3 ม.ค. 2020 เวลา 02:24 • การศึกษา
โฮมสคูล คืออะไร
สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาคุยกันเรื่อง การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือที่ใครๆ เรียกว่า บ้านเรียน หรืออีกชื่อที่ได้ยินกันว่า โฮมสคูล ซึ่งก็เป็นเสมือนนิคเนมของชื่อบ้านเรียนนั่นเองค่ะ
โฮมสคูล คือการจัดการศึกษาที่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษา หรือเปรียบเสมือน "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ก็ได้ค่ะ มีลูกเป็นเด็กนักเรียนของสถาบันนี้ และโฮมสคูลหรือบ้านเรียนนี้ก็เป็นเสมือน "สถาบันการศึกษา" หนึ่งของประเทศไทย
ถือเป็นหนึ่งโรงเรียนที่มีนักเรียนหนึ่งคน หรือบางครอบครัวมีลูกสองคน เราก็โฮมสคูลให้กับลูกสองคน โดยเด็กทั้งสองคน ไม่ว่าจะเป็นพี่ชายน้องสาว พี่สาวน้องชาย หรือฝาแฝดก็แล้วแต่ จะมีแผนการเรียนของตนเองที่มีจุดเด่นหรือจุดเน้นไปตามลักษณะความสนใจ ความถนัด ความชื่นชอบของเด็กเป็นหลัก
โฮมสคูล จะมีชื่อทางราชการว่า “การจัดการศึกษาโดยครอบครัว” โดยผู้จัดการศึกษาจะทำหน้าที่เขียนแผนการศึกษาหรือก็คือหลักสูตรการเรียนรู้ของโรงเรียนเรานี่ล่ะค่ะ
ยื่นพร้อมเอกสารขอจัดการศึกษาโดยครอบครัว ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา
ในระดับอนุบาล หรือเรียกว่า ปฐมวัย (อนุบาล1-3 หรืออนุบาล 1-2) และระดับประถมศึกษา (ป.1-6) จะยื่นขออนุญาตที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา ....(ในจังหวัดนั้นๆ ) เช่น ในพื้นที่กทม. ก็จะยื่นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร เรียกย่อๆ ว่า สพป.กทม. นะคะ
ในระดับมัธยม (ม.1-6) จะยื่นขออนุญาตที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา ....(ในเขตพื้นที่จังหวัดภูมิลำเนาที่อาศัย)
การจัดการศึกษาโดยครอบครัวนี้ มีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง โดยประเทศไทยมีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่พ.ศ.2542 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา12 ระบุให้ครอบครัวสามารถจัดการศึกษาให้กับเด็กได้
ผู้เรียนมีศักดิ์และสิทธิ์ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนในสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่นกัน
บ้านเรียน หรือโฮมสคูล ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ค่อนข้างหลากหลาย เพราะการเรียนแบบนี้ จะเรียนรู้ตามศักยภาพเด็ก เรียกว่าให้เด็กเป็น Child Center อย่างแท้จริง
หลักสูตรที่บางคนเรียกติดปาก ของบ้านเรียนจะใช้เรียกว่า แผนการจัดการศึกษา
โดย...แผนการจัดการศึกษาที่เกิดออกมาก็คือมาจากตัวตนของเด็กจริงๆ
ประเมิน(หรือในโรงเรียนจะใช้วิธีการสอบ)ก็จะประเมินตามสภาพจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเรียนมาจริงๆ ลงมือทำจริงๆ เรียนรู้ตามวิถีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเด็ก กับครอบครัว กับสภาพสังคม กับวิถีความเป็นไปของชาติ ของโลก
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันอีกนิดนะคะ
เด็กที่อาศัยอยู่บนเกาะ อยู่ริมทะเล จะเรียนรู้การเติบโตการดำรงชีวิตของคนเล การประมง การหาปลา ประยุกต์สู่การเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ ต่อยอดสู่ความสนใจและแขนงอื่นๆ ที่เด็กสนใจต่อไป
เด็กที่อยู่ในเมืองหลวง ก็เรียนรู้การดำรงชีวิต การเติบโตแบบในเมืองเป็นหลัก การเดินทาง การหาแหล่งเรียนรู้ การสรรสร้างชิ้นงานตามแบบตามวิถีที่ตนเองอาศัยอยู่ เพื่อการเรียนรู้ตัวตนของตนเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนรู้ของเด็ก สามารถต่อยอด แตกประเด็นไปได้หลายๆ ทางตามแต่ที่เด็กสนใจ โดยที่พ่อแม่ครอบครัวคอยเป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดกิจกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นไปตามแนวทางความสนใจของเด็กจริงๆ
บางคนอาจจะยังไม่เห็นภาพ...
ไม่เป็นไรค่ะ ค่อยๆ เรียนรู้ดูกันไป เพราะการเรียนแบบโฮมสคูล ก็เสมือนหนึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นล่ะค่ะ
ที่ใช้คำนี้เพราะ คนเรามีการเรียนรู้กันตลอดชีวิตอยู่แล้วค่ะ
อยู่ในโรงเรียน เราก็เรียนมัน8 วิชาบ้าง 9 วิชาหรือมากกว่านั้นบ้าง
เข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังเรียนเจาะลึกไปอีก บางวิชาที่เรียนมาตั้ง 6 ปี หรือมากกว่านั้นก็ต้องปล่อยทิ้งไป เพราะในคณะที่เราเรียนมันไม่มีหรือไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว
จบมหาวิทยาลัยแล้วไงต่อ ก็เข้าทำงาน ถ้าหากทำงานตรงกับคณะที่เราเรียนมา ก็ยังต้องศึกษาการทำงานอีก
หรือบางคนที่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานตรงตามคณะหรือสาขาวิชาที่เราจบมา เราก็ต้องศึกษาเรียนรู้งานใหม่อีก
วันดีคืนดี บริษัทมีระบบใหม่ มีแผนกใหม่ เราต้องทำหน้าที่ดูแล ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก
นี่แค่ในระบบการทำงาน การศึกษาตลอดชีวิตก็อยู่เคียงคู่เราไปตลอดแล้ว ในช่วงชีวิตอื่นๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ
เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ ก็ยืนยันได้แล้วว่า ครอบครัว พ่อแม่ สามารถจัดการเรียนการสอนให้ลูกได้ตามกฎหมายแล้วนะคะ
ใครมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากในห้องเรียนบ้าง มาแชร์กันได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก #เปิดฟ้าบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
ขอบคุณภาพจาก Phoenix Homeschool #PhoenixHomeschool #Phoenix #PhoenixPhoto
เรื่องโดย แม่หญิง 2563-01-03

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา