15 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๔๗ นิยาม ๕
ในทางพระพุทธศาสนา มีกฎธรรมชาติ อยู่ ๕ ข้อ คือ
๑ อุตุนิยาม เทียบได้กับ Physical Laws ของวิทยาศาสตร์ แต่พุทธศาสตร์กว้างไกลกว่านั้นมาก เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องจักรวาลมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว แต่วิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเรื่องจักรวาลเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี่เอง
๒ พีชนิยาม เทียบได้กับ Biological laws ของวิทยาศาสตร์ แต่พุทธศาสตร์ลึกซึ้งกว่ามาก เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างมิติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ขณะที่วิทยาศาสตร์เพิ่งพิสูจน์ได้ไม่นานว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างมิติมีอยู่จริง
๓ จิตนิยาม เทียบได้กับ psychology ของวิทยาศาสตร์ แต่พุทธศาสตร์ลึกซึ้งกว่ามาก เช่น วิทยาศาสตร์บอกเรื่องจิตใต้สำนึกบ้าง จิตเหนือสำนึกบ้าง แต่พุทธศาสตร์บอกมากกว่านั้น ได้แก่ จิตในจิต จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ เป็นต้น
๔ กรรมนิยาม คือ กฎแห่งกรรม วิทยาศาสตร์ไม่บอกเรื่องนี้เลย หรือ ยุคนี้วิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วก็ไม่ทราบ หากใครทราบ ก็ช่วยบอกผู้เขียนด้วยนะ
๕ ธรรมนิยาม คือ หลักวิชา ที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง อยู่เหนือนิยามทั้ง ๔ ข้อเบื้องต้นที่กล่าวมา เป็นหลักวิชาเดียวที่จะทำให้มนุษย์พ้นจากกฎแห่งกรรมได้ และพ้นจากความทุกข์ได้
ที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นมุมมองแบบแยกส่วน แต่ความจริงทั้ง ๕ ข้อ เกี่ยวเนื่องกันและส่งลูกกันไปเป็นทอดๆ ดังนี้คือ
๑ อุตุนิยาม หมายถึง กฎของจักรวาล ซึ่งจักรวาลก็ประกอบไปด้วย มีสิ่งที่ไม่มีชีวิต กับ สิ่งที่มีชีวิต ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตนั้นมีเรื่องราวที่ต้องศึกษาเรียนรู้มากกว่า จึงต้องแยกไปตั้งกฎอีกข้อหนึ่งคือ ข้อที่ ..
๒ พีชนิยาม หมายถึง กฎของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตก็ประกอบไปด้วย สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตวิญญาน กับ สิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาน ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญานมีเรื่องราวที่ต้องศึกษามากกว่า จึงต้องแยกไปตั้งอีกข้อหนึ่ง คือ ข้อที่ …
๓ จิตนิยาม หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาน ซึ่งจิตวิญญานของสรรพสัตว์นั้น ถูกธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กุศล (ความดี มี Sub คือ บุญ เป็นต้น) กับ อกุศล (ความชั่ว มี Sub คือ กิเลส เป็นต้น) คอยบังคับให้สร้างกรรมดี กับ กรรมชั่ว ตามลำดับ เมื่อทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ก็มีผลแห่งที่เกิดจากกรรมหรือการกระทำอีกเยอะแยะมากมาย จึงต้องแยกไปตั้งอีกข้อหนึ่ง คือ ข้อที่ …
๔ กรรมนิยาม หมายถึง กฎแห่งการกระทำ หรือ กฎแห่งกรรม ที่ชาวพุทธได้ยินได้ฟังกันมาจนคุ้นหู และกฎแห่งการกระทำนี้มันมีที่มาคือ กุศล กับ อกุศล ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องศึกษากันอีกมากมาย จึงต้องแยกไปตั้งอีกข้อหนึ่งคือ ข้อที่ …
๕ ธรรมนิยาม เป็นทั้งหลักวิชา และเป็นทั้งธรรมชาติ ที่จะตอบโจทย์ข้อสงสัยของเราทั้งหมด และยังเป็นธรรมชาติที่จะทำให้สรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง และยังเป็นธรรมชาติที่สามารถทำลายกฎแห่งกรรม และ สังสารวัฏของการเวียนว่ายตายเกิดได้ด้วย
นิยามทั้ง ๕ ข้อ มีผลเกี่ยวเนื่องกระทบกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของนิยามข้อไหน อีก ๔ ข้อที่เหลือ ก็จะกระทบเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ยกตัวอย่าง เกิดภาวะโลกร้อน (อุตุนิยาม) ก็จะทำให้การดำรงชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตลำบากขึ้น (พีชนิยาม) เช่น ทำให้ขาดแคลนอาหารน้ำดื่ม ก็มีความคิด (จิตนิยาม) ที่จะแย่งชิงทรัพยากร เมื่อลงมือแย่งชิงทรัพยากรด้วยการเบียดเบียนกัน ก็จะมีวิบากกรรม (กรรมนิยาม) ก็จะกระทบต่อธรรมชาติที่กุศล จะอ่อนกำลัง ธรรมชาติที่เป็นอกุศลจะเพิ่มกำลัง ทำให้สรรพสัตว์มีความทุกข์มากขึ้น (ธรรมนิยาม) เป็นต้น
อธิบายแบบย่อๆ เพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะพอประมาณได้แล้วว่า พุทธศาสตร์ นั้น ก้าวไปไกลกว่า วิทยาศาสตร์ มาก
1
ตอนต่อไป เราจะมาศึกษากันว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นที่พระเทวทัตผูกเวรกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรื่องนี้มันเกิดขึ้น เมื่อ ๕ กัปที่แล้ว (ท่านใดเพิ่งอ่านบทความ หากอยากทราบเรื่อง กัป ก็สามารถกลับไปย้อนอ่านตอนที่ ๔๖ นะ) …. จบตอนที่ ๔๗

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา