24 ธ.ค. 2019 เวลา 00:34 • ธุรกิจ
กนง. จับตา 4 จุดเสี่ยงการเงินไทย เศรษฐกิจชะลอ-สินเชื่อบ้าน-ดอกเบี้ยต่ำ-ความเสี่ยงสหกรณ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562
สรุปว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต่อไปยังมีความเสี่ยงในระดับสูง จากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนานทำให้มีความเปราะบางในระบบการเงิน ซึ่งต้องจับตา 4 ประเด็น ได้แก่
1. ติดตามการปรับตัวของตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน)
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) ปล่อยใหม่ 9 เดือนแรกปี 2562 ยังเติบโต โดยสัญญาณเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง เห็นได้จากไตรมาส 3 ปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่ในสัญญาที่ 2 ขึ้นไป (การปล่อยกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป) น้อยลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และเห็นว่าสถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น
1
ทั้งนี้ถือว่าสอดคล้องจุดประสงค์ในการออกมาตรการหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ Loan to Value: LTV)
อย่างไรก็ตาม เห็นทิศทางผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ ซึ่งจะช่วยให้อุปทานคงค้าง (สต๊อกบ้าน) ปรับลดลงต่อไปเพื่อให้ตลาดที่อยู่อาศัยเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น
2. การดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือและธุรกิจ SMEs ภายใต้เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว และมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้ ต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องดำเนินการแบบองค์รวมทั้งในเชิงป้องกันและเชิงแก้ไข รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาอยู่เดิม เช่น
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน ในด้านการปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้และดำรงชีพของผู้กู้ และขอให้ดูแลลูกหนี้เมื่อเห็นสัญญาณการจ่ายหนี้ช้าลง เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ SMEs กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราวเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้
- ธปท. ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้รายเดียว และที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีด้วย ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นควรศึกษาหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพในวงที่กว้างขึ้น
3. ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบการสะสมความเปราะบางทั้งด้าน การระดมทุนและพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ทำให้เกิด
1
1) ภาคธุรกิจออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High-yield bonds) เพิ่มขึ้นในภาวะที่ธนาคารพาณิชย์ ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ และกองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุโครงการ (Term Funds) ที่ลงทุนต่างประเทศมีการลงทุนกระจุกตัวสูงในบางประเทศและผู้ออกตราสารบางราย ซึ่งส่วนใหญ่ของตราสารเหล่านี้ถือครองโดยนักลงทุนบุคคลอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วน จึงต้องเร่งให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอ
2
2) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ระดมทุนโดยเฉพาะผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สูงขึ้น รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจและการเงินมีความซับซ้อน การดูแลความเสี่ยงในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ด้านธุรกิจประกันภัยทำกำไรยากขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยต้องปรับตัวมาขายผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองทดแทนการรับประกันผลตอบแทนมากขึ้น
4. ติดตามเรื่องระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยที่ประชุมจึงเห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งผลักดันกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้สมาชิก ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
เพราะความเชื่อมโยงภายในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน อาจเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์
เรื่อง: ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thestandard.co
โฆษณา