11 ธ.ค. 2019 เวลา 08:47 • ประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจจีนสมัยใหม่ 1
“รากฐานสู่มหาอำนาจจีน ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง“
หลังจากการหมดสิ้นอำนาจไปของประธานเหมาเจ๋อตงไม่นานนักเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้นำนโยบายสี่ทันสมัยมาฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างรวดเร็วเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1978
เติ้งเสี่ยวผิงผู้นำประเทศจีนรุ่นที่2
ภายหลังจากเหตุการณ์นโยบายก้าวกระโดดและปฎิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตงที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดการพัฒนามาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี บัดนี้ประตูสู่ความรุ่งเรืองของประเทศได้เริ่มเปิดออกแล้ว
นโยบายสี่ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงนั้นคือการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสี่ด้านด้วยกันได้แก่ เกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, การทหาร, และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6
Four Modernization
กล่าวโดยภาพรวมคือเติ้งเสี่ยวผิงได้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่จากเดิมซึ่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบศูนย์รวมในยุคเหมา กลายมาเป็นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยยกเรื่อง การปฎิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศ มาเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา
ด้านการเกษตร
ก่อนการปฎิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง การเกษตรยังเป็นระบบคอมมูนคือ แต่ละพื้นที่จะมีแปลงนารวมสำหรับให้หลายครอบครัวมาทำงานร่วมกัน พอได้รายได้จากรัฐบาลก็จะถูกแบ่งเท่าๆกันทุกคนไม่ขึ้นกับความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งหลังจากการปฎิรูป ระบบแปลงนารวมได้กลายเป็นแปลงนาของแต่ละครอบครัวดังเดิมและชาวนาชาวไร่มีสิทธิ์ตัดสินใจได้เองว่าพื้นที่ของตนจะปลูกอะไรถึงได้ผลผลิตดีที่สุด และเมื่อผลผลิตออกมาแล้วสามารถนำไปขายในตลาดเสรีได้ด้วยตนเองเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับชาวไร่ชาวนาในการสร้างผลผลิตและสร้างรายได้ยกฐานะทางด้านการเงิน ความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยทำจากรากฐานคือชาวนาชาวไร่ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้มั่นคงก่อน เพื่อพร้อมรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต
ด้านอุตสาหกรรม
ในช่วงเริ่มต้นเติ้งเสี่ยวผิงได้โฟกัสไปที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเบาเป็นหลัก เช่น เครื่องวิทยุ โทรทัศน์ ของใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ใช้เงินทุนค่อนข้างต่ำแต่เมื่อส่งออกแล้วได้รายได้กลับคืนมาสูง ทำให้ได้เม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่กลับมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัยและมีมูลค่ามากขึ้น รวมทั้งยังเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งตะวันออก เพื่อรับวิทยาการเทคโนโลยีจากต่างชาติมาประยุกต์ใช้ในการผลิตของตนเองต่อไป สุดท้ายประเทศจีนจึงกลายเป็นเสมือนโรงงานผลิตของโลกอย่างในปัจจุบัน
อุตสาหกรรมผลิตทีวีในประเทศจีน ค.ศ.1980
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เติ้งเสียวผิงมองการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ด้านอื่น ดังที่เขาได้กล่าวไว้ในงานประชุมวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี ค.ศ.1978 ที่มีผู้เข้าร่วมในแวดวงวิทยาศาสตร์กว่า 6,000 คน ว่า ”จุดแข็งของนโยบายสี่ทันสมัยคือความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากปราศจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยความเร็วสูง”
”รักวิทยาศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ ใช้วิทยาศาสตร์” สโลแกนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสนใจในวิทยาศาตร์ในประเทศจีนปี ค.ศ.1980
ในการพัฒนาทางด้านนี้รัฐบาลได้ส่งนักเรียนและนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำความรู้กลับมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้เพิ่มงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ภายในประเทศและยังนำเข้าวิทยาการและเครื่องจักรการผลิตต่างๆจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนก็เป็นการรับความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านการทหาร
การปฎิรูปทางด้านทหารได้โฟกัสไปที่ 3 ประเด็นหลักคือ
1. การปรับลดขอบเขตอำนาจทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army, PLA) ที่ไม่มีความจำเป็นภายในประเทศลง และปรับโครงสร้างระบบภายในเพื่อควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ปฎิรูปโครงสร้างองค์กรทหาร หลักคำสอน การศึกษาและการฝึกรวมถึงกฎระเบียบภายในกองทัพ
3. มุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาด้านการป้องกันประเทศคือการบูรณาการณ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย ต่อมาได้ทำให้ประเทศจีนก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศขนาดใหญ่มีการซื้อขายกับตลาดต่างประเทศในที่สุด
1
โพสประชาสัมพันธ์ความตั้งใจในการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยในปี ค.ศ.1980
ในความเป็นจริงนั้นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (Neoliberalism) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970 โดยสาระของระบบนี้อยู่ที่ การลดการแทรกแซงจากภาครัฐปล่อยให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาดโดยการเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน ซึ่งแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายเข้ามายังฝั่งภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย
เติ้งเสี่ยวผิงได้นำหลักเศรษฐกิจเสรีนิยมเข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบสังคมนิยมของประเทศจีนจนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สังคมนิยมโดยรัฐผนวกตลาด” (State-SocialismPlus-Market) หมายความว่า รัฐบาลเปิดเสรีให้เอกชนภายในประเทศได้เกิดการลงทุนสร้างธุรกิจการค้า เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก มีการเปิดรับวิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาการบริหารจัดการและการผลิตภายในประเทศรวมถึงมีการส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ แต่ทั้งนี้รัฐบาลยังคงทำหน้าที่ควบคุมและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เหมือนกับระบบเสรีนิยมแบบบริสุทธิ์ที่รัฐบาลมีอำนาจในการแทรกแทรงตลาดน้อยมาก การเข้าควบคุมทิศทางของเศรษฐกิจโดยรัฐบาลภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น การกำหนดราคาและค่าจ้าง การตรวจสอบสินค้านำเข้าและการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อปกป้องการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในประเทศ เป็นต้น
แนวคิดการปฎิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิงนับว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงผู้นำปัจจุบันอย่าง สีจิ้นผิง ซึ่งทำให้ประเทศจีนเกิดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจอย่างปัจจุบัน
3
สีจิ้นผิงผู้นำคนปัจจุบันของจีน
แนวคิดของเติ้งสื่อออกมาจากภาษิตเก่าที่เขาเคยกล่าวเอาไว้
“ไม่ว่าจะเป็นแมวดำหรือแมวขาว ถ้าจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี“ เป็นการบ่งบอกว่าไม่ว่าจะเป็นระบบทุนนิยมหรือสังคมนิยม ถ้าอันไหนนำมาใช้แล้วเกิดผลดีต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจดี ประชาชนกินดีมีสุขถ้วนหน้า ก็เห็นสมควรต้องใช้วิธีการนั้น
ช่วงนี้มีสอบภาษาจีนครับอาจจะไม่ได้ลงบทความบ่อยในช่วงนี้ ยังไงขออภัยคุณผู้อ่านด้วยนะคร้าบ ขอบคุณที่ติดตามผลงานนะคร้าบ :) และโปรดติดตาม เศรษฐกิจจีนสมัยใหม่ได้ในตอนถัดไปคับผม
References:
13.วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา ปีที่4 ฉบับที่1, คุณูปการของเติ้งเสี่ยวผิงที่มีต่อการสร้างสรรค์จีนให้ทันสมัย, ปิยะภพ มะหะมัด.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา