11 ม.ค. 2020 เวลา 10:02
Melatonin
เมลาโทนิน หรือ N-acetyl-5-methoxytryptamine คือฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจากต่อมไพเนียล เมื่อไปจับการตัวรับเมลาโทนิน MT1 และ MT2 ในสมองจะช่วยในการนอนหลับได้ โดยระดับเมลาโทนินจะขึ้นกับแสงสว่างของวัน ช่วงกลางวันแสงสว่างมากจะมีการผลิตเมลาโทนินน้อย และกลางคืนจะผลิตเมลาโทนินมากขึ้น เมื่อมีฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมาทำให้การตื่นตัวลดลง อุณหภูมิร่างกายลดลงและเหนี่ยวนำให้ร่างกายเข้าสู่ช่วงการนอน ระหว่างนอนหลับก็จะเกิดการซ่อมแซมเซลล์และอวัยวะที่สำคัญ และช่วยในการเจริญเติบโตด้วย
โดยปกติเมลาโทนินจะหลั่งออกมาสูงสุดในช่วง 02.00-03.00 น. การผลิตเมลาโทนินจะลดลงตามวัยโดยมีระดับสูงสุดในวัย 1-3 ปีและลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ในคนสูงอายุที่มีระดับเมลาโทนินต่ำก็มักจะพบปัญหานอนไม่หลับได้มาก
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าระดับเมลาโทนินสัมพันธ์กับแสงสว่าง ดังนั้นหากมีแสงรบกวน เช่น แสงสีน้ำเงินจากจอทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์หรือแทปเล็ต ก็สามารถยับยั้งการหลั่งเมลาโทนินได้เช่นกัน
นอกจากนี้เมลาโทนินยังมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ เมลาโทนินจะไปจับสารอันตรายพวกนี้และทำหน้าที่ปกป้องเซลล์จึงทำให้มันถูกนำไปศึกษาเกี่ยวกับมีคุณสมบัติในการชะลอวัยด้วย
3
เมลาโทนินที่มีขายในท้องตลาดมีทั้งแบบอาหารเสริมและยา โดยในประเทศไทยมีรูปแบบเดียวคือ Circadin 2 มิลลิกรัม จดทะเบียนเป็นยาช่วยในการนอนหลับ #ความแตกต่างกันคือ
- Circadin มีขนาด 2 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่พวกอาหารเสริมเมลาโทนินมีหลายความแรง ได้แก่ 1,2,3,5,10 มิลลิกรัม
- Circadin เป็นยาเม็ดรับประทานห้ามหักแบ่งเม็ด แต่อาหารเสริมเมลาโทนินมีทั้งเม็ดรับประทาน เยลลี่เม็ดเคี้ยวสามารถหักแบ่งเม็ดได้
- เมลาโทนินที่เป็นอาหารเสริม (supplement) เป็นรูปแบบออกฤทธิ์สั้น ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหลับๆตื่นๆกลางดึก ในขณะที่ Circadin เป็นแบบออกฤทธิ์ยาวจะช่วยให้นอนหลับสนิทได้ตลอดคืนมากกว่า
- เมลาโทนินที่เป็นอาหารเสริมไม่ถูกขึ้นทะเบียนในไทยไม่มีการรับรองคุณภาพจากองค์การอาหารและยา การรับซื้อรับหิ้วเข้ามาจากต่างประเทศควรใช้วิจารณญาณถี่ถ้วนเพราะอาจมีคุณภาพ ความบริสุทธิ์ และขนาดที่แตกต่างกัน
2
ข้อดีของเมลาโทนิน
1. ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
2. เพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้น โดยไม่รบกวนการนอนช่วง Deep sleep
3. เพิ่มความสดชื่นหลังตื่นนอนตอนเช้า
4. ช่วยลดปัญหาการนอนที่เกิดจากการเดินทางข้ามโซนเวลาทำให้ร่างกายปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ได้ (Jet lag)
5. ไม่เกิดอาการถอนยาหลังหยุดยา (withdrawal effects) เหมือนพวกกลุ่มยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดประสาท
6. ไม่เกิดภาวะดื้อยาหรือติดยา (Dependence liability)
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมลาโทนินคือ เด็ก สตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตรหรือผู้ป่วยโรคลมชัก และไม่ควรใช้ร่วมกับยาหรือสารที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยานอนหลับ หรือแอลกอฮอล์
ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึมหลังตื่นนอน สามารถแก้ได้โดยหันหน้าหาแสงเพื่อให้ฮอร์โมนปรับลดระดับลงจะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
อาการนอนไม่หลับมีหลายรูปแบบ หากทิ้งไว้นานจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ ดังนั้นควรรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จริงๆแล้วการปรับพฤติกรรมการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน งดสูบบุหรี่ ชา กาแฟก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่หรือกิจกรรมที่มีการกระตุ้นร่างกายช่วงก่อนนอน แต่หากปรับแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาการนอนได้ ก็ควรหาสาเหตุของการนอนไม่หลับแล้วแก้ไขส่วนนั้นแทน การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
สุรชัย เกื้อศิริกุล. หลับสมบูรณ์ ตื่นสดใสด้วยเมลาโทนิน [แผ่นพับ]. คลินิกปัญหาการนอน โรงพยาบาลมนารมย์.
โฆษณา