23 ธ.ค. 2019 เวลา 11:01 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดวัคซีน ตอนที่2
ยุคสมัยที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ จะอยู่ประมาณปี ค.ศ. 1870s
หลุยส์ ปาสเตอร์ในช่วงเวลานี้ก็มีอายุได้ 50 กว่าๆแล้ว
เกือบสามสิบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรษของประเทศมาครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อวงการเลี้ยงหนอนไหมเกิดโรคระบาดไปทั่วจนวงการสิ่งทอระส่ำระสาย ก็เป็นเขาที่เข้ามาแก้ไข
เมื่อวงการบ่มเบียร์เกิดภาวะเบียร์เปรี้ยว ก็เป็นเขาที่เข้ามาแก้ไข
เมื่อวงการหมักไวน์เกิดภาวะไวน์เปรี้ยวจนกระทบเศรษฐกิจของประเทศ ก็เป็นเขาอีกครั้งที่เข้ามาแก้ไข
ปาสเตอร์ยังเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยไขความลับทางการแพทย์ว่าแผลเน่าเกิดจากเชื้อโรค และทำให้วงการแพทย์รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีเชื้อโรค หรือ germ theory ซึ่งมีใจความหลักว่า สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า แบคทีเรียนั้น สามารถก่อให้เกิดโรคได้
5
แม้ว่าในเวลานี้เขาจะมีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกวงการวิทยาศาสตร์ แต่หลุยส์ ปาสเตอร์ ในวัย 50 กว่าๆ กำลังจะค้นพบบางสิ่งที่จะทำให้เขามีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น อีกครั้ง
ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากกล่องพัสดุที่ส่งมาถึงเขาใบหนึ่ง
1
ภายในกล่องพัสดุนั้นมีหัวไก่ และจดหมายหนึ่งฉบับ
กล่องพัสุดใบนั้นไม่ได้ถูกส่งมาจากฆาตรกรโรคจิตอย่างที่หลายคนแอบคาดเดาไว้ และหัวไก่ก็ไม่ได้เป็นการขู่ฆ่าว่าจะมีใครมาตัดหัวปาสเตอร์ แต่หัวไก่และจดหมายฉบับนั้น เป็นการขอความช่วยเหลือจากสัตวแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา โรคอหิวาต์ไก่ (chicken cholera) ที่กำลังระบาดอย่างหนัก
โรคอหิวาต์ไก่เป็นโรคที่มีความรุนแรงและอัตราการตายสูงถึง 90% ดังนั้นเมื่อมีการระบาดขึ้นมาครั้งใด เป็ดหรือไก่ที่ป่วยจะตายกันเป็นเบือ ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่า โรคนี้เกิดจากอะไร แต่เมื่อทฤษฎีเชื้อโรค ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนสงสัยว่าโรคนี้อาจจะเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "เชื้อโรค"
และนั่นเป็นที่มาของหัวไก่
นักสัตววิทยาชื่อ Jean Joseph Henri Toussaint สงสัยว่าโรคอหิวาต์ไก่จะเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เขาจึงตัดหัวไก่ที่เป็นโรคส่งมาให้ปาสเตอร์ช่วยตรวจสอบว่าโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อจริงๆหรือไม่
หลังจากที่ปาสเตอร์แยกเชื้อจากหัวไก่มาเพาะเลี้ยงได้ไม่นาน เขาก็นำเชื้อที่แยกมาได้ฉีดเข้าไปในไก่ปกติ ซึ่งมีผลให้ไก่ตัวนั้นตายในเวลาสั้นๆ
การทดลองจึงพิสูจน์ให้เห็นว่า โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อจริงๆ เพียงแต่ว่าเรื่องยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้
2
เพราะเชื้ออหิวาต์ไก่ที่แยกออกมาได้ กำลังจะมีบทบาทที่สำคัญอื่น โดยทั้งหมดมาจากความผิดพลาดและความบังเอิญ
1
หลายเดือนผ่านไป ปาสเตอร์ยังคงศึกษาแบคทีเรียก่อโรคอหิวาต์ไก่อยู่
วันหนึ่งหลังจากเตรียมเชื้อแบคทีเรียเสร็จ เขาก็ฝากงานให้ผู้ช่วยฉีดแบคทีเรียก่อโรคกับไก่ แล้วติดตามบันทึกผล ขณะที่ตัวเขาเองลางานไปพักร้อนเป็นเวลา 3 เดือน
2
ส่วนผู้ช่วยก็ไม่ต่างจากที่เราหลายคนเป็น คือ เมื่อเจ้านายไม่อยู่ เขาก็ลืมงานที่เจ้านายสั่ง เขาลืมฉีดเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในไก่ แล้วก็หยุดงานไปพักร้อนบ้างเช่นกัน
6
Charles Chamberland ผู้ช่วยคนเก่งของปาสเตอร์
เมื่อผู้ช่วยกลับมาจากลาพักร้อน ก็เห็นแบคทีเรียที่ตัวเองลืมฉีดวางอยู่ เขาจึงนำแบคทีเรียนั้นมาฉีดเข้าไปในไก่หลายตัว
แล้วเขาก็ต้องประหลาดใจที่พบว่า ไก่หลายตัวที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าไปนั้น ไม่ตายเลยสักตัว มีบางตัวที่มีอาการป่วยเล็กน้อยแต่ส่วนใหญ่ดูปกติดี เมื่อเห็นความแปลกเช่นนั้น เขาจึงนำเรื่องราวไปเล่าให้ปาสเตอร์ฟัง
เมื่อปาสเตอร์ได้ฟังเรื่องราว เขาก็สรุปกับตัวเองว่า สงสัยแบคทีเรียชุดนี้จะเตรียมไว้นานเกินไปจนอ่อนกำลัง ทำให้ไม่สามารถก่อโรคในไก่ได้ อย่างไรก็ตาม เขาก็สั่งให้รอจนไก่ทั้งหมดกลับมาแข็งแรง แล้วนำไก่เหล่านี้มาทดลองอีกครั้ง
เมื่อเริ่มต้นการทดลองอีกครั้งโดยนำแบคทีเรียที่เตรียมขึ้นใหม่มาฉีดเข้าไปในไก่กลุ่มนี้ เขาก็พบว่าไก่กลุ่มนี้ "ไม่ตาย" อีกครั้ง
หลังจากนำเชื้อไปทดลองกับไก่กลุ่มอื่นจนมั่นใจว่าเชื้อที่เตรียมใหม่เป็นเชื้อที่รุนแรงและฆ่าไก่ได้ ปาสเตอร์ก็รู้แล้วว่า ไก่กลุ่มนี้มีบางอย่างที่ต่างไป และเขาพอจะเดาได้ว่า อะไรที่ทำให้ไก่กลุ่มนี้ รอดตายจากเชื้อก่อโรคได้
1
และเขาเห็นแล้วว่าความผิดพลาดของการทดลองในรอบแรก ทำให้เขาได้ค้นพบวิธีการทำวัคซีนแบบใหม่โดยบังเอิญ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ต่างไปจากวัคซีนของ เจนเนอร์
1
ถ้าจำกันได้นะครับ ในตอนที่แล้วเราคุยกันว่า เจนเนอร์ ผลิตวัคซีนป้องกัน โรค "ฝีดาษคน" ขึ้นมาจากเชื้อที่ก่อโรค "ฝีดาษวัว" หรือพูดให้ชัดคือ เขาผลิตวัคซีนป้องกันโรคที่รุนแรง จากเชื้อก่อโรคที่ไม่รุนแรง และที่ทำเช่นนั้นได้ เพราะเชื้อก่อโรคทั้งสองเป็นญาติกัน เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ไม่รุนแรง จึงมีผลป้องกันโรคที่รุนแรงได้ด้วย
แต่ข้อจำกัดของวัคซีนแบบหมอเจนเนอร์คือ เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ ไม่มีญาติอ่อนแอที่สามารถนำมาทำวัคซีนได้ และนั่นเป็นเหตุให้ไม่มีการค้นพบวัคซีนอื่นๆอีกเลยมานานกว่า 80 ปี
1
แต่สิ่งที่ปาสเตอร์ค้นพบคือ เราไม่จำเป็นต้องมองหาเชื้ออ่อนแอในธรรมชาติก็ได้ แต่เราสามารถทำให้เชื้ออ่อนแอลงด้วย (วิธีการต่างๆ) จากนั้นเราก็นำเชื้ออ่อนแอฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วร่างกายก็จะสามารถสร้างภูมิป้องกันโรคนั้นขึ้นมาได้
ปาสเตอร์เชื่อว่า ด้วยหลักการนี้ เขาสามารถที่จะสร้างวัคซีนป้องกันเชื้อได้หลายโรค คำถามถัดไป เขาจะทดลองผลิตวัคซีนป้องกันโรคอะไรดี
1
โรคถัดไปที่เขาสนใจศึกษาคือ โรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นอีกโรคที่สร้างปัญหาให้กับวงการปศุสัตว์ทั่วยุโรปมาโดยตลอด เพราะเป็นเหตุให้วัว แกะ แพะ ตายมาแล้วมากมาย ก่อนหน้านี้ Robert Koch (คู่แข่งชาวเยอรมันที่ต่างฝ่ายก็เกลียดกันมาก) ได้พิสูจน์ไว้แล้วว่าโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อเช่นกัน โดยสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus anthracis
2
Robert Koch นักจุลชีววิทยาชาวเยอรมันคู่แค้นของปาสเตอร์
หลังจากพยายามหาวิธีทำให้เชื้อแอนแทรกซ์ อ่อนแอมาระยะหนึ่ง เขาก็พบวิธีที่จะทำให้แบคทีเรียอ่อนแอลงได้สำเร็จ โดยเขาบอกกับคนอื่นๆว่า การเลี้ยงให้แบคทีเรียได้สัมผัสออกซิเจนในระดับที่มากกว่าปกติจะทำให้เชื้ออ่อนแอลงได้
ก่อนหน้าที่ปาสเตอร์จะค้นพบวิธีทำให้เชื้อแอนแทรกซ์อ่อนแอลงได้ไม่นานนัก สัตวแพทย์ที่ชื่อ Jean Joseph Henri Toussaint (คนที่ส่งหัวไก่ให้ปาสเตอร์)​ เคยประกาศมาก่อนว่า เขาผลิตวัคซีนแอนแทรกซ์ได้สำเร็จ โดยการนำเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไปฆ่าด้วย กรดคาร์บอกลิก ก่อนจะฉีดเข้าไปในร่างกายของสัตว์
2
Jean Joseph Henri Toussaint
แต่ปาสเตอร์ก็โจมตีงานวิจัยของ Toussaint อย่างหนัก โดนให้เหตุผลว่า แบคทีเรียที่ตายแล้วไม่สามารถใช้เป็นวัคซีนได้ เพราะหลักการทำงานของวัคซีนคือ เชื้อที่อ่อนแอจะเข้าไปในร่างกายสัตว์แล้วกินอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจนหมด เมื่อเชื้อก่อโรคเข้ามาก็จะไม่มีอาหารกิน จึงเติบโตและทำให้ป่วยไม่ได้ และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ แบคทีเรียที่ตายแล้วจึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัคซีนได้จริง (** ปัจจุบันเรารู้ว่าไม่จริง และแบคทีเรียที่ตายแล้วสามารถใช้ทำวัคซีนได้**)
1
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนที่ไม่เชื่อว่า ปาสเตอร์ คิดค้นวัคซีนโรคแอนแทรกซ์ได้แล้วจริงๆ และเรียกร้องให้เขาแสดงให้เห็นต่อหน้าประชาชนทั่วไป แล้วนั่นก็เข้าทางปาสเตอร์พอดี
หลุยส์ ปาสเตอร์ ไม่ได้โด่งดังขึ้นมาทั่วยุโรป เพราะโชคช่วย เพราะนอกเหนือจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งแล้ว เขายังมีความเป็นนักการตลาดที่ยอดเยี่ยม งานวิจัยและการพิสูจน์งานวิจัยของเขามักจะวนเวียนอยู่กับดราม่า ที่ดึงดูดความสนใจของประชาชนได้เรื่อยๆ
ปาสเตอร์ ยังเป็นนักพูดที่มีการใช้วาจาเฉียบคม และเมื่อใดที่เขาพิสูจน์ในสิ่งที่คนไม่เชื่อได้สำเร็จ เขาก็มักจะปิดท้ายการทดลองด้วยคำพูดที่เชือดเฉือนคู่แข่งอยู่เป็นประจำ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ยิ่งสร้างความดังให้เขาขึ้นไปอีก
เมื่อถูกท้าทายให้แสดงงานวิจัยต่อหน้าสาธารณชน ปาสเตอร์จึงไม่ลังเลที่จะตอบรับ พร้อมกับให้มีการกระจายข่าวออกไปล่วงหน้า เพื่อให้มีคนมารอชมการทดลองกันมากๆ
1
ในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1881 ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งบริเวณทุ่งหญ้า Pouilly-le-Fort ห่างไกลจากตัวเมืองปารีสไปประมาณ 40 กิโลเมตรการทดลองที่โด่งดังจึงเริ่มต้นขึ้น
บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคักและครื้นเครง เพราะมีฝูงชนทั้งชาวไร่ชาวนา นักการเมือง สัตวแพทย์และนักข่าวมารอชมกันมากมายตามที่ปาสเตอร์ต้องการ นอกเหนือไปจากเสียงพูดคุยของคนก็ยังมี เสียงวัว เสียงแพะ เสียงแกะร้องกันระงม
1
ในคอกสัตว์ล้อมรั้วขนาดใหญ่ที่จะทำการทดลองมีสัตว์อยู่ประมาณ 60 ตัว
ปาสเตอร์ แบ่งสัตว์เป็นสองกลุ่มเท่าๆกัน แต่ละกลุ่มมีแกะ 25 ตัว แพะ 1 ตัวและวัวอีกประมาณ 4 ตัว
กลุ่มแรก เขาฉีดวัคซีนให้กับสัตว์กลุ่มทดลอง
กลุ่มที่สอง ไม่ได้ทำอะไร
การทดลอง ในวันแรกจบลงเพียงเท่านี้
จากนั้นฝูงชนที่มาเป็นพยายานก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
ภาพวาดจำลองเหตุการณ์การทดลองอันโด่งดังที่ Pouilly-le-Fort
สิบกว่าวันต่อมาคือในวันที่ 17 พค.
ผู้คนก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเป็นพยายานในการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้กับสัตว์กลุ่มทดลอง ก่อนจะแยกย้ายกันไป
ประมาณสองสัปดาห์ถัดมา คือในวันที่ 31 พค. ปาสเตอร์ก็เดินทางมาอีกครั้ง เพื่อฉีดเชื้อแอนแทรกซ์เพื่อฆ่าสัตว์ทั้งหมด จากนั้นพวกเขาก็รอ ...
สองวันหลังจากการฉีดเชื้อแอนแทรกซ์ที่ดุร้ายเข้าไป
สัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีน ก็แสดงอาการหายใจหนักๆ ไม่ยอมเล็มกินหญ้า เดินขาลาก คอตก สัตว์บางตัวล้มลงไปนอนหายใจรวยรินอยู่กับพื้น สัตว์บางตัวตายไปอย่างรวดเร็ว ที่ยังไม่ตายก็เดินวนเป๋ไปมา ย่ำไปบนศพของสัตว์ที่ตายไปแล้ว
3
ประมาณ 14:00 ของวันที่ 2 มิย. ปาสเตอร์ก็เดินทางกลับมาที่ฟาร์มอีกครั้ง
ระหว่างที่รถม้าของปาสเตอร์กำลังวิ่งขึ้นเนินเตี้ยๆ เพื่อมุ่งหน้ามาที่ฟาร์ม เขาก็พอจะมองจากระยะไกลๆว่ามีสัตว์จำนวนมากนอนตายอยู่กับพื้น แต่เขามองไม่ออกว่าสัตว์ที่ตายนี้เป็นกลุ่มไหน
แต่เมื่อรถม้าวิ่งเข้ามาใกล้มากพอที่ฝูงชนจะมองเห็นว่า คนในรถม้าเป็นใคร
ฝูงชนก็โห่ร้องและตบมือเสียงดังลั่น
1
ปาสเตอร์แม้จะยังไม่เห็นว่า สัตว์กลุ่มไหนที่ตาย แต่เมื่อเห็นปฏิกริยาของฝูงชน เขาก็ชูมือทั้งสองขึ้นอย่างผู้มีชัยชนะ แล้วตะโกนร้องออกไปด้วยเสียงอันดังว่า คราวนี้ คุณเชื่อผมแล้วหรือยัง !!
เกือบ 100 ปีต่อมา นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ได้กลับไปศึกษาสมุดบันทึกหนึ่งร้อยกว่าเล่มที่ปาสเตอร์ ทิ้งไว้ และพบความจริงบางอย่างที่ปาสเตอร์ไม่เคยบอกใคร
ในการทดลองให้วัคซีนที่ Pouilly-le-Fort ต่อหน้าประชาชนและนักข่าวในวันนั้น วัคซีนที่เขานำมาใช้นั้น เขาบอกว่าเขาผลิตขึ้นมาจากการทำเชื่อให้อ่อนแอลงด้วยออกซิเจน แต่ในความเป็นจริงนั้น เขาผลิตวัคซีนขึ้นมาด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ชื่อ โปแตสเซียม ไดโครเมต ฆ่าเชื้อแอนแทรกซ์
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากวัคซีนที่สัตวแพทย์ Toussaint คิดค้นขึ้นมาได้ คือเป็นวัคซีนจากเชื้อที่ตายแล้ว และเป็นการผลิตวัคซีนที่ปาสเตอร์โจมตีว่าใช้ไม่ได้ผล
ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ปาสเตอร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งแค่ไหน เขาเป็นคนที่ฉลาด เห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม นอกเหนือไปจากนั้น เขายังเป็นนักพูด นักการตลาดที่สามารถโปรโมทตัวเองและงานวิจัยของเขาให้ได้รับความสนใจจากประชาชนตลอดเวลา
2
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเขาไม่ใช่นักการตลาดที่ยอดเยี่ยมวงการวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสอาจะไม่ได้รับทุนวิจัยและพัฒนาได้มากเท่าที่เป็นอยู่ เงินบริจาคจากประชาชนที่ชื่นชมก็นำมาสร้างสถาบันวิจัยปาสเตอร์ ที่ผลิตผลงานวิจัยชั้นยอดออกมาอย่างต่อเนื่อง
1
แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เรื่องราวความสำเร็จของวัคซีนก็มีฐานรากมาจากการหลอกลวงและฉ้อฉลในระดับหนึ่ง ...
(Ad)
ชอบประวัติศาสตร์การแพทย์แบบนี้แนะนำหนังสือ
สงครามที่ไม่มีวันชนะ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆใน facebook ได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
2
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา