13 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๔๕ ชาติสุดท้ายของพระเทวทัต
ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ถูกธรณีสูบไม่ได้มีพระเทวทัตองค์เดียว ยังมีอีก ๔ คน คือ
๑ นายนันทะ ได้สร้างกรรมด้วยการข่มขืนนางภิกษุณีอุบลวรรณา ซึ่งเป็นภิกษุณีอรหันต์ เมื่อเท้าลงจากแคร่แตะพื้นเท่านั้น ธรณีก็สูบทันที
๒ นางจิญจมาณวิกา ได้สร้างกรรมด้วยการใส่ร้ายพระพุทธองค์ ว่าทำให้นางตั้งครรภ์ พอความจริงปรากฎนางก็วิ่งหนี ไปได้ไม่ไกลก็ถูกธรณีสูบจมดินไป
๓ ยักษ์ชื่อนันทะ (อ่านรายละเอียดเรื่องยักษ์ได้ในตอนที่ ๒๓) ได้สร้างกรรมด้วยการเอากระบองตีศรีษะพระสารีบุตรขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ แต่พระสารีบุตรไม่เป็นอะไรเลย ส่วนยักษ์ชื่อนันทะก็ถูกธรณีสูบไปตามระเบียบ
๔ พระเจ้าสุปปะพุทธะ กษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ ผู้เป็นพระบิดาของเจ้าชายเทวทัต หรือพระเทวทัต ได้สร้างกรรมด้วยการขวางเส้นทางการบิณฑบาตของพระพุทธองค์ ทำให้พระพุทธองค์ ต้องอดพระกระยาหารไป ๑ วัน หลังจากนั้น ๗ วัน ก็ถูกธรณีสูบ สรุป พ่อกับลูก คู่นี้ถูกธรณีสูบทั้งคู่
จะสังเกตว่า ถ้าพระเทวทัตไม่ออกบวช ก็คงต้องเป็นกษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ เมื่อกรรมลิขิตให้ต้องพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าให้ได้ ก็คงต้องใช้อำนาจรัฐที่ตัวเองมีทำอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็จะเสียหายมากกว่านี้ เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงยอมให้พระเทวทัตบวช แม้จะหลีกเลี่ยงกรรมลิขิตไม่ได้ แต่ก็ผ่อนหนักเป็นเบาได้ ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ ๔๔
ในจำนวนผู้ที่ถูกธรณีสูบทั้ง ๕ จะมีก็แต่พระเทวทัตเท่านั้นที่มีสติก่อนตาย นอกนั้นถูกความกลัวเข้าครอบงำจนหลงลืมสติกันทั้งหมด แต่ถึงแม้จะมีสติก่อน ก็ใช่ว่าจะพ้นนรก เพราะหลังจากพระเทวทัตถูกธรณีสูบแล้ว บรรดาพระภิกษุก็ทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระเทวทัตตายแล้วไปเกิดที่ไหน
เนื้อหา จากนี้ไปจะเป็นสำนวนในอรรถกถาธรรมบท
“ในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย” พระพุทธองค์ตรัสตอบ
ภิกษุเหล่านั้นฟังพระดำรัสแล้ว ก็กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัตประพฤติเดือดร้อนในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในสถานที่เดือดร้อนนั่นแลอีกหรือ?”
พระศาสดาตรัสว่า
“อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายจะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม, มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว”
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า (คาถาในที่นี้หมายถึงฉันทลักษณ์ … ๑ บท มี ๔ บาทหรือ ๔ วรรค คล้ายกลอน ๘ บ้านเรา)
อิธะ ตัปปะติ เปจจะ ตัปปะติ ปาปะการี อุภะยะตัถ ตัปปะติ
ปาปัง เม กะตันติ ตัปปะติ ภิยโย ตัปปะติ ทุคคะติง คะโต
จากนี้ไปจะเป็นสำนวนของผู้เขียน
แปลความว่า “ผู้ปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้ง ๒ คือ เดือดร้อนในโลกนี้ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วก็เดือดร้อนอีก เขายิ่งเดือนร้อนมากขึ้นเมื่อนึกถึงบาปของตน”
ละโลกนี้ไปแล้วเดือดร้อนขนาดไหน มาอ่านสำนวนในอรรถกถาธรรมบทอีกที
พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้ว เกิดในอเวจี. และเธอเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ ถูกไฟไหม้อยู่ เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว.
สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์
ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน จนถึงหมวกหู
เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่าง จนถึงข้อเท้า
หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝา ด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า
อีกหลาวหนึ่ง ออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย
อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออก ส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก
พระเทวทัตนั้นเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น ด้วยประการอย่างนี้. (อีกยาวนาน)
มหานรกขุมอเวจี ทุกข์ทรมานแตกต่างจากขุมอื่นยังไง ได้อธิบายไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๑๓
อ่านแล้ว ก็โค-ตะ-ระ สยองขวัญนะ …
คราวนี้ก็มาถึงตอนสำคัญ คือ จากคำถามของท้ายบทที่แล้ว (ตอนที่ ๔๔) ว่าแท้ที่จริงแล้วพระเทวทัตคือใคร ???
1
มีบันทึกไว้ในอรรถกถาพระธรรมบทว่า หลังจากนี้อีก แสนกัป (หมายเหตุ..) พระเทวทัตจะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มีพระนามว่า “อัฏฐิสสระ”
หมายเหตุ.. แสนกัป คืออะไร จะอธิบายในตอนที่ ๔๖
คำตอบอยู่ตรงนี้นี่เอง แท้ที่จริงพระเทวทัตคือ “พระปัจเจกโพธิสัตว์” ที่มีบารมีมาก… มากกว่าพระอัครสาวกทั้งสองเสียอีก จะเป็นรองก็แค่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเอง
เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ตอนต่อไป เราจะมาศึกษากันเรื่องการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก และพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศทางด้านต่างๆ กันแบบย่อๆ นะ … จบตอนที่ ๔๕

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา