Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 ธ.ค. 2019 เวลา 13:00 • กีฬา
ทำไม VIVA CALCIO จึงเป็นมังงะที่ร้อนเปรี้ยงปร้าง ในไทยเมื่อยุค 90S?
“บาติสตูตาก็แค่ลูกหาบของ โย ชิอินะ” หนึ่งในคอมเมนต์ที่มักจะเห็นบ่อยๆ ในโลกโซเชียล เมื่อพูดถึง กาเบรียล บาติสตูตา สมัยเล่นให้ฟิออเรนตินา
ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน มีมังงะเรื่องหนึ่งที่สร้างปรากฎการณ์ในหมู่นักอ่านการ์ตูนชาวไทย มันตีพิมพ์ในช่วงเวลาเดียวกับ กัปตันสึบาสะ ภาคเยาวชนโลก แต่กลับได้รับการพูดถึงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
VIVA CALCIO คือชื่อของมังงะเรื่องนี้ มันคือเรื่องราวของ โย ชิอินะ แข้งชาวญี่ปุ่น ที่ออกไปผจญภัยในลีกสุดโหดหินในสมัยนั้นอย่าง กัลโช เซเรีย อา ของอิตาลี
อะไรที่ทำให้มังงะเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมในไทยในตอนนั้น ทั้งที่อยู่ในยุคเดียวกับกัปตันสึบาสะ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
มังงะฟุตบอลที่ไม่เหมือนใคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กัปตันสึบาสะ คือมังงะที่ช่วยปลุกกระแสฟุตบอลให้เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980-90 และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะชื่อดังหลายราย
Photo : www.sankei.com
และไม่ใช่แค่นักอ่านเท่านั้น กัปตันสึบาสะ ยังทำให้นักเขียนการ์ตูนสนใจและกล้าที่จะเขียนเรื่องราวของฟุตบอลมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นมังงะกีฬาที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นเบสบอล กีฬาประจำชาติของญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่
ทำให้หลังจากนั้น ได้มีมังงะฟุตบอลออกมาตีตลาดมากมาย และ VIVA! Calcio (วีวา กัลโช) มังงะจากปลายปากกาของอาจารย์ สึคาสะ ไอฮาระ ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1993-2000 ก็คือหนึ่งในนั้น
มันคือเรื่องราวของ โย ชิอินะ (หรือที่รู้จักกันในบ้านเราว่า โย ชีน่า) นักเตะฟุตบอลมัธยมปลายชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลโดยมีเป้าหมายลงเล่นในลีกยักษ์ใหญ่อย่าง กัลโช เซเรีย อา ของอิตาลี ที่อุดมไปด้วยนักเตะระดับโลกมากมายในตอนนั้น (ฤดูกาล 1993-94)
ในตอนแรกเขาตั้งเป้าที่จะเข้า เอซี มิลาน แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล เนื่องจากเนื่องจากเป็นนักเตะไร้ชื่อ แถมยังมาจากประเทศที่ยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกแม้แต่ครั้งเดียว
Photo : football-tribe.com
แต่ตอนหลัง ชิอินะ โชว์ฟอร์มเด็ดจนทำให้มิลาน สนใจ แต่สุดท้ายเขาก็เลือก ฟิออเรนตินา ที่แม้จะมีตัวชูโรงอย่าง กาเบรียล บาติสตูตา, สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก และ ไบรอัน เลาดรูป แต่กลับต้องดิ้นรนอยู่ในโซนท้ายตารางในตอนนั้น
และเป็น ชิอินะ ที่เข้ามากอบกู้ทีม หลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของ ฟิออเรนตินา พร้อมเบียด เลาดรูป หลุดจากโควต้านักเตะต่างชาติ และสามารถช่วยให้ทีมรอดพ้นจากการตกชั้นได้สำเร็จ ก่อนจะพาทีมคว้าแชมป์ในฤดูกาลต่อมา
มองดูแล้วมันอาจจะเหมือนกับมังงะฟุตบอลทั่วไป ที่พระเอกคือคนที่เข้ามานำทีมประสบความสำเร็จ แต่อะไรที่ทำให้มังงะ เรื่องนี้กลายเป็นที่จดจำ สำหรับนักอ่านชาวไทยจนถึงวันนี้
พื้นฐานจากโลกจริง
ท่ามกลางมังงะฟุตบอลที่เน้นความเวอร์วังของกลุ่มตัวเอก จากท่าไม้ตายสุดอลังการ อย่างกัปตันสึบาสะ หรือมังงะที่พูดถึงเรื่องราวของการต่อสู้ในฟุตบอลมัธยมปลายอย่างชู้ต แต่อาจารย์ไฮฮาระ กลับเลือกที่จะแตกต่างด้วยการทำให้ วีวา กัลโช อยู่บนพื้นฐานของโลกความจริง
Photo : www.phanpha.com
เขาใช้ กัลโช เซเรีย อา ลีกที่มีอยู่จริงในโลก เป็นฉากหลังของมังงะเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ตัวละคร ทั้งนักเตะและโค้ช จึงล้วนเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกลูกหนัง เช่นเดียวกับสโมสร โลโก้ และชุดแข่ง ที่ถอดแบบออกมาจากของจริงแทบทั้งสิ้น
มันจึงทำให้ วีวา กัลโช ได้มีโอกาสต้อนรับนักเตะชื่อดังมากมาย ที่เข้ามาสร้างสีสันในการ์ตูนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าจะเป็น โรแบร์โต บาจโจ ดาวเตะยูเวนตุส, จูเซปเป ซินญอรี ดาวยิงลาซิโอ หรือสามทหารเสือฮอลแลนด์ของมิลาน อย่างรุท กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และ มาร์โก ฟาน บาสเทน
เช่นเดียวกับเฮดโค้ช ที่ตอนนั้นลีกอิตาลีกลายเป็นแหล่งรวมยอดโค้ชของโลก ที่ทำให้กุนซือชื่อดังปรากฎอยู่ในเรื่องนี้ ทั้ง ฟาบิโอ คาเปลโล (เอซี มิลาน), จิโอวานนี ตราปัตโตนี (ยูเวนตุส) หรือ เคลาดิโอ รานิเอรี ที่คุมฟิออเรนตินาอยู่ในตอนนั้น
ในขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ตัวละครเท่านั้น มังงะเรื่องนี้ยังหยิบยกเหตุการณ์จริงในโลกลูกหนังเอามาใส่ไว้ในเรื่อง โดยเฉพาะผลงานของฟิออเรนตินาในช่วงต้นเรื่อง
คาดกันว่าเรื่องราวในมังงะตอนที่ ชิอินะ เข้ามาอยู่ในทีมน่าจะเป็นช่วงฤดูกาล 1992-93 เนื่องจากเป็นฤดูกาลแรกและเป็นฤดูกาลเดียวที่ ไบรอัน เลาดรูป เล่นให้กับฟิออเรนตินา และเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ไรจ์การ์ด เล่นให้ มิลาน
ซึ่งในฤดูกาลดังกล่าว ฟิออเรนตินา ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ แม้ กาเบรียล บาติสตูตา จะยิงให้ทีมอุตลุตถึง 16 ประตู แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการตกชั้น ซึ่งตรงกับผลงานในมังงะ ต่างเพียงแค่ในโลกจิตนาการ พวกเขาได้ ชิอินะ มาช่วยทีมจนปลอดภัย
Photo : www.poluvrijeme.com
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามังงะเรื่องนี้จะข้ามฤดูกาล 1993-94 ที่ในความเป็นจริง ฟิออเรนตินา ตกชั้นลงไปใน เซเรีย บี และใช้ฤดูกาล 1994-95 ซึ่งพวกเขากลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกครั้งเป็นฤดูกาลที่ 2 ของชิอินะ เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่ เอฟเฟนแบร์ก กลับไปเล่นในเยอรมัน และทีมได้ รุย คอสตา มาแทนที่
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นเครื่องยืนยันว่าอาจารย์ ไอฮาระ ใช้เหตุการณ์จริงมาเป็นต้นแบบ และการใช้พื้นฐานจากโลกจริงเหล่านี้ ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้มังงะเรื่องนี้ ได้รับความสนใจจากนักอ่านชาวไทย เนื่องจากมันสามารถสามารถเชื่อมต่อเรื่องราวระหว่างโลกจินตนาการกับโลกจริงได้อย่างกลมกลืน
“ส่วนสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมน่าจะเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ตัวละครเกือบทุกตัวเป็นผู้เล่นที่มีอยู่จริง และอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงในบางส่วน” ปิติศักดิ์ โชติพิบูลทรัพย์ ผู้สื่อข่าว โกล ประเทศไทย กล่าวกับ Main Stand
“นอกจากนี้ด้วยความสามารถของตัวละครที่ไม่โอเวอร์มากเกินไป และยังคงความสนุกในเนื้อเรื่องได้ ทำให้เหมือนอีกรสชาตินึงที่ต่างออกไปจากการอ่านการ์ตูนฟุตบอลในยุคนั้น”
อย่างไรก็ดี มังงะเรื่องนี้ไม่ได้มีดีแค่นั้น
เครื่องบันทึกความทรงจำกัลโชยุค 90
ในทศวรรษที่ 1990s ที่อินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องไกลโพ้นสำหรับเด็กและวัยรุ่น ส่วนยูทูบ ยังเป็นเพียงแค่อากาศธาตุ นิตยสารและโทรทัศน์ จึงเป็นเพียงไม่กี่ช่องทางที่จะทำให้เด็กไทยได้มีโอกาสรู้จักกับฟุตบอล
Photo : imanga.club
แน่นอนว่าด้วยความนิยมของฟุตบอลอังกฤษในช่วงนั้น ทำให้พรีเมียร์ลีก กลายเป็นลีกกระแสหลักที่มักถูกนำเสนอ และมีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ ที่ทำให้ลีกแดนผู้ดีกลายเป็นลีกที่คุ้นเคยกับคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ตรงข้ามกับ กัลโช เซเรีย อา แม้ว่าสมัยนั้นจะเป็นยุคทองของลีกแดนรองเท้าบู้ต แต่มันกลับเป็นเหมือนดินแดนลับแลของแฟนบอลชาวไทย เพราะเป็นลีกที่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป ในขณะที่การถ่ายทอดสดส่วนใหญ่ก็มีเฉพาะในเคเบิ้ลทีวีที่ต้องเป็นคนมีฐานะพอสมควรถึงจะเข้าถึงได้
และเป็น วีวา กัลโช ที่กลายเป็นเครื่องเบิกเนตรของเด็กและวัยรุ่นไทยในยุคนั้น ที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับลีกแห่งนี้มากขึ้น ด้วยความที่มังงะเรื่องนี้ถอดแบบมาจากความเป็นจริง ที่บางคนอาจจะรู้จัก บาติสตูตา, รุย คอสตา หรือแม้แต่ โรแบร์โต บาจโจ ก่อนตัวตนของพวกเขาเสียอีก
ในขณะเดียวกัน มันยังกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักอ่านได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของลีกอิตาลี รวมไปถึงรู้จักทีมต่างๆ มากมาย และยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนติดตามลีกแห่งนี้ หรือถึงขั้นกลายเป็นแฟนบอลทีมชาติอิตาลีไปเลยด้วยซ้ำ
“ผมได้ดูฟุตบอลของจริงก็แค่พรีเมียร์ลีก แต่พอได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้ ก็เรากลายเป็นชอบฟิออเรนตินาไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่เคยดูฟุตบอลกัลโชจริงๆ เลย” ปิติศักดิ์อธิบาย
“ผมชอบ บาติสตูต้า ชอบ รุย คอสต้า รู้จัก สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก โดยที่ไม่เคยเห็นเขาเล่นจริงๆ เลยด้วยซ้ำ”
Photo : imanga.club
วีวา กัลโช จึงเหมือนเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของลีกอิตาลีในช่วงทศววรษที่ 1990s ที่ทำให้เราได้เห็นภาพความยิ่งใหญ่ของมันในยุคนั้น ว่าครั้งหนึ่งลีกแห่งนี้เคยมีสตาร์เดินชนกันให้หัวขวิดขนาดไหน
นอกจากนี้ นอกจากนี้ด้วยความสมจริงของมังงะเรื่องนี้ ยังทำให้มันยังเป็นเหมือนแหล่งความรู้ใหม่สำหรับแฟนบอล และนักอ่านในยุคอนาล็อก แม้ว่าเรื่องราวจะถูกเติมแต่งไปบ้าง แต่ตัวละคร สโมสร และเหตุการณ์บางเรื่องก็คือเรื่องจริง และทำให้มันเป็นที่จดจำไม่แพ้มังงะฟุตบอลเรื่องดังอย่าง กัปตันสึบาสะ
“สาเหตุที่ทำให้เป็นที่จดจำทั้งที่อยู่ในยุคเดียวกับสึบาสะ คิดว่าเป็นเพราะความต่าง เหมือนเราอ่านสึบาสะ เราก็จะไปอยู่ในจินตนาการของผู้เขียน ทุกอย่างเกิดจากจินตนาการ ส่วน วีวา กัลโช เราเหมือนดูฟุตบอลจริงๆ ในรูปแบบของการ์ตูน” ปิติศักดิ์กล่าวต่อ
อย่างไรก็ดี มังงะเรื่องนี้สมจริงทั้งหมดเลยหรือ?
เวอร์อย่างแนบเนียน
วีวา กัลโช อาจจะได้รับการพูดถึงในฐานะการ์ตูนที่สมจริง ที่อ้างอิงจากนักฟุตบอลจริง สโมสรจริง ในอิตาลี แต่ในมุมหนึ่งมันก็มีความเกินจริงแฝงอยู่ แน่นอนว่าจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ชิอินะ ตัวเอกของเรื่อง
Photo : imanga.club
เนื่องจากตัวเอก เป็นเด็กอายุเพียง 16 ปี ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เล่นฟุตบอลอาชีพมาก่อน ผ่านแค่เวทีฟุตบอลมัธยมปลายเท่านั้น แต่กลับสร้างปรากฎการณ์ในลีกสุดโหดหินอย่าง เซเรีย อา ที่ทำให้นักเตะระดับโลกต้องหัวปั่น
เขาทำให้ลีกอิตาลีที่ขึ้นชื่อในแนวรับที่เหนียวแน่น ต้องเปื่อยยุ่ยเป็นทิชชู เพราะไม่ว่าคู่แข่งจะเก่งกาจแค่ไหน หรือเป็นนักเตะระดับโลกเพียงใด ชิอินะ ก็สามารถเลื้อย หรือแหวกเข้าไปยิงประตูหรือทำแอสซิสต์ได้เป็นประจำ ที่ขนาด ฟรังโก บาเรซี กองหลังเบอร์ 1 ของโลกของมิลานยังโดนมาแล้ว
เปรียบเทียบกับ กัปตันสึบาสะ มังงะฟุตบอลที่มีจุดขายในเรื่องความเวอร์วังอลังการ อาจจะเห็นภาพได้ชัด เพราะแม้ว่า โอโซระ สึบาสะ หรือตัวเอกและพวกพ้องจะเก่งแค่ไหน หรือมีท่าไม้ตายโหดเพียงใด แต่เมื่อขยับขึ้นไปในระดับโลก เขากลับเป็นเพียงนักเตะหน้าใหม่ที่ยังต้องสั่งสมประสบการณ์
1
ไม่ว่าจะเป็นการโดนทีมเยาวชนฮัมบูร์ก ไล่ยำ 1-5 ในการทัวร์ยุโรปครั้งแรกก่อนศึกจูเนียร์ยูธ หรือการแพ้เยาวชนเนเธอร์แลนด์ ด้วยสกอร์รวม 13-0 จากสองนัด รวมไปถึงการแพ้ เรียล เจแปน 7 ขาดลอย 5-6 ลูก ก่อนศึกเยาวชนโลก
หรือตอนที่ สึบาสะ ย้ายไปเล่นให้กับบาร์เซโลนา เขาเป็นเพียงแค่ตัวสำรองของ ริวัล แถมยังต้องลงไปเล่นในทีมสำรองเพื่อพิสูจน์ฝีเท้า เช่นเดียวกับ ฮิวงะ โคจิโร ที่เก่งแค่ไหน แต่ตอนย้ายไปอยู่ยูเวนตุส ก็ยังเบียดตำแหน่งในทีมชุดใหญ่ไม่ได้ และถูกส่งไปให้ เรจจินา ยืมตัว
ต่างจาก ชิอินะ สามารถเล่นในลีกอิตาลี ได้อย่างสบาย และเป็นดาวเด่นของลีกแซงหน้าแข้งระดับโลกอย่าง เบิร์กแคมป์ หรือ บาจโจ นอกจากนี้เขายังได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในแข้งที่มีอิทธิพลต่อทีมมาก ถึงขนาดบางครั้งสามารถแก้เกมด้วยตัวเองเลยด้วยซ้ำ
Photo : imanga.club
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเก่งของ ชิอินะ จะค่อนข้างเกินจริง แต่ก็มีบางทฤษฏีที่ที่ระบุว่าความเวอร์วังของเขาอาจจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดิเอโก มาราโดนา ตำนานทีมชาติอาร์เจนตินา
เพราะหลายอย่างของชิอินะ มีส่วนคล้ายกับมาราโดนา โดยเฉพาะการเป็นนักเตะร่างเล็กเหมือนกัน เป็นพวกจอมเทคนิคที่ยิงประตูได้ และการย้ายมาอยู่ทีมเล็ก รวมไปถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีม ก่อนจะพาทีมคว้าแชมป์ได้อย่างยิ่งใหญ่ในฐานะตัวแบกของทีม
เพราะก่อนที่มาราโดนา จะย้ายมาอยู่กับ นาโปลี ก่อนหน้านั้นพวกเขาเป็นเพียงทีมกลางตาราง และจบในอันดับ 11 ในฤดูกาล 1982-83 แต่หลังจากที่มาราโดนาเข้ามา เขาเปลี่ยนให้ทีมกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ ก่อนจะคว้า สคูเด็ตโต มาครองได้ถึง 2 สมัยในฤดูกาล 1986-87 และ 1989-90 โดยที่เขายิงได้แทบจะไม่เคยต่ำกว่า 10 ประตูต่อฤดูกาล ตลอด 7 ซีซั่นที่นั่น
นั่นจึงทำให้มีทฤษฎีสมคบคิดว่า อาจาร์ไอฮาระ ได้เอา มาราโดนา มาไว้ในร่างของชิอินะ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดมหัศจรรย์มากมายในเวลาต่อมา
สุดท้ายแล้ว วีวา กัลโช อยู่กับผู้อ่านจนถึงปี 2000 ก่อนจะปิดเรื่องราวด้วยการคว้าแชมป์สคูเด็ตโต ของฟิออเรตินา ภายใต้การนำทีมของ ชิอินะ ที่ยิงแฮตทริคในนัดสุดท้าย พาทีมเฉือนชนะมิลาน 4-3
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ ในโลกจริงได้มีนักเตะชาวญี่ปุ่นถึง 3 คนที่ได้ไปเล่นในกัลโช เริ่มตั้งแต่ “คิง คาซู” คาสุโยชิ มิอุระ กับ เจนัว ในปี 1994, ฮิเดโตชิ นาคาตะ กับ เปรูจา ในปี 1998 และ ฮิโรชิ นานามิ กับ เวเนเซีย ในปี 1999
Photo : happybday.to
โดยนาคาตะ ยังสามารถสร้างปรากฎการณ์ กลายเป็นนักเตะชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สามารถคว้าแชมป์ เซเรีย อา มาครองได้สำเร็จในปี 2000-2001 หรือหลังมังงะจบเพียงแค่ปีเดียว ที่เรียกได้ว่าโลกจินตนาการกับโลกจริงเชื่อต่อถึงกัน
ในขณะที่อาจารย์ไอฮาระ หลังจากนั้นได้เขียนมังงะอีกเรื่องที่ชื่อว่า YATAGARASU ที่เป็นเรื่องราวของวิธีการพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่นในระดับเยาวชน ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 2003-2011 ด้วยจำนวน 26 เล่มจบ ก่อนที่ชื่อของเขาจะหายไปจากวงการนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น
วีวา กัลโช จึงเหมือนผลงานชิ้นโบว์แดงเพียงไม่กี่ชิ้นของอาจารย์ไอฮาระ ในขณะเดียวกันก็เป็นหมุดหมายแห่งความทรงจำของฟุตบอลอิตาลีในช่วงทศวรรษที่ 1990s โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักอ่านชาวไทย
ที่ทำให้หากพูดถึง บาสติสตูตา, รุย คอสตา หรือ ฟิออเรนตินา หรืออิตาลี หลายคนก็จะนึกถึง โย ชิอินะ ฮีโร่ของวิโอลาในโลกมังงะอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
18 บันทึก
73
5
3
18
73
5
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย