11 ก.พ. 2020 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
อะไรที่แอบฆ่าแม่ในหอผู้ป่วย 1
ประวัติศาสตร์ของการล้างมือ ตอนที่ 1/2
หมายเหตุ : บทความนี้ย่อและเรียบเรียงใหม่ จากหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ ที่ผมเขียนในปี 2561
1.
คืนอันหนาวเหน็บคืนหนึ่งในปี ค.ศ. 1846
หมอหนุ่มชาวฮังการีวัย 28 ปี ชื่อ อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignaz Semmelweis) ต้องประหลาดใจกับภาพที่เห็นเมื่อเขาเดินมาถึงประตูโรงพยาบาลเวียนนาในกลางดึก
หมอ Ignaz Semmelweis
หญิงสาวท้องที่กำลังเจ็บท้องแล้วคนหนึ่งกำลังนั่งขดตัวหนาวสั่นอยู่ที่พื้นหน้าประตูโรงพยาบาล
เขาจึงบอกให้หญิงสาวคนนี้เข้าไปในโรงพยาบาล แต่ไม่ว่าจะทำพูดอย่างไรก็ตาม เธอก็ไม่ยอมจะเดินเข้าไปโรงพยาบาล
ต่อมาภายหลังเซมเมลไมส์จึงได้เรียนรู้ว่า หญิงสาวท้องแก่คนนี้กำลังนั่งรอเพื่อให้เข็มนาฬิกาบอกเวลาว่าเลยเที่ยงคืนไปก่อน เธอจึงจะยอมเข้าโรงพยาบาล
หมอเซมเมลไวส์เข้าใจได้ในทันทีว่าทำไมเธอจึงทำเช่นนั้น เพราะตัวเขาเองก็เคยได้ยินข่าวลือนั้นมาก่อนเช่นกัน
ข่าวลือที่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างซ่อนตัวอยู่ในหอผู้ป่วย 1 และคอยฆ่าหญิงที่จะมาคลอด
2.
โรงพยาบาลประจำเมืองเวียนนาที่ชื่อ Vienna General Hospital ในวันนั้นถือได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีการเรียนการสอนดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป
ในวันที่โรงพยาบาลแห่งนี้เปิดทำการครั้งแรกนั้นการแพทย์ของเวียนนากำลังอยู่ในยุคทอง ใครอยากได้รับการรักษาที่ดีที่สุดของยุโรปต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้
โรงพยาบาล Vienna General Hospital
แผนกทำคลอดของโรงพยาบาลก็เพิ่งจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้พอเพียงสำหรับแม่ที่จะมารับบริการ
หอพักของผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 ส่วน มีชื่อว่า หอผู้ป่วย 1 และหอผู้ป่วย 2 โดยจะแบ่งรับแม่ที่จะมาคลอดเข้าหอผู้ป่วยสลับวันกันไปเรื่อยๆ
3.
ข่าวลือเริ่มต้นขึ้นประมาณช่วงกลางของศตวรรษที่ 19
ไม่มีใครรู้ว่าข่าวลือเริ่มต้นขึ้นที่ไหน หรือเมื่อไหร่ เป็นข่าวลือที่เล่ากันปากต่อปากในหมู่หญิงตั้งครรภ์ว่ากันว่ามีบางสิ่งอย่างที่ลึกลับซ่อนอยู่ในหอผู้ป่วยเบอร์ 1
สิ่งนั้นเป็นอะไรไม่มีใครรู้ แต่มันกำลังฆ่าแม่ที่ไปคลอดลูกจำนวนมาก
เหล่าหญิงตั้งครรภ์จะบอกต่อๆกันว่า ถ้าใครเกิดเจ็บท้องแล้วจะไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล จงทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเลี่ยงไม่ต้องไปนอนรอคลอดที่หอผู้ป่วยเบอร์ 1
ถ้าใครถูกจัดให้ไปนอนที่หอผู้ป่วย 1 เธอคนนั้นจะไม่ได้กลับบ้านพร้อมกับลูก
2
หลังจากเหตุการณ์ในคืนนั้น หมอเซมเมลไวส์ก็สงสัยเกี่ยวกับข่าวลือนี้มากขึ้น
เขาอยากรู้ว่า ข่าวลือนั้นเป็นจริงหรือไม่ ?
และถ้าข่าวลือนั้นเป็นจริง .... อะไรกำลังแอบฆ่าแม่ในหอผู้ป่วย 1
4.
เพื่อที่จะตอบคำถามแรก หมอเซมเมลไวส์จึงไปรื้อข้อมูลเก่า ๆ ของโรงพยาบาลมาศึกษา
สิ่งแรกที่เขาพบคือ ข่าวลือนั้นเป็นเรื่องจริง
แม่ที่มาคลอดลูกในหอผู้ป่วย 1 มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าแม่ที่มาคลอดลูกในหอผู้ป่วย 2 เกือบ 10 เท่า
การตายที่สูงกว่ากันนี้ยังมีจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างแน่นอน คือ ก่อนหน้าปีค.ศ. 1841 อัตราการตายยังไม่ต่างกันมาก แต่หลังจากปี ค.ศ.1841 เป็นต้นมา จู่ ๆ อัตราการตายของแม่ที่มาคลอดในหอผู้ป่วย 1 ก็ทะยานสูงขึ้นอย่างน่ากลัว
จนบางเดือนอัตราการตายของแม่สูงขึ้นไปถึง 32 เปอร์เซ็นต์ !!
1
หรือพูดง่าย ๆ คือ แม่ 3 คนที่เดินเข้าหอผู้ป่วย 1 เพื่อมาคลอดลูกจะมี 1 คนที่สุดท้ายต้องกลายเป็นศพนอนรอการชันสูตรอยู่ในห้องดับจิต
อัตราการตายที่สูงขนาดนี้ถือว่ามากกว่าการตายของแม่ที่คลอดลูกข้างถนนเสียอีก
2
อะไรกันแน่ที่กำลังแอบฆ่าแม่อยู่ในหอผู้ป่วย 1
5.
เมื่อศึกษาลงในรายละเอียดเพื่อดูว่าอะไรคือสาเหตุการเสียชีวิตในหอผู้ป่วย 1 หมอเซมเมลไว์ก็พบว่า แม่เกือบทั้งหมดเสียชีวิตลงด้วยภาวะที่เรียกว่า “ไข้หลังคลอด” หรือที่ในยุคนั้นนิยมเรียกกันว่า childbed fever
ภาวะไข้หลังคลอดนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นอาการป่วยที่มีการบันทึกไว้นานนับเป็นพัน ๆ ปีแล้ว บันทึกต่างๆ มักจะบรรยายถึงสภาวะนี้ไว้ว่า
แม่หลังคลอดจะมีไข้สูง หนาวสั่น
อาการไข้สูงนี้มักเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันหลังคลอดหรืออาจจะเกิดขึ้นทันทีหลังคลอดก็ได้ ผู้ป่วยจะตัวแดง เหงื่อท่วมตัวจนผ้าปูเตียงเปียก
ต่อมาท้องจะเริ่มปวดพร้อมๆไปกับท้องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงขนาดว่าแค่แตะโดนหรือแม้แต่ผ้าห่มบาง ๆ คลุมไปบนท้องก็ทำให้เจ็บได้
ผู้ป่วยยังมีน้ำสีขุ่น ๆ กลิ่นเหม็นเหมือนอาหารบูดเน่าไหลออกมาจากช่องคลอด ตามฝ่ามือฝ่าเท้าอาจจะมีจุดสีม่วง ๆ เป็นจ้ำ ๆ ขึ้นมา อาการป่วยอาจจะมีการแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ แต่ที่น่าแปลกคือหลายครั้งอาการปวดและไข้จะทุเลาลงจนดูคล้ายว่ากำลังจะหายดี ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
2
การเสียชีวิตทั้งแม่และลูกเป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อย
ลักษณะที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของภาวะไข้หลังคลอดนี้คือ โรคนี้จะระบาดเป็นพัก ๆ คือ จู่ ๆ ก็จะมีแม่ตายหลังคลอดอย่างมากมายโดยไม่รู้สาเหตุ แล้วการตายก็หายไปเฉยๆ เหมือนตอนที่มันมา
ในยุคที่ยังไม่มีใครในโลกรู้จักคำว่า “เชื้อโรค” คำอธิบายการมาและไปของโรคแบบนี้ เชื่อว่าเป็นการลงโทษจากพระเจ้า หรือมีใครบางคนในสังคมทำสิ่งที่เป็นเรื่องอุบาทว์เอาไว้ เทพเจ้าจึงลงโทษ หรือเป็นการกระทำของของมารร้าย ผีสางต่างๆ
คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุของภาวะไข้หลังคลอดนี้ ?
ไม่มีใครรู้คำตอบที่แท้จริง ...
2
6.
หมอหรือผู้เชี่ยวชาญ ในยุคของหมอเซมเมลไวส์หลายคนเชื่อว่าตัวเองรู้คำตอบ
แต่ “ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย” กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเลย คำอธิบายที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุมีมากกว่า 30 คำอธิบายด้วยกัน
บ้างก็ว่าเป็นเพราะหอผู้ป่วยอากาศถ่ายเทไม่ดี
บ้างก็ว่าเป็นเพราะผู้ป่วยท้องผูก โภชนาการของแม่ไม่ดี ลำไส้ไม่สะอาด
บ้างก็ว่าอสุจิของสามีไม่ดี
คำอธิบายมีหลากหลายแตกต่างไปจนถึงการเชื่อว่าแม่ตายเพราะกลัวเสียงกระดิ่งที่พระสั่นขณะมารับศพคนอื่น
แต่คำอธิบายที่ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากที่สุดคือ
แม่ตายเพราะสิ่งที่เรียกว่า miasma หรือ อากาศเป็นพิษ
miasma theory ความเชื่อที่ว่าโรคระบาดจากอากาศที่เป็นพิษ
7.
หมอเซมเมลไวส์เชื่อว่าจะต้องมีปัจจัยบางอย่างที่ต่างกันระหว่างหอผู้ป่วยทั้ง 2 นี้ และปัจจัยนั้นน่าจะเป็นคำอธิบายของเรื่องทั้งหมด
เขาจึงศึกษาลงในรายละเอียดต่าง ๆ ว่ามีอะไรที่ต่างและอาจจะเป็นสาเหตุของการตาย แต่สิ่งที่เขาพบคือ หอผู้ป่วยทั้งสองแผนกแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
บรรยากาศก็เหมือนกัน การระบายอากาศก็ไม่ต่างกัน ขนาดห้องก็เท่ากัน จำนวนคนป่วยต่อหมอก็เท่ากัน ลักษณะของแม่ที่เข้ามาคลอดก็ไม่ต่างกัน กลิ่นในหอผู้ป่วยก็เหมือนกัน เสียงกระดิ่งที่ดังก็ได้ยินไม่ต่างกัน อาหารที่ผู้ป่วยกินก็เหมือนกัน
มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ
หอผู้ป่วย 1 นั้นทำคลอดโดยหมอและนักเรียนแพทย์
หอผู้ป่วย 2 ทำคลอดโดยพยาบาล นักเรียนพยาบาล และผดุงครรภ์
คำถามจึงแคบลงว่า หมอและนักเรียนแพทย์มีวิธีทำคลอดที่แตกต่างไปจากพยาบาลหรือผดุงครรภ์อย่างนั้นหรือ?
คำตอบที่หมอเซมเมลไวส์ได้กลับยิ่งทำให้สับสนมากขึ้นไปอีก เพราะการทำคลอดของหมอและพยาบาลนั้น เหมือนกันทุกขั้นตอน
ถ้าสงสัยว่าทักษะในการทำคลอดของพยาบาลและนักเรียนพยาบาลจะดีกว่าทักษะของหมอหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่อีก เพราะเมื่อหมอเซมเมลไวส์ศึกษาในรายละเอียดก็พบว่าโดยรวมแล้วทักษะการทำคลอดของหมอและนักเรียนแพทย์เหมือนจะดีกว่าเสียอีก
หลังจากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างละเอียด เขาก็พบว่าเขายังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรที่กำลังฆ่าแม่ในหอผู้ป่วยที่ 1
แต่แล้ววันหนึ่งคำใบ้ก็เผยตัวออกมาให้หมอเซมเมลไวส์ได้เห็น
คำใบ้นั้นมาพร้อมความตายของเพื่อนสนิทหมอเซมเมลไวส์ …..
8.
ฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ. 1847
1
เมื่อหมอเซมเมลไวส์เดินทางกลับมาหลังจากลาหยุดงานไปเป็นเวลาสามสัปดาห์ เขาก็ได้รับข่าวร้ายที่สุดข่าวหนึ่ง
หมอคอลเลตชกา (Kolletschka) ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของเขาคนหนึ่ง เพิ่งจะเสียชีวิตไปไม่นาน
แม้เขาจะเสียใจกับการจากไปของเพื่อนรัก แต่เขาก็อดสงสัยในสาเหตุการตายของเพื่อนไม่ได้เขาจึงรับอาสาที่จะเป็นคนผ่าศพเพื่อศึกษาสาเหตุการตาย
9.
หมอเซมเมลไวส์ยืนจ้องมองร่างกายที่ซีดขาวไร้ชีวิตของเพื่อนสนิทที่นอนอยู่บนเตียงชันสูตรศพ
หลังจากทำใจครู่หนึ่ง เขาก็จรดมีดผ่าตัดลงไปบริเวณลิ้นปี่แล้วกรีดลากยาวลงไปจนถึงบริเวณหัวหน่าว
ทันทีที่เขาแหวกผนังช่องท้องออก ภาพที่เห็นก็สร้างความประหลาดใจให้เขาเป็นอย่างมาก
หลายปีมานี้เขาผ่าศพแม่ที่เสียชีวิตจากภาวะไข้หลังคลอดมานับไม่ถ้วน ภาพที่เขาเห็นจนชินตาคือ อวัยวะภายในต่าง ๆ ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยหนอง
ในตอนนี้เขากำลังเห็นภาพที่คุ้นตานั้นในช่องท้องของเพื่อนสนิท
มันจะเป็นไปได้อย่างไร?
เพราะโรคไข้หลังคลอดคือโรคที่เกิดกับผู้หญิ่งที่เพิ่งคลอดลูกมาได้ไม่นาน โรคนี้มาเกิดกับผู้ชายที่ไม่เคยคลอดลูกได้อย่างไรกัน?
ไม่เพียงแต่สิ่งที่เห็นในช่องท้องเท่านั้น ในเวลาต่อมาเมื่อหมอเซมเมลไวส์ศึกษาอาการป่วยของเพื่อนก่อนจะเสียชีวิต เขาก็เรียนรู้ว่า อาการป่วย การดำเนินของโรค และระยะเวลาที่ป่วยก่อนจะเสียชีวิต ช่างคล้ายกับอาการของโรคไข้หลังคลอดเป็นอย่างมาก
จะมีก็แค่อาการปวดท้องเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน
คำถามคือ โรคนี้มาเกิดในผู้ชายได้อย่างไร?
10.
หมอเซมเมลไวส์มาทราบภายหลังว่าอาการป่วยของเพื่อนเริ่มต้นขึ้นหลังจากอุบัติเหตุระหว่างการผ่าศพ
นักเรียนแพทย์ที่เข้าช่วยผ่าศพเกิดพลาดทำมีดบาดมือของหมอคอลเลตชกา
และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ศพที่ผ่าศึกษานั้นเป็นศพของผู้ป่วยหญิงที่เสียชีวิตจากภาวะไข้หลังคลอด
แม้ว่าหมอเซมเมลไวส์จะไม่รู้ว่ากลไกที่แท้จริงคืออะไร แต่เขาก็พอจะเดาได้ว่า บางอย่างจากศพต้องถูกถ่ายทอดผ่านมีดผ่าตัดมาที่หมอคอลเลตชกา
และถ้าสิ่งที่เขาคาดเดาถูกต้อง เขาก็ไขปริศนาได้แล้วว่าทำไมหอผู้ป่วย 1 จึงมีอัตราการตายของแม่ที่มาคลอดสูงกว่าหอผู้ป่วย 2 !!
และทำไมการตายของแม่ที่มาคลอดจึงเพิ่มสูงขึ้นหลังจากปีค.ศ.1981 เป็นต้นมา
11.
มีสิ่งหนึ่งที่หมอและนักเรียนแพทย์ทำต่างไปจากพยาบาลและนักเรียนพยาบาล คือ
หมอและนักเรียนแพทย์ต้องผ่าศึกษาศพผู้ป่วยที่เสีย
จริงอยู่ว่าการผ่าศพศึกษาเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ในอดีตก็ไม่ได้ทำกันมากมายนัก
ต่อมาเมื่อหัวหน้าแผนกคนใหม่ที่ชื่อ โยฮันน์ ไคลน์ (Johann Klein) มารับตำแหน่งเขาก็มีนโยบายให้มีการผ่าศึกษาศพผู้ป่วยมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าการผ่าศพและเรียนรู้จากผู้ป่วยที่เสียชีวิตจะทำให้การแพทย์พัฒนาเร็วขึ้น
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหมอจึงต้องหาทางแทรกตารางของการผ่าศพเข้าไป และด้วยความที่ตารางเวลาก็ยุ่งมากอยู่แล้ว เวลาเดียวที่หมอจะพอแทรกการผ่าศพเข้าไปได้ คือ ตอนเช้า ก่อนที่หมอจะไปตรวจคนไข้อื่นๆ
หลังจากนั้นไม่นานอัตราการเสียชีวิตของแม่ในหอผู้ป่วย 1 ก็เพิ่มขึ้น ...
12.
ในยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักคำว่าเชื้อโรคนั้น การตรวจรักษาทุกอย่างของหมอจะทำด้วยมือเปล่า ซึ่งก็รวมไปถึงการผ่าศพ และการตรวจภายใน (ช่องคลอด) ด้วย
ถ้าระหว่างการทำงานมือของหมอเลอะเลือด หนอง หรือน้ำคัดหลั่งต่างๆ หมอก็จะเช็ดมือด้วยผ้าผืนเล็ก ๆ ที่เหน็บไว้ข้างเอว พอจะนึกภาพออกไหมครับ? จะคล้าย ๆ กับช่างซ่อมรถหรือพ่อครัว ที่พอมือเปื้อนปุ๊บก็เช็ดมือที่ผ้าผืนนั้นแล้วทำงานต่อทันทีโดยไม่ล้างมือ
2
บางครั้งผ้าผืนนั้นก็ใช้ทั้งสัปดาห์โดยไม่เคยนำไปซัก จะว่าไปแล้วหมอในยุคนั้นส่วนใหญ่ออกจะภูมิใจกับเสื้อกาวน์ที่เลอะเลือด เลอะหนองเสียด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้ดูเหมือนทำงานหนัก ดูแมน ๆ ดูลุย ๆ
2
และด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่ทำให้เกิดโรคจึงสามารถเดินทางจากศพ ผ่านมือหมอ ไปสู่แม่ที่นอนรอคลอดอยู่ในหอผู้ป่วย 1
หมอเซมเมลไวส์จึงค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้วการตายของแม่ปีละ 800 กว่าคนนั้น
เกิดขึ้นจาก(น้ำ)มือของหมอทั้งนั้น !!!
คำถามคือ เขาจะหยุดยั้งความตายนี้ได้อย่างไร ?
เขาจะโน้มนาวให้หมออื่น ๆ ยอมรับได้อย่างไรว่า พวกเขาที่ทำงานหนักและหวังดีกับคนไข้นั้น กำลังฆ่าคนไข้ด้วยมือของตัวเองอยู่ ...
13.
เมื่อหมอเซมเมลไวส์ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่ฆ่าแม่จำนวนมากนั้นเดินทางผ่านมือหมอ วิธีที่จะหยุดยั้งการสังหารหมู่โดยตรงที่สุดก็ต้องหยุดที่มือของหมอ
หมอเซมเมลไวส์จึงประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานใหม่ คือ หลังจากผ่าศพแล้วก่อนที่หมอจะมาทำคลอดได้นั้น หมอและนักเรียนแพทย์ทุกคนจะต้องล้างมือด้วยน้ำผสมคลอรีนก่อน
1
เท่านั้นไม่พอเขายังทำป้ายประกาศมาติดไว้ที่ประตูห้องคลอดว่า ใครก็ตามที่จะผ่านเข้าประตูนี้ไปจะต้องล้างมือก่อนเสมอ
สำหรับคนยุคเราคงจะเดาผลของนโยบายใหม่นี้ได้ไม่ยากใช่ไหมครับ? และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเพียงแค่เดือนแรกอัตราการตายของแม่ที่มาคลอดก็มีแววให้เห็นว่าเริ่มลดลง แต่เมื่อเข้าเดือนที่สองอัตราการตายก็กลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
หมอเซมเมลไวส์เชื่อว่าน่าจะเป็นจากการหย่อนยานไม่ปฏิบัติตามกฎ เขาจึงลงมาคุมเข้มด้วยตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าหมอทุกคนล้างมือก่อนเข้าห้องคลอด
เขาแปะป้ายใหม่ให้เห็นชัดกว่าเดิม ถ้าเขาเห็นใครไม่ล้างมือก่อนเข้าห้องคลอดก็จะเดินเข้าไปต่อว่าในทันที
หลังจากนั้นมาอัตราการตายของแม่ที่มาคลอดก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อครบ 1 ปีหลังออกกฎ อัตราการเสียชีวิตในหอผู้ป่วย 1 จากเดิมที่สูงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ลดลงเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ
1
และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อัตราการเสียชีวิตของแม่จากหอผู้ป่วย 1 น้อยกว่าหอผู้ป่วย 2
นโยบายของหมอเซมเมลไวส์ได้ผลดีราวกับปาฏิหารย์
ต่อมาไม่นานหมอทั่วโลกเมื่อได้เรียนรู้ข่าวเกี่ยวกับหมอเซมเมลไวส์ก็หันมาล้างมือกันยกใหญ่ อัตราการตายของคนไข้ก็ลดลงทั่วโลก หมอเซมเมลไวส์กลายเป็นคนดัง เป็นวีรบุรุษที่ช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช
ผู้คนกล่าวยกย่องสรรเสริญ เป็นบิดาของวงการสุขศึกษา เรื่องราวและชื่อของเขาจึงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วจนถึงทุกวันนี้…
แต่คุณกำลังสงสัยว่าทำไมไม่เคยได้ยินชื่อของหมอเซมเมลไวส์ หรือเปล่าครับ
ถ้าใช่ ก็เป็นเพราะว่า เรื่องจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น
1
14.
หลังจากที่หมอเซมเมลไวส์สามารถหาสาเหตุการตายและออกนโยบายการล้างมือจนประสบความสำเร็จแล้วนั้น
ชีวิตเขาก็ตกต่ำดำดิ่งลงเรื่อยๆ เขากลายเป็นคนที่เพื่อนร่วมงานรังเกียจ เขาโดนให้ออกจากงาน เขาต้องระหกระเหินจากโรงพยาบาลใหญ่ของยุโรปไปทำงานที่โรงพยาบาลเล็กๆในบ้านเกิด
ชื่อของเซมเมลไวส์ก็ค่อยๆหายไปจากวงการ กลายเป็นชื่อที่แทบไม่มีใครเคยได้ยินอีกเลย
เกิดอะไรขึ้นกับหมอเซมเมลไวส์ ทำไมหมอที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยมากมายจึงมีชีวิตบั้นปลายที่น่าเศร้าเช่นนี้?
เราจะไปหาคำตอบกันในตอนหน้าครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ชอบความรู้และประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller "สงครามที่ไม่มีวันชนะ"
สามารถซื้อได้จากร้านหนังสือทั่วไป หรือสั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา