นที่ทางการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่จะช่วยการลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเวลานั้นการเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น กองทุน LTF จัดเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมตราสารแห่งทุน โดยกองทุน LTF มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุน LTF แต่ละกองอาจมีรายละเอียดนโยบายที่แตกต่างกัน บางกองอาจเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET50 ในขณะที่บางกองเน้นหุ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรม หรือบางกองเลือกลงทุนในหุ้นตามนโยบายที่บริษัทจัดการเห็นควรก็ได้ และ LTF มีทั้งกองทุนที่จ่ายเงินปันผล และกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนก็ได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก Wealthmagik
ที่มาของ กองทุน LTF และทำไมจึงนำไปลดหย่อนภาษีได้
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมที่เกิดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ อันจะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว ลดความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จากแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมทัศนะการลงทุนระยะยาวในหุ้น
ในเวลานั้นมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เกิดขึ้นในปี 2544 เพื่อส่งเสริมการออมแบบผูกพันระยะยาวแก่คนทุกกลุ่ม และได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้มีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนเพิ่มการออมระยะยาวเพื่อตนเองให้มากขึ้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการลงทุนในกองทุนรวม LTF รัฐบาลจึงได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับกองทุน RMF เพื่อเป็นการจูงใจผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ถึงปี 2559 เป็นปีสุดท้าย กำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ว่าต้องเป็นเงินได้ที่จ่ายค่าซื้อในกองทุนดังกล่าวที่จดทะเบียนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 เท่านั้น
ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุน LTF ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2562 โดยจะต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบอายุ 7 ปีปฏิทิน และยกเลิกเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะกองทุน LTF ที่จดทะเบียนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จึงทำให้มีกองทุน LTF ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่งที่มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน เช่น การลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น
ขนาดและมูลค่าของกองทุน LTF
ในปี 2562 พบว่ากองทุน LTF มีจำนวนรวม 93 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นระยะเริ่มแรกเมื่อ 16 ปีก่อน คือปี 2547 ที่มีกองทุน LTF จำนวนเพียง 22 กอง และมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 5.6 พันล้านบาทเท่านั้น ในเวลานั้นกองทุน LTF มีสัดส่วนประมาณ 1% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนรวมทั้งหมดในปี 2547
ตลอดระยะเวลา 16 ปีของกองทุน LTF มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีที่ไม่นับซ้ำกันจำนวน 1.2 ล้านบัญชี
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Krungsri Plan Your Money)
เมื่อเทียบกับกองทุนรวมในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1,600 กองทุน และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (หรือ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM)) อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท กองทุน LTF มีมูลค่าเป็นสัดส่วนประมาณ 7.5% ของกองทุนทั้งหมดในประเทศ
จากมูลค่าทรัพย์สินของ LTF และจำนวนบัญชี ทำให้เราคำนวณค่าเฉลี่ยได้ว่าคนจำนวน 1.2 ล้านคนที่มีบัญชี LTF มี LTF เฉลี่ยคนละประมาณ 330,000 บาท หากเป็นตามนี้ก็ต้องถือว่าเป็นวิธีการออมและการลงทุนที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพทีเดียว
สัดส่วนจำนวนผู้ซื้อและปริมาณการซื้อ LTF
ขอยืมข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อี๊งภากรณ์ www.pier.or.th ที่ได้เผยแพร่บทวิจัยของ ผศ.ดร. อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในเดือนธันวาคม 2561 โดยเป็นบทความจากข้อมูลการวิจัย “การวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ในปี 2555 ซึ่งมีสาระสำคัญในภาพรวม บางประเด็นที่น่าจะพูดถึง ดังนี้
www.pier.or.th
1. เปรียบเทียบเครื่องมือการลดหย่อนภาษีหลักเพื่อการออมและการลงทุน 3 เครื่องมือ คือ LTF, RMF และประกันชีวิต พบว่าตัวเลือกแรกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือลดหย่อนภาษีคือประกันชีวิต
เหตุผลที่ประกันชีวิตถูกใช้เป็นเครื่องมือลดหย่อนภาษีสูงที่สุดในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะในผู้มีรายได้น้อยและปานกลางซึ่งอาจไม่กล้ารับความเสี่ยงมากนัก จึงมีการซื้อประกันชีวิตซึ่งผลตอบแทนเป็นตัวเงินแน่นอน นอกจากนี้สิทธิลดหย่อนของเบี้ยประกันชีวิตมีจำนวนเงินสูงสุด 100,000 บาท จึงทำให้ผู้มีรายได้สูงซึ่งมีเงินออมได้มากกว่านำเงินไปลงทุนเพื่อลดภาระภาษีกับ LTF และ RMF โดยผู้ซื้อกองทุนก็จะนิยมซื้อ LTF มากกว่า RMF เพราะเงื่อนไขการลงทุนของ LTF ที่สั้นกว่า และไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปีเหมือน RMF ทั้งนี้แม้ LTF จะมีเงื่อนไขให้ถือครอง 5 ปีปฎิทิน แต่ในทางปฎิบัตินั้นระยะเวลาถือครองอาจสั้นที่สุดเพียง 3 ปีเศษเท่านั้นเอง หากซื้อในเดือนธันวาคมของปีที่ 1 และขายคืนในเดือนมกราคมของปีที่ 5 ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาว
การซื้อหน่วยลงทุน LTF มีการกระจุกตัวเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยเมื่อแบ่งกลุ่มผู้เสียภาษีออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับรายได้ โดยให้มีจำนวนคนกลุ่มละ 20% เท่ากัน กลุ่ม Q1 คือกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด และกลุ่ม Q5 คือกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด พบว่ากลุ่มผู้เสียภาษีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง (กลุ่ม Q1-Q4) มีสัดส่วนผู้ซื้อ LTF ต่อจำนวนผู้ยื่นแบบภาษี น้อยกว่าสัดส่วนเฉลี่ย 8.5% ของผู้ยื่นแบบภาษีในกลุ่มเหล่านี้ โดยกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด Q1 มีสัดส่วนผู้ใช้สิทธิเพียง 0.2% เท่านั้น ในขณะที่สัดส่วนนี้ของผู้มีรายได้สูง Q5 อยู่ที่ประมาณ 30% สูงกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 3 เท่าตัว แสดงถึงการกระจุกตัวของผู้ซื้อ LTF ที่อยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก
www.pier.or.th
2. จำนวนผู้ที่ซื้อ LTF เกิน 100,000 บาทต่อปี คิดเป็น 38% ของจำนวนผู้ซื้อ LTF ทั้งหมด และผู้ซื้อกลุ่มนี้ซื้อ LTF คิดเป็น 73% ของมูลค่าการซื้อ LTF ทั้งหมด
แม้ผลวิจัยนี้จะทำตั้งแต่ปี 2555 แต่หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตของทั้ง LTF, RMF และ ประกันชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะยังสะท้อนภาพได้ใกล้เคียงกับสภาพปัจจุบัน โดยจากข้อมูลสัดส่วนจำนวนผู้ซื้อและปริมาณการซื้อ LTF ที่แสดงถึงการกระจุกตัวของผู้ซื้อ LTF ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง
จึงเป็นที่มีของการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสิทธิลดหย่อนภาษีจากการออมและการลงทุนใหม่ โดยการยกเลิกสิทธิทางภาษีของ LTF ปรับเป็นกองทุน SSF ที่มีทางเลือกในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นนอกเหนือจากสินทรัพย์ประเภทหุ้น เช่นเดียวกับกองทุน RMF เพื่อให้เหมาะกับระดับการยอมรับความเสี่ยงและการจัดพอร์ตกระจายการลงทุนที่เหมาะสมของแต่ละคนได้ดีขึ้น และได้ปรับลดจำนวนเงินลงทุนที่ให้สิทธิทางภาษี รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขยายเวลาการถือครองที่ยาวขึ้นเพื่อสิทธิในการลดหย่อนภาษีในปี 2563 เป็นต้นไป
ขอขอบคุณทุก ๆ คน ที่อ่านมาจนถึงช่วงท้ายของบทความขนาดยาวนี้ และขอปิดท้ายด้วยรายชื่อ 5 กองทุน LTF ยอดนิยมที่มีขนาดมูลค่าทรัพย์สินใหญ่ที่สุดในเวลานี้ พีงสังเกตว่า 5 กองทุนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเป็นสัดส่วนสูงกว่า 50% ของมูลค่ากองทุน LTF ทั้งหมดรวมกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา