19 ธ.ค. 2019 เวลา 08:52
อ่านหนังสืออย่างไรให้รู้เรื่อง
คำถามที่ผมถูกถามอยู่บ่อยๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะอ่านหนังสือได้เร็ว และเข้าใจเนื้อหาได้
ก่อนอื่นเลยผมต้องขอตอบเหมือนทุก ๆ ครั้งว่า ผมไม่ใช่คนอ่านหนังสือเร็ว แต่ผมอ่านเยอะเสียมากกว่า
วันก่อนผมไปเจอเนื้อหาในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Hyper Focus เขียนโดย Chris Bailey ซึ่งเป็นเคยเขียนหนังสือดังอีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า The Productivity Project
ในหนังสือเล่มนี้ มีบทที่ 0.5 ที่ชื่อว่า How to better focus on this book หรือ วิธีที่จะโฟกัสกับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมเห็นว่าสามารถนำมาปรับใช้กับการที่จะทำให้เราตั้งใจหรือมีสมาธิกับการอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วย
เลยขอเอาเทคนิคเหล่านี้มาเล่าให้ฟังด้วย รายละเอียดมี 7 ข้อดังนี้เลยครับ
1. Put your phone out of sight (เอาโทรศัพท์ออกไปให้พ้นตา)
ซึ่งในที่นี้คำแนะนำคือ เอาโทรศัพท์ไปไว้ในที่ที่เรามองไม่เห็น ซึ่งข้อนี้ก็บังเอิญตรงกับกิจวัตรของผมพอดี เพราะช่วงเวลาที่ผมอ่านหนังสือได้มาก คือช่วงเวลาก่อนเข้านอนและหลังตื่นนอน ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ผมวางโทรศัพท์มือถือไว้ชั้นล่าง ส่วนห้องนอนของผมอยู่บนชั้น 2 ดังนั้นทั้งสองช่วงเวลานี้ผมจึงได้อ่านหนังสือโดยที่ไม่มีโทรศัพท์อยู่ใกล้ ๆ เลย และมันก็ทำให้ผมมีสมาธิและตั้งใจอ่านหนังสือได้มากขึ้นด้วยครับ
ถามว่ามันเกี่ยวกับอย่างไร คืออย่างนี้ครับ หากเรามีโทรศัพท์อยู่ใกล้ ๆ เมื่อมีเสียงเตือนดังขึ้นมา เราอาจเสียสมาธิและหันไปดูหรือแม้แต่พิมพ์ตอบกลับ ซึ่งมันทำให้เราหลุดโฟกัสจากเนื้อหา และหลาย ๆ ครั้งจะพบว่า เมื่อหันกลับมาอ่านหนังสือต่อเราจะปะติดปะต่อเรื่องไม่ได้และมักต้องอ่านย้อนกลับ ซึ่งทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก
2. Mind your environment (เตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม)
หลัก ๆ ก็คือ ให้เราอ่านหนังสือในสถานที่ที่มีโอกาสถูกรบกวนได้น้อยที่สุด ซึ่งข้อนี้ก็ตรงกับของผมเช่นกัน เพราะในช่วงเวลาก่อนนอน ผมก็จะขึ้นมาบนห้องนอนก่อนคนอื่นเพื่ออ่านหนังสือ และหลังจากตื่นนอน ก็จะเป็นช่วงที่ผมได้อ่านหนังสือคนเดียวเช่นกัน
ในข้อนี้รวมไปถึงการหามุมโปรดที่เราจะสามารถอ่านหนังสือได้มากและนานขึ้นเมื่อเราอยู่ในมุมโปรดนี้ด้วยครับ
3. Make a distraction list (เขียนเรื่องที่จะกวนใจเราไว้ในกระดาษ)
เรื่องที่จะกวนใจเราในขณะอ่านหนังสือก็เช่น สิ่งที่เราต้องจำ สิ่งที่เราเพิ่งนึกขึ้นได้ หรือสิ่งที่กำลังจะทำ เพราะเมื่อเรามีเรื่องพวกนี้อยู่ในใจ เราอาจเผลอคิดถึงเรื่องพวกนี้ในระหว่างอ่านหนังสือได้ ซึ่งก็จะทำให้เราเสียสมาธิและทำความเข้าใจกับเนื้อหาในหนังสือได้ยากขึ้น
ดังนั้นเราควรเขียนเรื่องพวกนี้ลงกระดาษเอาไว้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องนึกถึงมันอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็จะมีสมาธิกับการอ่านหนังสือมากขึ้น
1
4. Question whether this book is worth consuming at all (ตั้งคำถามว่าหนังสือเล่มนี้มีค่าควรจะอ่านจริง ๆ ไหม)
จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราควรทำกับทุก ๆ เรื่องในชีวิตของเรา ก็คือตั้งคำถามว่า มันคุ้มหรือไม่ที่เราจะเสียเวลาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ สาเหตุก็เพราะเวลาของเราเป็นสิ่งมีค่า และมันก็มีจำกัดเสียด้วยนั่นเอง
ดังนั้นก่อนที่จะซื้อหนังสือเล่มใด ๆ ควรพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่เราควรใช้เวลาศึกษาหรือไม่ และเมื่อเริ่มอ่านไปแล้ว หากพบว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ได้ดีอย่างที่คิด ก็อาจต้องจำใจเลิกอ่านเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
และที่สำคัญ เมื่อเราตระหนักว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าเพียงพอที่เราจะอ่าน เราก็จะมีความอยากอ่าน และตั้งใจอ่านหนังสือเล่มนั้นมากขึ้นด้วยครับ
5. Consume some caffeine before reading (ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเริ่มอ่านหนังสือ)
ข้อนี้เป็นข้อที่ผมพบกับตัวเองโดยบังเอิญ โดยปกติแล้วหลังตื่นนอนผมก็จะเริ่มอ่านหนังสือทันที แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมรู้สึกอยากดื่มกาแฟ จึงลงมาชงกาแฟดื่มก่อนที่จะเริ่มอ่านหนังสือ ซึ่งปรากฏว่ากาแฟทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีความกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
1
แต่ข้อนี้ใช้ได้กับช่วงเช้าและระหว่างวันเท่านั้นนะครับ อย่าไปลองดื่มกาแฟก่อนอ่านหนังสือช่วงก่อนนอน เพราะเดี๋ยวจะนอนไม่หลับนะครับ
6 Grab a pen or highlighters (ถือปากกาหรือไฮไลท์ไว้ด้วย)
ง่าย ๆ ก็คือ ให้เขียนสรุป หรือเน้นข้อความที่เป็นใจความสำคัญในหนังสือที่อ่านไปด้วย วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เราจำเนื้อหาส่วนนั้น ๆ ได้ดีขึ้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์เมื่อเราย้อนกลับมาอ่านหนังสือเล่มนั้นอีกครั้งด้วยครับ
7. When you notice your focus is wavering, step back from this book for few minutes (เมือเริ่มรู้สึกว่าตนเองเสียสมาธิ ให้พักการอ่านก่อนสัก 2-3 นาที)
อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะครับ หากเราอ่านหนังสือไปสักพักแล้วเริ่มรู้สึกเหนื่อยหรือเริ่มเสียสมาธิ ดังนั้นอย่างแรกคืออย่าไปวิตกกังวลกับมันเกินไป จากนั้นให้พักการอ่านหนังสือเล่มนั้นสักครู่ โดยในระหว่างที่พักอาจหากิจกรรมเบา ๆ ทำ ที่ไม่ดึงโฟกัสของเราไปที่กิจกรรมนั้นมากนัก เช่น ออกไปเดินเล่น ไปคุยกับลูก ล้างจาน เป็นต้น และเมื่อรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นก็ค่อยกลับมาอ่านหนังสือเล่มนั้นต่อ
สำหรับตัวผมเอง เนื่องจากผมอ่านหนังสือพร้อมกันครั้งละหลายเล่ม หากผมอ่านเล่มหนึ่งอยู่ แล้วเริ่มรู้สึกตื้อ ๆ เหนื่อย ๆ ผมจะใช้วิธีสลับไปอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งแทน ซึ่งก็มักจะพบว่ามันช่วยได้ และทำให้อ่านหนังสือเล่มนั้นต่อไปได้ด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิค 7 ข้อที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ท่านนะครับ
///////////////////////////////
ขอขอบคุณ Page Lesson One ที่ช่วยสรุปจาก Nopadol's Story Podcast Episode นี้ด้วยครับ
โฆษณา