5 ม.ค. 2020 เวลา 13:32 • ธุรกิจ
นั่งอ่านเรื่อง Donald Trump สั่งโจมตีผู้นำทางการทหารของอิหร่าน (Qasem Soleimani) มาตลอด 3 วัน มีแต่คนบอกว่าจะมี ”สงครามโลกครั้งที่ 3” ซ้ำๆกัน ทั้งวันทั้งคืน จนมาวันนี้เหตุการณ์ผ่านมาแล้วได้ 3 วัน เมื่อเช้า Trump ทวิตขู่ว่าจะบอมบ์สถานที่สำคัญในอิหร่าน 52 แห่ง
ก็ยังมีมุขหรืออะไรแนวๆสงครามโลกครั้งที่ 3 มาให้เห็นอีกเรื่อยๆ ผมขออนุญาตมาบอกไว้ตรงนี้เลยว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อทั้งนั้นครับ สงครามโลกครั้งที่ 3 มันไม่เกิดขึ้นง่ายๆหรอก
กระแสที่มันกระจายๆกันอยู่ในไทยนี้มันมาจากพวก Twitter ของฝรั่งที่มันปั่นๆเพื่อทำมุขตลกกันเฉยๆ แต่ละคนไทยเอามาปั่นกันต่อในกลุ่มจำพวกแชร์ข่าวต่างประเทศกัน ทีนี้กระแสมันเลยบานปลาย มีสำนักข่าว มีเว็ปข่าวเอาไปตีพาดหัวข่าวเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 3” เพียบ
ทั้งๆที่มันไม่มีชนวนหรือเหตุปัจจัยเงื่อนไขใดๆเลยที่จะนำไปสู่สงครามในระดับที่กินขอบเขตทั่วโลกขนาดนั้น ถ้าใครที่ติดตามสถานการณ์ภายในตะวันออกกลางและแอฟริกาจริงๆ จะเข้าใจ
1
** จริงๆเพจผมตั้งใจว่าจะไม่พูดเรื่องที่เกี่ยวกับตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพราะตั้งใจว่าจะเน้นเรื่องจีน อเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก แต่วันนี้ขอสักโพสต์นึงละกัน
ศักยภาพของอิหร่านในปัจจุบันอิหร่านคือ อิหร่านไม่มีอาวุธหรือหัวรบนิวเคลียร์เป็นของตัวเองนะครับ อิหร่านแค่มีพิมพ์เขียว หรือพวก know-how ของเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้อยู่ในมือ แต่ไม่มีศักยภาพที่ล้ำเพียงพอจะสร้างอาวุธหรือหัวรบนิวเคลียร์ครับในปัจจุบัน
** หากอิหร่านมีเวลาทำการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอาจใช้เวลาอีกสักระยะ หรือไม่น้อยกว่า 2-3 ปีกว่าอิหร่านจะมีโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นรูปเป็นร่างของตัวเองในอนาคต
ส่วนในเรื่องกำลังทหาร และศักยภาพทางกองทัพของอิหร่าน อันนี้มีอยู่ 2 มิติที่อยากให้พิจารณากัน
1
โดยมิติแรกคือ มิติด้านปริมาณนั้น กองทัพอิหร่าน (รวมกองทัพและกองกำลังอิสระ) มีกำลังพลพร้อมรบอยู่ประมาณ 500,000 นาย ส่วนอาวุธสงครามที่กองทัพอิหร่านมีก็จะเป็นพวกขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลางเป็นหลัก เช่น Ghadr-1 (ยิงได้ไกลประมาณ 2,000 กิโลเมตร) และ Fateh-110 (ยิงได้ไกลประมาณ 300 กิโลเมตร)
2
ที่สำคัญคือ ขีปนาวุธพิสัยกลาง ไปจนถึงพิสัยไกลของอิหร่านในปัจจุบันนี้ยังถือว่าอยู่ในระยะการพัฒนาอยู่ และยังไม่พร้อมที่จะถูกนำออกมาใช้งาน โดยเฉพาะพิสัยที่มีอานุภาพยิงไกลหลัก 2,000 กิโลเมตรนั้น หลายชิ้นยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยอยู่ เดี๋ยวผมแปะรูปแผนที่คร่าวๆไว้ให้ใน Comment นะครับ
จึงอาจบอกได้ว่ากองทัพอิหร่านนั้นมีศักยภาพค่อนข้างพอตัว เมื่อเทียบกับขีดความสามารถและกำลังรบของประเทศเพื่อนบ้านในแถบๆละแวกเดียวกัน
** อาจเรียกได้ว่าอิหร่านนั้นเป็น ‘มหาอำนาจระดับภูมิภาค’ ของตะวันออกกลางได้เลยทีเดียว แต่เทียบกันกับสหรัฐอเมริกาแบบหมัดต่อหมัดแล้ว ยังไงอิหร่านก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะ หรือทำอะไรสหรัฐอเมริกาได้ เพราะบนโลกนี้กองทัพอเมริกายังคงยืนเป็นอันดับ 1 อยู่ ไม่ว่ารัสเซียหรือจีนก็ยังไม่สามารถเทียบชั้นได้
1
อีกมิติหนึ่งคือในด้านคุณภาพ กองทัพอิหร่านในแวดวงของนักนโยบายต่างประเทศ และนักยุทธศาสตร์นั้นขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องของการส่งออกเทคโนโลยีและภูมิปัญญาทางการทหารไปสู่ดินแดนอื่นๆภายในภูมิภาคใกล้เคียงอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
มีทั้งปฏิบัติการลับและแบบไม่ลับในประเทศต่างๆมากมาย ที่เด่นๆคือ การเป็นท่อน้ำเลี้ยงคอยส่งอาวุธ คอยฝึกกองทหารกบฏ และกลุ่มก่อการร้ายที่ปฏิบัติการภายในประเทศแถบตะวันออกกลาง อย่างกลุ่ม เฮซบอลเลาะห์ในประเทศเลบานอน กลุ่มจิฮัดในปาเลสไตน์ กองกำลังกบฏฮูตีในเยเมน
1
ซึ่งแค่ชื่อของแต่ละกลุ่มก็บอกคุณภาพและผลงานแล้ว ว่าเคยทำอะไรกันมาบ้าง ปรากฏตัวในพื้นที่ไหน สร้างความเสียหายแบบใดกันมาบ้าง พูดง่ายๆก็คือ อิหร่านเนี่ยเป็นหัวโจกคนสำคัญของการก่อการร้ายในแถบตะวันออกกลางก็เป็นได้ คอยสนับสนุน คอยส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อยู่ตลอด
1
(ซึ่งอิหร่านก็รับการสนับสนุนด้านอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารจากรัฐบาลจีนและรัสเซียมาอีกทอดหนึ่งนั้นแหละ)
ในส่วนจีนกับรัสเซียที่นักวิเคราะห์หลายๆฝ่ายมักตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสำคัญของเหตุการณ์ความวุ่นวายภายในตะวันออกกลางในช่วงหลายปีมานี้ ก็จะเห็นว่าทั้งจีนและรัสเซียนั้นเงียบมากๆ แทบไม่ได้ออกความเห็นหรือแสดงท่าทีที่ชัดเจนอะไรต่อเหตุการณ์ระหว่างอเมริกาและอิหร่านในสัปดาห์นี้เลย
จะมีก็แค่เรื่องของการออกมาให้ความเป็นเชิงประณาม วิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 2 วันก่อนเท่านั้น ผมคิดว่า 2 ประเทศนี้อาจจะเลือกให้การสนับสนุนอิหร่านอยู่เบื้องหลังไปเรื่อยๆก่อน กรณีที่มาตรการการกดดันทางเศรษฐกิจที่มีต่ออิหร่านนั้นรุนแรงขึ้น
ทีนี้พออ่านมาจนถึงตรงนี้ทุกๆคนคงพอจะได้เห็นภาพแบบคร่าวๆเกี่ยวกับศักยภาพและกำลังรบของอิหร่านโดยสังเขปแล้วลองพิจารณากันด้วยเงื่อนไขที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ก็จะเข้าใจว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3” นั้นยังห่างไกลยิ่งนัก เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันแทบไม่มีรัฐบาลใดพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยอิหร่านรบกับอเมริกาเลย
ส่วนพันธมิตรภายในระดับภูมิภาคอย่าง ซีเรีย เลบานอน อิรัก หรือ อัฟกานิสถานที่ถือเป็นเพื่อนบ้านคนสำคัญของอิหร่านนั้นก็แทบจะไม่มีกำลังทหาร และเหตุผลทางยุทธศาสตร์ให้แกว่งเท้าตัวเองเข้าไปหาเสี้ยนเพิ่มจากปัญหาเดิมที่ตนเองมีกันอยู่แล้ว
เหตุการณ์ลอบสังหารนายพล Soleimani ของอิหร่านแม้ว่าจะมีกระแสความไม่เห็นด้วย และแรงต่อต้านจากผู้นำรัฐบาลหลายๆแห่งทั่วโลกว่าเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนที่คิดจะยื่นมือมาปกป้องอิหร่านอยู่ดี
การยกธงแดงของอิหร่าน เมื่อคืนและการประกาศจะออกมาแก้แค้นสหรัฐอเมริกานั้น อย่างแรกเลยผมคิดว่าน่าจะเป็นการข่มขู่บลัฟกัน แต่ยังถึงขั้นการประกาศสงครามอย่างเต็มรูปแบบ เพราะอิหร่านไม่ใช่สายนั้น อิหร่านไม่น่าจะกล้าเปิดฉากรบโดยที่ตัวเองมีกำลังน้อยกว่า และมีจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์อยู่อีกเพียบ
โดยเฉพาะกับบ่อน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งเป็นจุดอ่อนจุดสำคัญที่จะถูกโจมตีอย่างง่ายๆเลย หากมีสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 3 กับสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้น้อย แม้ว่าในตอนนี้ดัชนี DEFCON จะขึ้นมาอยู่ที่ในระดับ 3 (ระดับของการเตรียมพร้อมเคลื่อนกำลังรบใน 15 นาที) แต่สถานการณ์หรือ scenario ที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ในฐานะมาตรการเอาคืนของอิหร่านนั้น
น่าจะปรากฏออกมาในรูปแบบของสงครามตัวแทนมากกว่า เพราะหากพิจารณากันในระดับของศักยภาพกองทัพและอิทธิพลของอิหร่านแล้ว
ทางเลือกที่อิหร่านพอจะทำเพื่อตอบโต้สหรัฐอเมริกาได้ในตอนนี้ ก็มีแค่การเปิดทัวร์ให้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมที่ตัวเองแอบเป็นผู้สนับสนุนส่งอาวุธและฝึกฝนให้อยู่เบื้องหลังได้ออกไปปฏิบัติก่อกวนจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคต่างๆแทนมากกว่า
ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้นก็คือ ประเทศในแถบตะวันออกกลางและเอเชียกลางที่มีสถานทูต และฐานทัพของสหรัฐอเมริกาประจำการอยู่นั้นแหละ (ในที่นี้อาจรวมถึงจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าจุดสำคัญๆของสหรัฐอเมริกาภายในภูมิภาคด้วย)
ในที่นี้อิหร่านอาจใช้กลุ่มก่อการร้าย และกองกำลังมุสลิมชีอะห์ที่สังกัดอยู่ภายในอัฟกานิสถาน อิรัก เลบานอน ซีเรีย เยเมนมาเป็นกำลังรบหลักแทนกองทัพของอิหร่านเอง
และถ้าดูจากแผนที่ที่ผมแทรกไว้ให้ข้างล่างก็จะเห็นว่าขีปนาวุธที่ประจำการอยู่กองทัพอิหร่านปัจจุบันนี้ มีกำลังมากพอที่จะยิงไปลงใส่สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ทั้งในบาห์เรน คูเวต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เลยทีเดียว
และที่สำคัญที่สุดเลย คือ ช่องแคบฮอร์มุส เส้นทางเดินเรือและขนส่งสินค้าแห่งสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ก็อาจถูกรบกวนโดยกองกำลัง และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลอิหร่าน ไม่ว่าจะทั้งทุ่นระเบิดลอยน้ำ และขีปนาวุธต่อต้านเรือรบที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลแถบนี้นัก
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่ายังไงความขัดแย้ง หรือ ใครจะเรียก ‘สงคราม’ ในครั้งนี้ ก็ยังจำกัดวงรบกันอยู่แค่ในแถบๆตะวันออกกลางนี้เท่านั้น เพราะตัวละครหลักๆที่มีบทบาทในความขัดแย้งครั้งนี้มีไม่มากนัก ก็มีแค่สหรัฐอเมริกากับอิหร่านและกองกำลังลับของอิหร่านที่ประจำการอยู่ภายในประเทศเพิ่อนบ้านเท่านั้น
มันจึงเป็นไปได้ยากที่จะเกิด scenario ประเภทสงครามเต็มรูปแบบ สงครามระดับโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมาจากเหตุการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมที่มีเพียงเท่านี้ และยิ่งเมื่อมองถึงเหตุผลของการโจมตีอิหร่านจากมุมของสหรัฐอเมริกา ยิ่งเป็นเหมือนกำแพงขนาดใหญ่ที่ดักคอให้ฝ่ายที่สนับสนุนอิหร่านต้องชะลอการออกหน้าสนับสนุนท่าทีก้าวร้าวของอิหร่านไปเลย
เพราะอิหร่านเองก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ อิหร่านเป็นฝ่ายเปิดฉากเล่นเกมนอกรูปแบบกับทางสหรัฐอเมริกาก่อนอยู่นานแรมปี เหตุผลที่จะเกิดสงครามระดับโลก มีตัวละครใหญ่ๆเพิ่มขึ้นจึงมีน้อยมากๆ
สถานการณ์ตอนนี้ที่ควรกังวลคือ ประเด็นเรื่อง การก่อการร้ายของชาวมุสลิมมากกว่าที่อาจจะรุนแรงขึ้นในภูมิภาคต่างๆนอกตะวันออกกลาง
จาก CSIS
โฆษณา