8 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๔๐ หมูสู้เสือ ๑
ในชาตินั้น พระธนุคคหติสส วิบากกรรมเก่าชิงช่วงส่งผล ทำให้เกิดเป็น ลูกหมูป่า ขณะเดินไปเดินมาอยู่ในป่า ก็พลัดตกหลุม ขึ้นจากหลุมไม่ได้ ก็พอดีมีช่างไม้คนหนึ่ง เข้าป่าเพื่อหาไม้มาทำงานของตน ก็ไปเจอพอดี ก็เกิดนึกเอ็นดู เลยช่วยขึ้นมา เอาไปเลี้ยงที่บ้าน แล้วตั้งชื่อว่า “ตัจฉก” (อ่านว่า ตัด-ฉะ-กะ แปลว่า ช่างไม้)
1
หมูน้อย “ตัจฉก” เป็นหมูช่างไม้สมชื่อ คือแสนรู้ และกตัญญู ช่วยงานช่างไม้หลายอย่าง ตั้งแต่ เอาจะงอยปากพลิกไม้ให้ได้ เอาเส้นบรรทัดพันจมูกลากไปให้ได้ เอาปากคาบขวาน,คาบสิ่ว,คาบค้อน มาให้ช่างไม้ได้ ช่างไม้รักหมูน้อยตัวนี้เหมือนลูก
ต่อมา หมูน้อยโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหมูใหญ่พ่วงพี มีกำลังมาก ช่างไม้ก็กลัวว่าวันหนึ่ง จะถูกมนุษย์มาลักแอบฆ่าไปทำเป็นอาหาร ก็เลยเอาไปปล่อยที่ป่า
หมู ตัจฉก เป็นหมูมีบุญ รู้ว่าช่างไม้มีความปรารถนาดีกับตน เมื่อมาอยู่ป่าแล้ว ก็คิดว่าเราอยู่ตัวเดียวไม่ได้ต้องมีพรรคมีพวก ก็แสวงหาญาติพี่น้อง ในที่สุดก็เจอฝูงหมูป่าฝูงใหญ่ ก็ดีใจ แล้วเข้าไปทักทายเพื่อขออาศัยอยู่ด้วย
“อย่าอยู่ที่นี่เลย ไปอยู่ที่อื่นเถอะ” หมูตัวหนึ่งบอกกับ ตัจฉก
“อ้าว ทำไมล่ะ” ตัจฉกถาม
“ก็เพราะที่นี่ มีเสือโคร่งอยู่ตัวหนึ่ง จะเข้ามาจับหมูไปกินวันละตัวทุกวัน มันชอบหมูตัวอ้วนๆ แบบเจ้านี่แหละ”
“มันมีตัวเดียว เรามีตั้งหลายตัว ทำไมไม่สู้มันล่ะ” ตัจฉก ถาม
ตัจฉก พยายามสร้างกำลังใจให้หมูทั้งปวงฮึกเหิม กล้าสู้กับเสือ บรรดาหมูทั้งหลายไม่เคยเห็นหมูป่าตัวไหนที่มีบุคลิกนักรบอย่าง ตัจฉก มาก่อน ก็เลยตอบตกลงจะสู้กับเสือ
“ใครหนีทัพ ระหว่างรบ เราจะจับฆ่าในภายหลัง” หมูป่าตัวหนึ่งประกาศก้องในท่ามกลางหมู
“มันจะมาเมื่อไหร่” ตัจฉกถาม
“เช้านี้มันมาแล้ว คงไม่มาอีก จะมาอีกก็พรุ่งนี้เช้า” หมูป่าตัวหนึ่งตอบ
ตัจฉก สำรวจพื้นที่หาตำแหน่งชัยภูมิทันที เมื่อพบแล้ว ก็บอกบรรดาหมูป่าว่า
“พวกท่านหากินตั้งแต่คืนนี้ จะได้มีเรี่ยวแรง พอย่ำรุ่งข้าพเจ้าจะบอกวิธีรบให้พวกท่าน” ตัจฉกประกาศบอกท่ามกลางหมู
พอย่ำรุ่ง ตัจฉก ก็จัดขบวนรบแบบดอกปทุม (ตอนที่ ๓๙ จัดขบวนรบแบบ เกวียน) ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสำหรับการตั้งรับ
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ ขอยกเครดิต นี้ให้กับ www.planforkids.com นะ
ทำให้เราเห็นภาพบรรดาหมู ประจันหน้ากับเสือ
ตัจฉก วางแผนให้หมูทั้งหมดล้อมวงกันเป็นวงกลม ให้ลูกหมูตัวเล็กๆ อยู่ในวงสุด ถัดมาเป็นหมูแก่และแม่หมู วงถัดมาเป็นหมูรุ่น และให้หมูเขี้ยวโตแข็งแรงอยู่วงนอกสุด จากนั้นก็ขุดหลุมเตรียมไว้เบื้องหน้าวงล้อมนั้นสองหลุม หลุมหนึ่งเอาไว้ดักเสือ อีกหลุมหนึ่งสำหรับ ตัจฉก และเมื่อเตรียมการหมดแล้ว ตัจฉก ก็ไปยืนระหว่างปากหลุมทั้งสอง
ส่วนผู้เขียนจะอธิบายว่า ตัจฉก เอาความรู้เรื่องการจัดขบวนทัพนี้มาจากไหน
ความจริงมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งปวง สั่งสมความรู้ต่างๆ มามากมายนับภพนับชาติไม่ถ้วน ความรู้อันไหนที่เราเรียนซ้ำบ่อยๆ หรือทำซ้ำบ่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ความรู้อันนั้นจะติดตัวข้ามชาติ จนกลายเป็นความสามารถพิเศษ ซึ่งเราเรียกความสามารถพิเศษนั้นว่า “พรสวรรค์”
แต่ถ้าเป็นความรู้ปกติธรรมดา ก็ถูกปกปิดด้วยกิเลสตระกูลโมหะ (ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๓๗) ที่เรามักจะได้ยินว่า “อวิชชา” นั่นแหละ คือธาตุปิด ธาตุบัง ที่ทำให้มนุษย์ลืมหมดเลย ว่าเราเป็นใครมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เกิดมาแล้วก็ต้องมาเรียนรู้กันใหม่
แต่ความรู้ที่เคยเรียนมาในอดีตชาติ ก็ไม่ได้หายไปไหนนะ ก็ยังคงอยู่นั่นแหละ
แล้วถามว่า ความรู้อันนั้นเราสามารถเอาออกมาใช้ได้ไหม
ก็ตอบว่า ได้เหมือนกัน แต่ต้องอาศัยการฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถที่จะเอาความรู้ที่ถูกตัว “อวิชชา” ปกปิดเอาไว้นั้นเอาออกมาใช้ได้ ยกเว้นจะเป็นความรู้ที่เราเรียนรู้และฝึกฝนซ้ำๆ มาหลายภพหลายชาติอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นพรสวรรค์ ความรู้ชนิดนี้ แม้ไม่ได้ฝึกสมาธิ ก็สามารถนำเอาออกมาใช้ได้ แต่ถ้ายิ่งฝึกสมาธิด้วยแล้ว ก็จะนำออกมาใช้ได้เพิ่มทับทวีคูณ
กรณีของหมู ตัจฉก ก็จัดอยู่ในประเภทอดีตมนุษย์ที่ฝึกฝนเรื่องการจัดขบวนทัพจนจัดเจนมาหลายภพหลายชาติ แม้ชาตินี้จะถูกสวมขันธ์ด้วยกายของสัตว์เดรัจฉาน แต่ความรู้นั้นก็ยังสามารถเอาออกมาใช้ได้ และก็ติดตัวไปถึงภพชาติที่เป็นพระธนุคคหติสส ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่ ๓๙
คราวนี้เรากลับมาเรื่องราวของ ตัจฉก ต่อ เมื่อจัดขบวนทัพเสร็จ ก็พระอาทิตย์ขึ้นพอดี และเสือโคร่งก็มาพอดี ... จบตอนที่ ๔๐

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา