4 มี.ค. 2020 เวลา 23:23
กองทุน RMF : #1 ของดีๆ ที่คนมักไม่เลือก
1
unsplash.com
ถ้า Blockdit มีระบบการทำโพล บทความนี้คงต้องเริ่มด้วยการทำโพลถามชาว BD ว่าปีที่ผ่านมาวางแผนภาษีด้วยเครื่องมือการเงินอะไรกันบ้าง จะได้เห็นกันว่าชาว BD เลือกเครื่องมือวางแผนภาษีแตกต่างกับคนส่วนใหญ่หรือไม่
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเลือกทำ RMF
ข้อมูลที่เก็บจากกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้ของกรมสรรพากรพบว่าความนิยมของเครื่องมือการเงินที่ใช้ในการวางแผนภาษี เรียงตามลำดับสัดส่วนการใช้ของผู้เสียภาษีจากมากไปน้อย คือ ประกันชีวิต กองทุน LTF และ กองทุน RMF
เทียบเฉพาะที่เป็นกองทุนรวมด้วยกัน จำนวนผู้เสียภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อนด้วย LTF มากกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิลดหย่อนด้วย RMF ถึงสองเท่า (30.8% เทียบกับ 14.9%)
คนที่ใช้สิทธิ RMF ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มบนสุดที่เป็นผู้มีรายได้สูง (Q5 ในภาพ) ในขณะที่คนส่วนใหญ่ลงทุนใน RMF ต่ำมาก (จากกราฟจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนคนลงทุน RMF เพียง 0.8%-2.5% ในกลุ่มรายได้ Q3-Q4) ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนคนที่ลงทุนใน LTF ถึง 3 เท่าโดยประมาณ
2
เหตุผลน่าจะเป็นเพราะเงื่อนไขต่างๆ ของ RMF ที่เราต้องถือ RMF ไว้จนกว่าจะเกษียณ ไม่มีการนำเงินออกระหว่างทางในรูปของเงินปันผล และการที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือรูปแบบสำคัญของการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ
4
คนส่วนใหญ่ยังไม่(คิด)วางแผนการออมเพื่อการเกษียณอายุ"ด้วยตนเอง"
พูดได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมสำหรับการเกษียณ ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางด้านทัศนคติ หรือการไม่ตระหนักว่าต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณอย่างมีคุณภาพ รวมไปถึงด้านรายได้ที่ได้รับในระหว่างทำงาน
ด้านทัศนคติ : ธนาคารโลก (World Bank) พบว่า คนไทยมากกว่า 60% มีทัศนคติว่ารัฐบาลควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่คนกว่าครึ่งเข้าใจดีว่าตนเองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของตัวเอง
3
ด้านการตระหนักรู้ : การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้เราทราบว่าผู้สูงอายุจำนวนกว่า 37% พึ่งพิงบุตรเพื่อเป็นรายได้หลังเกษียณ ในขณะที่อีกกว่า 35% ยังต้องทำงานหาเงินใช้ต่อไป มีคนเพียง 9% เท่านั้นที่มีแหล่งรายได้หลักจากบำเหน็จบำนาญ ดอกเบี้ยหรือการขายทรัพย์สินที่มีอยู่
ปัญหาด้านรายได้ : หากพิจารณาระบบการออมเพื่อการเกษียณที่ภาครัฐจัดทำไว้ให้ก็จะพบว่า ระบบการออมเพื่อการเกษียณที่มีอยู่จะมุ่งเน้นรองรับกลุ่มที่มีรายได้ไม่มากอยู่แล้ว โดยผ่านระบบประกันสังคม และ สวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ ในขณะที่กลุ่มข้าราชการก็มีระบบ กบข รองรับ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นระบบการออมภาคบังคับ
1
ในขณะที่ระบบการออมภาคสมัครใจที่มีอยู่ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่สามารถครอบคลุมผู้มีรายได้ในภาคเอกชนได้มากนัก และยังไม่ครอบคลุมผู้ที่มีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนด้วย
กองทุน RMF จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับคนที่ต้องการสร้างการออมเพื่อการเกษียณให้ตัวเอง และได้กำหนดมาตราการด้านสิทธิลดหย่อนทางภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้มีรายได้สร้างการออมเพื่อเกษียณด้วย RMF
1
แต่ก็พบว่าคนส่วนมากเลือกที่จะใช้สิทธิภาษีจาก LTF มากกว่า LTF ไม่ใช่กองทุนการออมเพื่อการเกษียณโดยตรวจจึงไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างเงินออมได้เท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐตัดสินใจยกเลิกกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
RMF ในหลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2563
กลต ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) โดยผู้ลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2 ทางด้วยกันคือ...
ข้อ 1) เงินลงทนในกองทุน RMF สามารถนํามาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น (เดิมกำหนด 15%) และเมื่อรวมเข้ากับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวีตแบบบำนาญที่ผู้ลงทุนมีอยู่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท และการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ให้นับตามเวลาแบบวันชนวันตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มลงทุน
1
ข้อ 2) กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้หากมีการลงทุนเกิน 30% ของเงินได้หรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วมีกำไร จะต้องนํากําไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) นับเฉพาะเงินลงทุนส่วนที่เกินไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดาด้วย
ข้อ 3) ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ต้องซื้อขั้นต่ำ 3% หรือ 5,000 บาทเป็นไม่มีวงเงินขั้นต่ำในการซื้อ แต่เมื่อเริ่มซื้อ RMF แล้วต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีเช่นเดิม
การยกเลิก LTF และการขยายสิทธิลดหย่อนของ RMF จาก 15% เป็น 30% นั้น แสดงให้เห็นถึงการมุ่งส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อการเกษียณที่มีประสิทธิภาพในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง เรามาดู มิติที่จะเป็นประโยชน์จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ของ RMF ทั้งในด้านเงินภาษีที่เราประหยัดได้ในแต่ละปี และ จำนวนเงินออมที่เราจะได้รับหลังเกษียณกันครับ
1
มิติที่ 1 : สิทธิลดหย่อนทางภาษีที่ประหยัดได้
ตัวอย่างในตารางเป็นการเปรียบเทียบ 3 กรณี สำหรับแต่ละระดับของเงินเดือน โดย
กรณีที่ 1 มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% ของรายได้
กรณีที่ 2 ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กรณีที่ 3 มี RMF 30% ของรายได้
ขอยกตัวอย่างของคนโสด ไม่มีภาระหนี้สิน และไม่มีประกันชีวิต มาเปรียบเทียบนะครับ
1
กรณีที่ไม่มี PVD (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และ/หรือ RMF เราจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด เปรียบเทียบกับการใช้สิทธิด้วย PVD หรือ RMF จะได้รับการประหยัดภาษีตามเงินออมที่ใช้สิทธิลดหย่อน
ตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน
- หากไม่มี PVD/RMF จะเสียภาษี 35,150 บาท คิดเป็น 4.9% ของรายได้ทั้งปี
- หากมีเฉพาะ PVD 15% จะเสียภาษี 21,800 บาท คิดเป็น 3.0% ของรายได้ทั้งปี แต่
- หากมีเฉพาะ RMF 30% จะเสียภาษี 11,000 บาท คิดเป็น 1.5% ของรายได้ทั้งปีเท่านั้น โดยเงินภาษีที่ประหยัดได้เท่ากับ 24,150 บาท
ยิ่งเมื่อมีรายได้มาก ก็ยิ่งเห็นผลความแตกต่างของจำนวนเงินภาษีมากขึ้น
3
มิติที่ 2 : เงินออมที่น่าจะมี ณ วันเกษียณอายุ
ข้อนี้คือวัตถุประสงค์หลักของการลงทุนใน RMF เรามาดูกันว่า เมื่อเราออมเต็มสิทธิอย่างต่อเนื่องไปถึงวันเกษียณอายุที่ 60 ปี จะมีเงินก้อนจากการออมเป็นจำนวนเท่าไหร่
สมมุติฐานในการคำนวณ คือ ออม 20 ปี อัตราผลตอบแทนของ RMF เท่ากับ 5% / 10% / 15% (ผลตอบแทนในอดีตเฉลี่ย 10ปี RMF Equity จาก Morning Star Thailand อยู่ที่ประมาณ 15%)
เห็นได้ว่าการออมด้วย RMF ตามสิทธิที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราสามารถมีเงินก้อน ณ วันเกษียณได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และการที่ RMF มีกองทุนหลายแบบให้เลือกจึงทำให้เราสามารถเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับเราได้ด้วย
ตัวอย่างคนเงินเดือน 40,000 บาท จะมีเงินก้อนเมื่อเกษียณประมาณ 8.24ล้านบาท ถ้าเลือกลงทุนและได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 10%
ตัวอย่างที่นำมาให้ดู เป็นตัวอย่างที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ อาจไม่สอดคล้องกับการออมที่แท้จริง แต่ก็น่าจะทำให้เห็นภาพว่าเราควรจะออมเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับเรา เพื่อให้ได้ทั้งเงินก้อน ณ วันเกษียณ และเงินภาษีที่ประหยัดในแต่ละปี
เห็นข้อดีของ RMF กันแล้ว ใครที่ยังลังเลว่าจะซื้อ RMF ดีหรือเปล่า คงจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนะครับ
เพื่อไม่ให้บทความยาวไปยิ่งกว่านี้ จะขอตัดตอนเอาข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ RMF ไปไว้ในบทความตอนถัดไปนะครับ
ขอบคุณที่อ่านมาถึงช่วงท้ายของบทความนะครับ หากมีความเห็นอย่างไรสามารถให้ความเห็นได้เต็มที่ครับ
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่าน สำหรับ 1,000 followers นะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา