24 ธ.ค. 2019 เวลา 01:40
ความรู้การเงิน สำหรับชาว "GIG
#2 ภาษีเงินได้ กับ ชาว Gig Worker
ชาว Gig worker จะมีลักษณะของรายได้ที่ค่อนข้างหลากหลาย อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต่างกันตามรูปแบบของงาน จึงควรต้องมีความรู้ด้านการเงินที่จำเป็นต่าง ๆ ดังนี้
1. เงินที่ได้รับจากงานแบบ Gig worker เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่
เงินได้ทุกประเภทที่เราได้รับมานั้นหากไม่ได้มีกฎหมายกำหนดชัดเจนให้เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ต้องถือว่าเป็นเงินได้ที่เราต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะได้รับมาเป็นในรูปเงินสด ทรัพย์สิน หรือสิทธิ์ประโยชน์ต่างที่ตีมูลค่าได้
เงินที่เราได้รับจากการทำงานแบบ Gig worker จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปคำนวณและยื่นแบบภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
2. ถ้าไม่นำเงินได้ไปยื่นภาษีจะมีผลอย่างไร
ผลที่จะเกิดจากการไม่นำเงินได้ไปยื่นภาษีอาจแตกต่างกัน ตัวอย่างสมมุติ นายเอก มีอาชีพเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่วินปากซอยแห่งหนึ่ง เนื่องจากวินนี้มีลูกค้าไม่มากนัก จึงสมัครเป็นสมาชิกของแอปส่งเอกสารแห่งหนึ่งเพื่อเพิ่มรายได้จากรับงานส่งเอกสารผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้นายเอกมีรายได้ 2 ส่วนจากงานลักษณะเดียวกัน คือ
- เงินค่าจ้างส่วนที่ได้รับงานส่งเอกสารที่มีผู้ว่าจ้างจากวินปากซอย และ
- เงินค่าจ้างส่วนที่ได้รับผ่านงานส่งเอกสารของแอปพลิเคชัน
เงินทั้งสองส่วนถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษี
ภาพประกอบจาก Uber
แต่ในสภาพจริง อาจไม่มีมอเตอร์ไซด์ รับจ้างคนใด(หรืออาจจะมีจำนวนน้อย)เสียภาษีเงินได้จากค่าจ้างรับส่งจากวิน เนื่องจากจุดอ่อนของระบบการบันทึกรายได้ที่รัฐไม่สามารถทราบได้ว่านายเอกมีเงินได้จากการขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างอย่างไรและเท่าไหร่ หากวันหนึ่งกรมสรรพากรสามารถสร้างระบบเพื่อเก็บข้อมูลหรือตรวจสอบได้ นายเอกก็คงไม่สามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ต่อไป
แต่สำหรับเงินที่เกิดจากงาน Gig worker ทุกครั้งที่แอปพลิเคชันเรียกรถโอนเงินที่ได้จากการทำงานเข้าบัญชีของนายเอก จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% จากยอดเงินที่ได้รับจากงานในแต่ละช่วงเวลา เงินภาษีนี้จะถูกนำส่งกรมสรรพากรในช่วงต้นเดือนถัดไป ทำให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลรายได้ของนายเอกทุก ๆ เดือน หากนายเอกไม่นำเงินได้นี้ไปยื่นแบบและเสียภาษี หรือยื่นแบบเสียภาษีไม่ครบ กรมสรรพากรจะสามารถเทียบรายได้ของนายเอกตามแบบเสียภาษีที่ยื่นมากับข้อมูลรายได้ของนายเอกที่มีอยู่ในระบบข้อมูลได้ นายเอกจึงอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับเพิ่มเติม
ภาพประกอบจาก กรมสรรพากร
เราจึงต้องดูว่าเงินที่ได้รับมีการการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ หากพบว่ามีการหักภาษี ณ ที่จ่ายแสดงว่ากรมสรรพากรได้รับข้อมูลเงินได้ของเราพร้อมเงินภาษีบางส่วนแล้ว เราจะต้องนำเงินได้ก้อนนั้นยื่นแบบแสดงและเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ถูกต้อง การเลี่ยงชำระภาษีจะทำให้เกิดการติดตามทวงถามภายหลัง และมีเงินเพิ่มของภาษีที่ต้องชำระด้วย
3. มีวิธีอย่างไรที่จะทราบยอดรายได้ที่หักภาษี
ระบบแอปพลิเคชันควรจะรายงานให้เราทราบรายได้ของเรา เราจึงควรติดตามรายงานและประเมินเงินได้เพื่อพิจารณาใช้สิทธิลดหย่อนให้สอดคล้องสำหรับลดภาระภาษี
บริษัทแอปฯ จะเตรียมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ เราสามารถตรวจสอบยอดรายได้ของตนเอง และนำไปยื่นภาษีประจำปีตามกฎหมาย พร้อมกับขอคืนภาษีที่ถูกหักไปในกรณีที่รายได้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขอคืนภาษีได้
4. Gig Worker ทุกคนต้องยื่นแบบแสดงภาษีใช่หรือไม่
บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไปใน 1 ปี หรือมีรายได้อื่น ๆ ตั้งแต่ 60,000 บาท ต้องยื่นแบบแสดงภาษี (แม้จะมีรายได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทและไม่มีภาษีก็ตาม)
ฉะนั้นหากเงินได้ในรูปเงินเดือนโบนัส ต่ำกว่า 120,000 บาท หรือรายได้อื่นต่ำกว่า 60,000 บาทก็ไม่จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงเงินได้ฯ
1
แต่ถึงแม้จะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ควรจะพิจารณายื่นแบบแสดงฯ เพราะเราจะได้รับเงินภาษีที่ถูกหักตาม 50 ทวิคืน
ยกตัวอย่างเช่น นายเอกมีเงินได้ 50,000 ถูกหักภาษี 3% เป็นเงินรวม 1,500 บาท หากนายเอกไม่ยื่นแบบแสดงฯ เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 1,500 บาทจะเป็นเงินภาษีที่รัฐได้รับจากเรา แต่เนื่องจากนายเอกมีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ถือว่านายเอกมีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อนายเอกยื่นแบบแสดงจะสามารถขอเงิน 1,500 บาทที่ถูกหักไว้คืน
ภาพประกอบจาก ธนาคารกรุงไทย
5. ถ้ามีรายได้รับจากบริษัทแอปมากกว่า 150,000 บาท แสดงว่า มีภาษีที่ต้องเสียใช่หรือไม่
เงินได้สุทธิที่ใช้คำนวณภาษี ไม่ใช่เงินได้ที่เราได้รับ แต่คือเงินได้ที่หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินยกเว้นต่างๆ จึงต้องคำนวณหาเงินได้สุทธิของแต่ละคน หากมีรายได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท แสดงว่ามีภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ
คำว่ารายได้นี้ ถ้าพูดให้ชัดเจนไม่สับสน (แต่อาจไม่คุ้นหู) ภาษาที่กรมสรรพากรใช้คือ เงินได้พึงประเมิน สำหรับผู้มีรายได้ในรูปเงินเดือนโบนัส คำว่า เงินได้พึงประเมินก็คือรายได้ที่เราได้รับ แต่สำหรับ Gig worker ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ คำนี้จะหมายถึงรายรับที่เราได้รับ ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถเรียกว่ารายได้อย่างเต็มปาก เพราะรายรับไม่ใช่รายได้จริง มีต้นทุนในการทำงานที่เราต้องแบกรับไว้เอง รายได้ 150,000 บาทที่ต้องชำระภาษี คือ รายได้ที่หักเงินต่างๆ ที่สรรพากรกำหนดไว้ให้
1
เงินได้หลายประเภทมีค่าใช้จ่ายให้หักได้ทั้งแบบตามจริงหรือแบบเหมาจ่ายตามประเภทของงาน เราสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งแบบตามจริงหรือแบบเหมาจ่าย หากเลือกค่าใช้จ่ายตามจริงต้องแนบเอกสารค่าใช้จ่ายด้วย ตัวอย่างนายเอกถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือเหมา 60% (ต้องดูประเภทของเงินได้ใน 50 ทวิ ประกอบ)
6. การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องทำอย่างไร ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง
เงินได้ส่วนที่ไม่ใช่เงินเดือน ต้องใช้แบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภงด 90 หนังสือรับรองการหักภาษี 50 ทวิ และเอกสารตามที่ระบุ กรณีหักค่าใช้จ่ายตามจริงต้องแนบเอกสารค่าใช้จ่ายจริงตามยอดค่าใช้จ่ายที่หักด้วย
รายได้ที่ยื่นตาม ภงด 90 สามารถยื่นรวมกันทุกประเภทแต่ต้องแยกประเภทเงินได้แต่ละแบบตามที่ระบุในแบบ
การยื่นชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากเป็นหน้าที่ของเราแล้ว ยังป้องกันปัญหาด้านการตรวจสอบย้อนหลังในอนาคตด้วย หากเรามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ยังสามารถขอเงินคืนได้อีกด้วย และเรายังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพื่อลดภาระภาษีได้อีกด้วย ลองคำนวณเงินได้สุทธิดูครับ ถ้ามีภาษีก็รีบจัดการใช้สิทธิค่าลดหย่อนได้เลยครับ
สุดท้ายการจบเรื่องภาษีเงินได้ ยังมีอีก 1 ภาษีที่ต้องระมัดระวังคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) งาน Gig Economy บางลักษณะสามารถมีรายรับเกิน 1.8 ล้านต่อปี หากมีรายรับตั้งแต่ 1.8 ล้านขึ้นไป จะต้องดำเนินการจดทะเบียน VAT ภายใน 30 วันที่มีรายได้ 1.8 ล้านขึ้นไป รายรับที่ใช้พิจารณาคือรายรับที่เราได้รับเงินจากงาน ซึ่งอาจดูได้ง่ายๆ จาก 50 ทวิ และไม่ต้องนำเงินรายได้ประจำมารวมครับ
โฆษณา